วันจันทร์ 9 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

สืบจากภาพ…อิสรภาพของเมืองไทย แลกด้วยเงินค่าไถ่ ๓ ล้านฟรังก์ / ไกรฤกษ์ นานา

“ภาพโฆษณาชวนเชื่อ” ฝ่ายไทยยิงเรือนำร่องฝรั่งเศสอับปางจึงต้องชดใช้

สืบจากภาพ…อิสรภาพของเมืองไทย แลกด้วยเงินค่าไถ่ ๓ ล้านฟรังก์ / ไกรฤกษ์ นานา

วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2560

มีใครเฉลียวใจบ้างว่า ในช่วงรัชกาลของสมเด็จพระปิยมหาราชอันร่มเย็นเป็นสุข เป็นยุคแห่งความมั่นคงปลอดภัยที่สุดของสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เมืองไทยเคยผ่านวิกฤตการณ์อันรุมเร้าเขย่าขวัญ จนครั้งหนึ่งมีคนกล่าวว่าอนาคตของแผ่นดินใกล้ถึงกาลอวสาน ตามคำพยากรณ์ของคนโบราณที่เคยโจษกันไว้ เมื่อเรียกรัชสมัยของพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ ว่า “แผ่นดินปลาย”

เลยถือกันว่าเป็นลางร้าย เพราะเหมือนแช่งให้แผ่นดินสิ้นสุดในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกเสียใหม่เพื่อความเป็นสวัสดิมงคล ให้อ้างพระนามพระเจ้าอยู่หัวตามแผ่นดินนั้นๆ แทน โดยเรียกเริ่มต้นใหม่หมดว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และแผ่นดินรัชกาลอื่นต่อมาเป็นการแก้เคล็ด

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) กรุงเทพมหานครถูกยึดครองเป็นเวลาถึง ๑๒ วัน ด้วยกองเรือรบติดอาวุธของฝรั่งเศส อย่างหมดหนทางต้านทานจากฝ่ายไทย ชาวบ้านร้านตลาดพากันอพยพหนีภัยกันจ้าละหวั่นด้วยความแตกตื่นตกใจ แม้แต่พระปิยมหาราชยังทรงเสียพระราชหฤทัยจนประชวรหนักและหยุดเสวยพระโอสถ ทรงสิ้นหวังรันทดท้อขนาดมีพระราชนิพนธ์โคลงฉันท์ “ส่งไปลา” เจ้านายพี่น้องบางพระองค์อย่างหมดอาลัยในพระชนมชีพ ไม่มีพระราชประสงค์ดำรงอยู่อีกต่อไป ทรงอดสูพระทัยที่ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายให้ดีขึ้นได้ จนมีข่าวลืออันอัปยศแพร่สะพัดไปในหมู่ชาวต่างด้าวว่า “พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงสั่งให้ขนพระราชทรัพย์ลงบรรทุกเรือพระที่นั่ง และเตรียมพร้อมที่จะเล็ดลอดหลบหนีออกไปจากเมืองหลวงในเวลากลางคืน เพื่อให้รอดพ้นภยันตรายต่างๆ”

จากปากคำของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) วีรบุรุษนักรบผู้ถือดาบอาญาสิทธิ์ของพระปิยมหาราช เล่าถึงบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัวระหว่างการระดมพลเพื่อปกป้องพระนครไว้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนถึงกำหนดเส้นตาย พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินลงมาพบแล้วยกพระหัตถ์วางบนบ่าท่านแม่ทัพ พร้อมกับมีพระราชดำรัสอย่างหวั่นพระทัยว่า “ในวันนี้แหละไม่เราก็เขาแล้ว”

เส้นตายนั้นคือการตอบรับอย่างไม่มีเงื่อนไขใน ๔๘ ชั่วโมงตามข้อเรียกร้องหินของฝรั่งเศส ในคำขาดนี้มีคำข่มขู่อันแข็งกร้าวปราศจากข้อต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น ให้ทรงตัดสินพระทัย ชนิดที่ไม่มีทางออก โดยให้มอบผืนแผ่นดินในพระราชอาณาเขตบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง พร้อมด้วยเงินค่าไถ่เป็นค่าปฏิกรณ์สงครามที่ฝ่ายไทยถูกกล่าวหาว่าก่อขึ้นก่อนโดยการเปิดฉากยิงเรือฝรั่งเศส คิดเป็นเงินสดจำนวนทั้งสิ้นรวม ๕,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ และให้วางในทันทีก่อน ๑๘.๐๐ น. ของเย็นวันที่ ๒๒ กรกฎาคมศกนั้น มิฉะนั้นกระสุนจากปืนใหญ่บนเรือรบที่ทันสมัยที่สุดจะถูกสั่งให้ระดมยิงเข้าไปในพระที่นั่งจักรีอย่างไม่ปรานีอีกต่อไป

จากรูปการณ์ที่ปรากฏอยู่จะเห็นได้ว่าความกดดันนี้เพื่อให้ฝ่ายไทยจนตรอกและหมดทางสู้ เมื่อเข้าตาจนก็จะยอมแพ้เพียงอย่างเดียว

รูปภาพที่ดูลำบากแสดงการขนเงินค่าไถ่ในเรือรบ พบใน “กรุสมบัติเก่าจากเมืองไทย” ซึ่งตกค้างอยู่ในฝรั่งเศส ในครอบครองของทายาทชั้นหลานของอดีตทูตฝรั่งเศสประจำกรุงสยามสมัย ร.ศ. ๑๑๒ และถูกนำมาให้ผู้เขียนชม บอกเบาะแสของเงินค่าไถ่จำนวนมหาศาล ว่าถูกลำเลียงขนย้ายออกไปจากกรุงเทพฯ จริง เป็นสิ่งยืนยันที่บ่งชัดถึงการแลกเปลี่ยนของสำคัญอะไรบางอย่างที่เมืองไทยหวงแหนเหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งก็คงไม่หนีคำว่า “อิสรภาพ” ที่แลกกลับคืนมาได้อย่างหวุดหวิดที่สุด

ความอื้อฉาวของการเรียกค่าไถ่เงินก้อนโต เริ่มต้นมาจากความเป็นต่อทางการเมืองอันสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยลำดับเหตุการณ์แปลกๆ ที่น่าวิเคราะห์ เป็นปฏิบัติการกลลวงแห่งศตวรรษที่เกิดขึ้นในยุคจักรวรรดินิยม แฝงอยู่ในชั้นเชิงและเล่ห์เหลี่ยมของนักการทูตเจ้าบทบาท ซึ่งในที่สุดพัวพันไปจนถึงพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ทรงรับผิดชอบคณะรัฐบาลอยู่ มีผลให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งถึงแม้จะทำให้บ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัยต่อมา แต่ก็เพียงพอทำให้เสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศชาติเสื่อมทรามลงจนไม่สามารถกลับฟื้นคืนสภาพเดิมได้อีก

กรณีเรียกค่าไถ่นี้มีเหตุและผลมาจากการใช้นโยบาย และวิธีการแก้ไขสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอย่างแตกแยก ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางปฏิบัติของฝ่ายไทย

สมเด็จพระปิยมหาราชทรงคาดหวังและรอคอยความช่วยเหลือนาทีสุดท้ายจากอังกฤษ เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ ในขณะที่กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีต่างประเทศของไทย ดำเนินนโยบายแบบตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยและตามทฤษฎี เปิดช่องโหว่ให้ ม. ปาวี ทูตฝรั่งเศส ใช้เล่ห์เพทุบายของการจัดการนอกระบบแบบขาดมนุษยธรรม พลิกสถานการณ์จนฝ่ายไทยติดกับ หันไปใช้ยุทธวิธีทหารเข้าต่อต้าน เป็นโอกาสให้ฝ่ายศัตรูประณามการปฏิบัติการ “ป้องกันตัวเอง” ของไทยว่าเป็นการ “เปิดฉากรบก่อน” อย่างไม่ชอบธรรม มีผลให้ความหายนะครั้งใหญ่ติดตามมาอย่างไม่คาดคิด

ทหารฝรั่งเศสขนเงินค่าไถ่ใส่ถังไม้เพื่อนำขึ้นบก

ความเป็นมาของราชอาณาจักรล้านช้าง ก่อน ร.ศ. ๑๑๒ นั้นไม่มีการแบ่งเป็นฝั่งซ้ายฝั่งขวา ไม่มีแยกเป็นฝั่งลาวฝั่งไทย แต่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดินแดนของประเทศลาวในปัจจุบันกับภาคอีสานของไทย เดิมเป็นแผ่นดินเดียวกัน ทั้งในด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาพูด ขนบธรรมเนียมประเพณี ต่างก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเดียวกัน คือรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ไทยปกครองแคว้นลาวแบบประเทศราช คือกิจการภายในไทยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย พระมหากษัตริย์ไทยทรงแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์ชาวล้านช้างให้ปกครองกันเอง โดยทางเหนือหลวงพระบางเป็นเมืองใหญ่ที่สุดเป็นผู้ดูแล ตอนกลางมีเวียงจันเป็นผู้ดูแล ทางใต้มีจำปาศักดิ์เป็นผู้ดูแล

ต่อมา ม. ปาวี เสนอรายงานที่ทำให้คณะรัฐบาลกรุงปารีสตาลุกอย่างหิวกระหาย เขาบรรยายว่าล้านช้างเป็น “แหล่งพลอยซัฟไฟร์ เหมืองแร่ทองคำขนาดมหึมา มีเหมืองทองแดงและเหมืองเหล็กที่ไม่มีวันหมด มีพลวง กำมะถัน ถ่านหิน และแหล่งน้ำแร่เป็นอันมากอยู่ทั่วไปทั้งประเทศ มีไม้สักและป่าไม้เบญจพรรณที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย” ทั้งยังเป็นจุดยุทธศาสตร์อันดับหนึ่งด้วย มีแม่น้ำโขงอันเป็นทางไปสู่แคว้นยูนนานของจีน มีคุ้งแควใหญ่น้อยเป็นทางลำเลียงออกสู่ทะเลทางตังเกี๋ยได้โดยง่าย

สิ่งที่ตามมาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ก็คือการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเงียบๆ ซึ่งกินเวลานานนับสิบปี (พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๓๖) โดยในครั้งแรกฝรั่งเศสส่งทหารเข้าไปช่วยขับไล่โจรจีนฮ่อในแคว้นสิบสองจุไทก่อน แต่แล้วก็ปฏิเสธที่จะถอนทหารกลับออกมา การขับเคี่ยวระหว่างกันนี้มิใช่เพียงหัวหน้ารัฐบาลทั้งสองเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างผู้แทนรัฐบาลทั้งสองฝ่ายด้วย ฝ่ายไทยเป็นเจ้านายหนุ่มไฟแรง กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ผู้ไว้ศักดิ์ศรี ทรงดำเนินการต่อต้านแบบสุภาพทว่าหนักแน่น ด้วยนโยบายอันกล้าหาญแบบรอโอกาส อีกฝ่ายหนึ่งคือ ม. ปาวี ทูตฝรั่งเศส เป็นคนเก่งกล้ามีสติปัญญา และเป็นนักจัดการ

เหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ทรงเสนอข้อตกลงแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อกำจัดสาเหตุของความขัดแย้งเกี่ยวกับพรมแดน ปัญหาใหญ่มุ่งตรงไปที่หลวงพระบาง ซึ่งฝ่ายไทยปฏิเสธที่จะเรียกว่าเมืองชายแดน ด้วยเมืองนี้ห้อมล้อมด้วยแคว้นต่างๆ ในครอบครองของไทยมานานถึง ๑๑๔ ปี

ม. ปาวี เองก็เคยเดินทางในภูมิภาคนี้ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐบาลไทย

กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ทรงเสนอให้จัดการอย่างถาวรโดยใช้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศช่วยตัดสินกรณีพิพาทนั้น ทรงขอความสนับสนุนจากบรรดามหาอำนาจ โดยส่งพระยาสุริยานุวัตรไปยังกรุงวอชิงตัน เพื่อขอให้ทางสหรัฐอเมริกาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยในเรื่องนี้ แต่ทางรัฐบาลกรุงปารีสกลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมใช้วิธีนั้น เพราะรู้ว่าถ้าทางสหรัฐตัดสินให้ไทยชนะ ฝรั่งเศสก็จะยอมไม่ได้ และสหรัฐก็เป็นชาติมหาอำนาจที่ฝรั่งเศสเกรงใจด้วย จึงยืนกรานที่จะบังคับให้ไทยยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายให้โดยดี ดังคำกล่าวที่ว่าไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล เมื่อฝ่ายไทยขัดขืนฝรั่งเศสจึงส่งกำลังทหารโอบล้อมเข้าตีล้านช้างเป็นสามแนวด้วยกัน

ปฏิบัติการทางทหารของฝรั่งเศสประสบความสำเร็จตามแนวรบเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่อาจขับไล่ทหารฝ่ายไทยออกไปจากล้านช้างได้ทั้งหมด เพราะมีกำลังน้อยเกินไปถึงแม้จะมีอาวุธที่ดีกว่า การยุทธ์ครั้งนี้นายทหารทั้งหมดเป็นชาวฝรั่งเศส แต่นายสิบพลทหารเป็นกองผสมของชาวญวน เขมร และคนแอฟริกัน ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เทียบกับฝ่ายไทยแล้ว ไทยเกณฑ์ทหารได้คราวละหลายพันคน แต่กองกำลังฝรั่งเศสแต่ละแนวมีจำนวนไม่กี่กองร้อย การปะทะครั้งหนึ่งเสียหายพอกัน แต่กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ฝรั่งเศสตามเช็คบิลอย่างเอาเป็นเอาตาย เหตุเกิดที่แก่งเจ๊ก เมืองคำม่วน ริมฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อคืนวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ เพียงแห่งเดียวฝ่ายฝรั่งเศสตาย ๑๒ คน ในจำนวนนี้มีนายทหารติดยศชาวฝรั่งเศส ชื่อกรอสกุแรง ส่วนทหารไทยตาย ๖ คน หัวหน้าทหารไทยคือ พระยอดเมืองขวาง ข้าหลวงเมืองคำเกิดคำม่วน

ความตายของนายกรอสกุแรงทำให้ฝรั่งเศสโกรธมาก ถึงกับกำหนดไว้ในเงื่อนไขคำขาดของฝรั่งเศส เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายนับล้านฟรังก์ที่ไทยต้องรับผิดชอบ และเป็นเหตุการณ์ที่จุดชนวนให้การบุกรุกกรุงเทพฯ ระเบิดขึ้น 

เมื่อฝรั่งเศสเห็นว่าการใช้กำลังทางบกไม่ได้ผล จึงเปลี่ยนกลยุทธ์มาใช้กำลังทางเรือดูบ้าง ยุทธนาวีหลังจากนั้นเป็นกุศโลบายของปาวีที่ได้ผลเกินคาด เขาสามารถใช้ความเข้าใจผิดและแกล้งให้เข้าใจผิด เพื่อผลลัพธ์อันรุนแรงและต่อเนื่อง

ในประการแรก ปาวีอ้างสัญญาปี พ.ศ. ๒๓๙๙ ทำไว้ตั้งแต่สมัย ร.๔ ที่เข้าใจกันผิดระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ในฉบับภาษาไทยระบุว่า ถ้าฝรั่งเศสจะนำเรือรบเข้ามากรุงเทพฯ ต้องให้ฝ่ายไทยอนุญาตเสียก่อน แต่สัญญาฉบับภาษาฝรั่งเศสเขียนไว้ว่า ถ้าฝรั่งเศสจะนำเรือรบเข้ามากรุงเทพฯ ต้องแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบก่อน จึงจะเข้ามาได้ ปาวีจึงสั่งการให้เรือรบสองลำดาหน้าเข้ามา โดยแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบเท่านั้น แต่ไม่ได้รอให้ไทยอนุญาต นับเป็นจุดอ่อนประการแรกของความเสียเปรียบ

ในประการที่สอง เมื่อพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ ทูตไทยประจำกรุงปารีส สามารถเกลี้ยกล่อมในวิถีทางการทูตให้รัฐบาลฝรั่งเศสถอนคำสั่งเดิมที่จะนำเรือรบสองลำเข้ากรุงเทพฯ ได้สำเร็จ กรุงปารีสส่งคำสั่งให้กองเรือรบระงับการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทันที โดยสั่งผ่านทูตปาวี ตอนนี้เองที่ปาวีได้ใช้อุบายของตนแกล้งให้เข้าใจกันผิด โดยไม่มอบคำสั่งด่วนจากปารีสให้กับผู้บังคับการเรือรบ วิธีการของปาวีคือ นำโทรเลขฉบับสำคัญนั้นใส่รวมในถุงจดหมายฉบับอื่นๆ ของเมล์ปกติที่ส่งมาถึงนายทหารบนเรือรบ หมายถึงไม่แจ้งคำสั่งใหม่ที่มาจากปารีสให้ทันท่วงที เหมือนคนขาดสติและไร้จริยธรรม ทำให้กองเรือรบไม่ทราบคำสั่งที่เปลี่ยนแปลงใหม่ พวกเขาจึงถือคำสั่งเดิมซึ่งนายปาวีคงจะพอใจ เพราะปาวีต้องการให้ไทยกับฝรั่งเศสปะทะกัน ซึ่งก็เป็นไปตามแผนอุบาทว์นั้น

ถึงแม้ฝ่ายไทยจะรู้ว่าตัวเสียเปรียบ ก็ถือว่าอธิปไตยของชาติสำคัญที่สุด จึงยิงเตือนเรือรบฝรั่งเศสให้หยุดแต่ไม่เป็นผล ฝ่ายไทยยิงออกไปอีก กระสุนหนึ่งนัดถูกเรือนำร่องอย่างจัง (เรือ เจ.เบ.เซย์.) อีกนัดหนึ่งถูกเรือรบแองคองสตังค์ แต่เรือรบก็ประคับประคองกันเข้ามาถึงหน้าสถานทูตฝรั่งเศส บริเวณท่าน้ำสี่พระยา กรุงเทพฯ

ผลจากการปะทะ ฝรั่งเศสเสียเรือนำร่องไป ๑ ลำ ทหารฝรั่งเศสตาย ๓ คน บาดเจ็บ ๓ คน ทหารฝ่ายไทยตาย ๘ บาดเจ็บ ๔๑ คน

แต่เมื่อเรื่องบานปลายถึงขนาดปะทะกันย่อยๆ รัฐบาลฝรั่งเศสก็เหมือนตกกระไดพลอยโจน จึงมีคำสั่งให้นายปาวีเดินหน้าต่อไป ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ม. ปาวี ตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศส ได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลไทย ๖ ข้อ คือ…

๑. รัฐบาลไทยยอมรับว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นของฝรั่งเศส

๒. รัฐบาลไทยจะถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงภายใน ๑ เดือน

๓. รัฐบาลไทยจะต้องทำความพอใจให้กับฝรั่งเศสกรณีทุ่งเชียงคำและคำม่วน (คดีพระยอดเมืองขวาง) และกรณีที่ไทยโจมตีเรือรบฝรั่งเศสที่ปากน้ำ

๔. รัฐบาลไทยต้องลงโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่ทำผิดตามข้อ ๓ และจ่ายเงินให้กับครอบครัวของผู้เสียหายในข้อ ๓

๕. ค่าเสียหายนี้ให้จ่ายเป็นเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ เป็นค่าปรับไหมในความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชนชาติฝรั่งเศส

๖. ให้จ่ายเงิน (อีก) ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ โดยให้ชำระเป็นเงินเหรียญโดยทันที “เป็นมัดจำ” การจะชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ และเงินค่าทำขวัญในข้อ ๔ และ ๕ หรือถ้าไม่สามารถ ก็ต้องยอมให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองพระตะบองและเสียมราฐ

โดยให้ตอบภายใน ๔๘ ชั่วโมง ว่าจะปฏิบัติหรือไม่!?

เหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นเป็นการจู่โจมแบบกองโจร ที่รวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ ราชสำนักกรุงเทพฯ ตกอยู่ในสภาพวุ่นวายและสับสนอลหม่าน บรรดาผู้ที่กำกับดูแลราชการงานเมืองต่างก็พากันท้อแท้สิ้นหวัง เมื่อมองเห็นการคุกคามอันหนักหน่วงต่อเอกราชและความเป็นปึกแผ่นของไทยปรากฏอยู่เบื้องหน้า ราชสำนักเกิดความแตกแยกกันอย่างมาก

สมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ซึ่งยึดมั่นอยู่กับความหวังสุดท้าย ว่าอังกฤษจะไม่ทอดทิ้งประเทศของพระองค์ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะขัดขืนฝรั่งเศสและข้อเรียกร้องต่างๆ ฝ่ายที่ต่อต้านฝรั่งเศสนี้เป็นพวกที่ชื่นชมอังกฤษ

ความเฉยเมยของอังกฤษ และต่อมาคำปฏิเสธอย่างเด็ดขาดที่จะไม่ยอมเข้าแทรกแซงในความขัดแย้งระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ทำให้พระปิยมหาราชทรงผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ทันทีที่ฝรั่งเศสเสนอเงื่อนไขทั้งหมดมา พระองค์และบรรดาที่ปรึกษาก็ถูกโจมตีด้วยบัตรสนเท่ห์หลายร้อยฉบับ กล่าวหาว่าขลาดกลัว ไร้กำลังที่จะปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมือง

ในบรรยากาศและความรู้สึกที่ถูกอังกฤษทอดทิ้งนี่เอง ที่กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องลงพระนามในสนธิสัญญาสงบศึก การลงนามครั้งนี้ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างพระปิยมหาราช กับเสนาบดีว่าการต่างประเทศของพระองค์ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงข้าราชการชั้นสูงว่า ทรงลงพระนามไปโดยมิได้รับพระราชานุมัติ และขัดต่อพระราชประสงค์ของพระปิยมหาราช

เมื่อทรงถูกทัดทานจากที่ประชุมเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ อีกทั้งทรงสูญเสียความไว้วางพระทัยของพระเจ้าอยู่หัว กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ผู้เคราะห์ร้ายก็ทรงยอมรับว่าได้ทรงกระทำการนอกพระบรมราชโองการ และมิได้ทรงรับพระราชานุมัติอย่างชัดเจนให้ลงพระนาม ในสภาพดังกล่าวพระองค์จึงขอกราบบังคมทูลขอลา ออกจากตำแหน่ง ทว่าพระปิยมหาราชก็ยังคงให้พระองค์ทรงรั้งตำแหน่งหน้าที่เดิมอยู่ต่อไป แต่ทรงหมดความไว้เนื้อเชื่อใจที่ทรงเคยมีให้แก่พระองค์ ความสัมพันธ์ระหว่างเสนาบดีว่าการต่างประเทศกับนายโรแลง ชาเกอแมง ก็ตึงเครียดขึ้น (ชาเกอแมง หรือเจ้าพระยาอภัยราชา เป็นนักกฎหมายชาวเบลลเยียม ที่ประเทศอังกฤษแนะนำให้มาเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ในพระปิยมหาราช-ผู้เขียน)

ฝ่ายกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงชาเกอแมง ตำหนิติเตียนว่า “ท่านเองก็ไว้ใจพวกอังกฤษมากเกินไป พระเจ้าอยู่หัวทรงเคยหวังพึ่งอังกฤษ ความผิดหวังอย่างรุนแรงในครั้งนั้นแทบจะทำให้พระทัยแตกสลาย หรือสิ้นพระชนม์ลงทีเดียว”

บรรยากาศโดยทั่วไปจึงเป็นการไม่ลงรอยกัน และความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างบรรดาผู้ปกครองประเทศของไทย ฝ่ายชาตินิยมกล่าวหาองค์พระเจ้าอยู่หัวว่าต้องทรงเป็นผู้รับผิดชอบในการที่ราชอาณาจักรถูกเฉือนดินแดนออกไป เพราะทรงพึ่งที่ปรึกษาชาวยุโรปมากเกินไป เนื่องจากพระองค์ทรงอ่อนแอ การสูญเสียดินแดนและทรัพย์สมบัติของแผ่นดินจึงน่าจะหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งเมื่อการเตรียมการทางทหารก็พรักพร้อมอยู่แล้ว

ในระหว่างที่รอคำตอบทางราชสำนักสยามอยู่นั้น มีเรือรบฝรั่งเศสคุมเชิงอยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ริมท่าน้ำสี่พระยาถึง ๓ ลำ คือ เรือลูแตง เรือแองคองสตังค์ และเรือโคเมต นายทหารประจำเรือโคเมตบันทึกแผนการรบประจำวัน และพูดถึงกำลังใจของพวกเขาระหว่างรอการมาสมทบของกองเรือรบชุดใหม่ที่ถูกเรียกเข้ามาหนุนอีก ๙ ลำ ซึ่งทำให้ภายในอีก ๒-๓ วันข้างหน้าอ่าวไทยจะกลายเป็นฐานทัพเรือฝรั่งเศสเล็กๆ นอกดินแดนฝรั่งเศส และเต็มไปด้วยความได้เปรียบของฝ่ายศัตรู…

“ยิ่งนานวันเข้าฐานะเหตุการณ์ดูเหมือนยิ่งจะตึงเครียดและใกล้ขณะแตกหักเข้าทุกที รัฐบาลของเราได้รับโหวตอย่างท่วมท้นให้จัดการตามความจำเป็นกับสยาม และให้มีการทำขวัญแก่ความเสียหาย กับการสูญเสียของทหารของเรา การรบที่ปากน้ำและที่อื่นๆ กับให้ยึดจันทบุรีไว้เป็นประกัน จนกว่าสยามจะได้ปฏิบัติตามข้อความแห่งคำขาดนี้จนสิ้น

เวลานี้เรือฟอเฟต์ เรือลียง ได้มาอยู่ที่นอกสันดอนแล้ว ทางไซ่ง่อนกำลังติดอาวุธเรืออาสปิก กับเรือวีแปร์โดยด่วน เรือปาแปงที่จะไปมาดากัสการ์ ได้รับคำสั่งด่วนให้มารวมกำลังในน่านน้ำสยาม และนายพลเรือตรีฮูมันน์ พร้อมด้วยเรือตรียงฟังต์ และเรือปืนอาลูแอตต์กับเรือตอร์ปิโดอีก ๒ ลำก็กำลังมา ถ้าแม้ว่าไทยไม่ยอมปฏิบัติตามคำขาดและยังจะขืนทำการรบกับเราแล้ว เราจะดำเนินตามแผนของเราดังต่อไปนี้ คือทำลายกองเรือรบไทยเสียก่อน แล้วจึงออกจากแม่น้ำ (เจ้าพระยา) ไปโจมตีป้อมทั้งหลายทางด้านหลัง ส่วนเรือในกองเรือฝรั่งเศสที่กินน้ำตื้นๆ จะได้เข้าช่วยระดมยิงทางด้านหน้าพร้อมกันด้วย ครั้นแล้วจะได้ย้อนกลับขึ้นมายังกรุงเทพฯ อีกเพื่อเจรจากันด้วยอำนาจ ความคิดตามที่ว่านี้ถึงอย่างไรคงจะดำเนินไปอย่างสะดวกมาก เพราะเราเข้ามาในตอนนี้โดยกำลังทหารอันแท้จริง หาใช่เข้ามาโดยอาศัยสิทธิ์ในสัญญาใดๆ ทั้งสิ้นไม่”

พระปิยมหาราชทรงปรารภกับกรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ด้วยความกระวนกระวายพระทัยว่า “…เวลานี้ตกเป็นกบอยู่ในกะลาครอบอึดอัด…เป็นอย่างเดียวกับคนที่ตัดสินโทษว่าจะประหารชีวิต แล้วกำหนดไว้ให้ช้า ต้องได้เสวยความทุกขเวทนามากขึ้นกว่าที่จะลากเอาไปฟันเสียทันที…”

เมื่อกำหนดเส้นตายมาถึง ทางฝ่ายไทยยังคงแบ่งรับแบ่งสู้เกี่ยวกับเรื่องดินแดน ส่วนเรื่องเงินค่าไถ่ก้อนแรก ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์นั้น ทรงแจ้งให้ทราบว่าจะไม่เน้นเรื่องหลักการ (ที่จริงคือมากจนเกินเหตุ-ผู้เขียน) และจะจ่ายให้ แต่ในประเด็นของเงินก้อนที่สองที่ระบุว่าเป็นเงินมัดจำอีก ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์นั้น ทรงรับที่จะวางเป็นเงินเพียสต์แทน (เพียสต์เป็นเงินสกุลที่ใช้อยู่ในเขตอินโดนีจีน ฝรั่งเศส-ผู้เขียน)และพระองค์ก็ทรงหวังว่าจะได้เงินก้อนหลังคืนมาอย่างไม่มีการบิดพลิ้ว กล่าวคือไม่ทรงแน่พระทัยว่าฝรั่งเศสจะคืนให้ และทรงเห็นว่าเป็นการฉกฉวยโอกาสมากกว่า

ปาวีไม่ยอมรับเงื่อนไขที่กล่าวมานี้ เลยพานโกรธ หาว่าฝ่ายไทยตุกติกจู้จี้ จึงหาเรื่องประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และเตรียมตัวปิดสถานทูตทันที ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ปาวีซึ่งถือว่าตนมีอำนาจต่อรองมากกว่า จึงเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เพื่อไปสมทบกับกองเรือรบฝรั่งเศส ที่ลอยลำอยู่เต็มไปหมดบริเวณน่านน้ำเกาะสีชัง เพื่อประกาศปิดล้อมอ่าวไทยเป็นการตอบโต้

เมื่อไม่ได้รับการเหลียวแลจากมหาอำนาจชาติต่างๆ และผิดหวังที่ถูกอังกฤษทอดทิ้งอย่างกะทันหันทั้งที่เคยเชื่อมั่นว่าจะพึ่งพาได้ พระปิยมหาราชจึงทรงรับเงื่อนไขคำขาดโดยไม่ทรงต่อรองใดๆ อีก ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ นายเฮนรี นอร์แมน อดีตกงสุลอังกฤษประจำสยาม เรียกประวัติศาสตร์ไทยยุค ร.ศ. ๑๑๒ ว่า “เป็นการล่มสลายของคนไทย ในเวลานั้นพระมหากษัตริย์อีกทั้งเหล่าเสนาบดีทั้งหลายดูจะเป็นอัมพาตกันไปหมด พวกเขาไม่หวังอะไรอีกแล้ว ไม่ว่าจะจากการปฏิรูป หรือการพัฒนาในภายภาคหน้า ความแข็งแกร่งสูญสลายไปจนสิ้น หมดความสามารถที่จะป้องกันตัว”

ก่อนที่จะกล่าวถึงเงินค่าไถ่อันโด่งดังที่เคยถูกปกปิดไว้เป็นความลับสุดยอดนี้ มีเกร็ดพงศาวดาร ร.ศ. ๑๑๒ แปลกๆ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ที่เข้ากับท้องเรื่องได้ดี พอจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในระหว่างค้นหาเงินได้บ้าง จึงเก็บมาเล่าสู่กันฟัง เรื่องมีว่าพันธมิตรชาวเอเชียที่เป็นญาติห่างๆ กับไทยประเทศหนึ่ง นึกสนุกกับการที่ฝรั่งเศสบุกกรุงเทพฯ จึงมีโทรเลขด่วนฉบับหนึ่ง ส่งมายังนายพลฮูมันน์ดังที่ทหารบนเรือโคเมตจดเอาไว้ว่า…

“เราได้รับคำชมเชย และจดหมายแสดงความยินดีจากบุคคลต่างๆ แทบทุกวันๆ ที่สำคัญที่สุดคือโทรเลขของสมเด็จพระนโรดมเจ้าแผ่นดินเขมร พระองค์เป็นข้าศึกกับไทยอย่างเข้ากระดูกดำ ไทยได้ยึดเอามณฑลพระตะบองและนครวัด อันเป็นมณฑลที่รักของพระองค์ไว้ ทรงหวังอยู่เสมอว่าอาศัยความเกื้อกูลของฝรั่งเศส มิวันใดวันหนึ่งคงจะได้ดินแดนทั้งสองนี้กลับคืนมา เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าเรือรบของเราทั้ง ๒ ลำ ได้ตีฝ่าเข้าไปจอดอยู่แทบหน้าพระราชวังของคู่แข่งบารมีที่พระองค์ทรงเกลียดชังหนักหนา ให้ตกอยู่ในอำนาจกระสุนปืนนั้น ทรงรับสั่งว่าทำความพอพระทัยให้แก่พระองค์มากในชีวิต และใคร่จะส่งเหรียญทอง “บำเหน็จความชอบทหาร” ของพระองค์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันมีค่ายิ่งในประเทศเขมร มาประทานให้แก่ผู้บังคับการเรือทั้ง ๒ ลำ แต่น่าเสียดายที่พระปรารภของพระเจ้าแผ่นดินเขมรหาได้สำเร็จตามที่ทรงหวังไว้ไม่”

ปัญหาภายในของไทย ที่สร้างความคับขันไม่แพ้การตัดสินใจอื่นๆ คือการที่จะแสวงหาเงินจำนวนมากนั้นมาชำระให้ทันเส้นตาย เสนาบดีพระคลังมหาสมบัติถวายรายงานจำนวนเงินในพระคลังให้ทรงทราบ แต่ก็ไม่เพียงพอกับจำนวนที่ถูกเรียกร้องตามใจชอบของพวกฝรั่งเศสอยู่ดี แต่แล้วปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น มีพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทูลเตือนให้ทราบ ถึงเงินพระคลังข้างที่จากสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเก็บสะสมไว้จำนวนหนึ่งใน “ถุงแดง” เงินพระคลังข้างที่คือพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินรายได้แผ่นดินส่วนหนึ่ง ที่แบ่งถวายพระมหากษัตริย์เพื่อใช้จ่ายส่วนพระองค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายเรื่องเงินพระคลังข้างที่ไว้ในสาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๓ ความว่า…

“เคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า เดิมพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้มีกำปั่นเงินไว้ข้างพระแท่นที่บรรทมใบหนึ่ง สำหรับทรงหยิบพระราชทานผู้ใดหรือใช้จ่าย คือไม่ต้องบอกให้ผู้อื่นรู้ และคงแบ่งไปจากเงินพระคลังในนั่นเอง ถึงรัชกาลที่ ๓ พระนั่งเกล้าฯ ทรงเก็บหอมรอมริบเงินซึ่งเป็นส่วนพระองค์เพิ่มขึ้นข้างที่อีกมาก เรียกกันว่า “เงินถุงแดง” สำรองไว้สำหรับใช้ในเวลาบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ”

หนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวไว้ว่า…

“เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๓ นั้น มีเงินในพระคลังข้างที่เหลือจากจับจ่ายในราชการแผ่นดินจำนวน ๔๐,๐๐๐ ชั่ง (๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท) ซึ่งพระองค์ทรงขอไว้ ๑๐,๐๐๐ ชั่ง (๘๐๐,๐๐๐ บาท) เพื่อสร้างวัดที่ค้างไว้ให้แล้วเสร็จ ส่วนที่เหลือนั้นถวายพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ตามแต่จะทรงใช้ พอขึ้นรัชกาลที่ ๔ ในส่วนเงินแผ่นดินที่ทรงได้รับจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั้น มีจำนวนมากกว่าที่อ้างถึงอีก ๕,๐๐๐ ชั่งเศษ รวมทั้งหมดเป็น ๔๕,๐๐๐ ชั่งเศษ (หรือประมาณ ๓,๖๐๐,๐๐๐ บาท)”

พระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ เพราะนอกจากจะทรงจัดการค้าสำเภาหลวงแล้วยังทรงค้าสำเภาเป็นการส่วนพระองค์ด้วย พระราชทรัพย์เหล่านั้นบรรจุไว้ในถุงสีแดง เก็บไว้ในพระคลังข้างที่ และเงินถุงแดงนี้แหละที่ต่อมาได้ใช้จ่ายเป็นค่าไถ่จากความเสียหายให้แก่ฝรั่งเศส หลักฐานเรื่องเงินถุงแดงไถ่เมือง ตามที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล นิพนธ์ไว้ในเรื่อง “เหตุการณ์ใน ร.ศ. ๑๑๒ และเรื่องเสียเขตแดนใน ร.๕” มีว่า

“ฝรั่งเศสไม่ต้องการให้ไทยจ่ายค่าเสียหายเป็นธนบัตร หากต้องการเป็นเงินกริ๋งๆ คราวนี้ก็ต้องเทถุงกันหมด เงินถุงแดงข้างพระที่ๆ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงเก็บไว้ ด้วยมีพระราชดำรัสว่า “เอาไว้ถ่ายบ้านถ่ายเมือง” ก็ได้ใช้จริงคราวนี้ ผู้ใหญ่เล่ากันว่าเจ้านายในพระราชวังเทเงินถวายกันจนเกลี้ยง ใส่ถุงขนออกจากในวังทางประตูต้นสน ไปลงเรือทางท่าราชวรดิษฐ์กันทั้งกลางคืนกลางวัน…”

หนังสือกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๑๒ โดยพลเรือตรีแชน ปัจจุสานนท์ เขียนไว้ว่า

“จำนวนเงินที่ต้องชำระให้ทางฝรั่งเศสนั้น “มีความคลาดเคลื่อน” อยู่บ้างจากจำนวนที่เรียกร้องกับจำนวนที่จ่ายจริง กล่าวคือ…

๑. ในคำขาดระบุไว้ว่า ไทยต้องชำระเป็นค่าปรับไหม ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการรบรวมเป็นเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ ตรงนี้ชัดเจน

๒. ไม่กล่าวถึงเงินมัดจำสามล้านฟรังก์อีก แต่กลับระบุข้อมูลใหม่เพิ่มเติมไว้ว่า ไทยจะต้องชำระเป็นค่าทำขวัญให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตอีกจำนวนหนึ่ง เงินจำนวนนี้รวมเป็นเงินเท่าใดฝรั่งเศสยังไม่ได้คิด แต่กะว่าตกอยู่ไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์

๓. ฉะนั้นฝรั่งเศสจึงเรียกร้องให้ไทยชำระเงินค่าปรับไหม และเงินค่าทำขวัญ โดยสรุปว่า “นับเป็นเงินมัดจำ และอื่นๆ” รวมทั้งหมด ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ ซึ่งจะต้องชำระในทันที โดยให้จ่ายเป็นเงินเหรียญ

ในบรรทัดนี้จึงขออนุมานไว้ว่ารัฐบาลไทยของสมเด็จพระปิยมหาราชต้องจ่ายแน่ๆ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ เรื่องที่น่าเพิ่มเติมตรงนี้คือ เงินในถุงแดงไม่ใช่เงินสกุลฟรังก์ของฝรั่งเศส แต่เป็นเหรียญนกของประเทศเม็กซิโก ที่รู้ว่าเป็นเหรียญเม็กซิโกเพราะเอกสารฝรั่งเศสซึ่งจะกล่าวต่อไประบุไว้แน่ชัดอย่างนั้น ตามข้อสันนิษฐานมีมูลความจริงเป็นไปได้ว่า ในสมัย ร.๓ มีเงินนอกจากต่างประเทศ เช่น เม็กซิโก, เปรู, รูปีอินเดีย เป็นต้น เป็นที่ยอมรับในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันอยู่ในเมืองไทยแล้ว เงินเม็กซิกันเป็นเงินเหรียญทอง ที่มีรูปนกอินทรีอยู่ด้านหนึ่ง (รูปนกอินทรีกางปีก ปากคาบอสรพิษ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเม็กซิโก-ผู้เขียน) ไทยจึงเรียกเหรียญนก มีอัตราแลกเปลี่ยนในเวลานั้นอยู่ที่ ๓ เหรียญนกมีค่าต่อเงินไทยประมาณ ๕ บาท และ ๔๘ เหรียญนกต่อเงินไทย ๑ ชั่ง

อนึ่งเหรียญนกเม็กซิกันที่พบรูปนี้เป็น “พิมพ์นิยม” ในสภาพเดิม แต่มีพิเศษที่พิมพ์กำกับปี ค.ศ. ๑๘๒๑-๑๙๒๑ ไว้เป็นที่ระลึกเมื่อครบรอบหนึ่งศตวรรษที่นำออกใช้ พอจะอนุมานได้อีกว่าน่าจะเป็นเหรียญที่ใช้ในช่วง ร.๓ เพราะทรงครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๕๑ ตรงตามศักราชที่พิมพ์อยู่ ถ้าเป็นดังว่านี้เงินเม็กซิกันคือเงิน (เหรียญ) ที่ใช้ไถ่บ้านไถ่เมืองไทยกับฝรั่งเศส

เงินเหรียญนกเม็กซิกัน “เงินถุงแดง” ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ตรัสว่า “ให้เก็บไว้ไถ่บ้านไถเมือง”

เมื่อพบเงินและสามารถรวบรวมมาได้แล้ว เรื่องก็ขาดตอนไปอีกเสียเฉยๆ หลังจากวันกำหนดเส้นตายผ่านไปแล้ว แทบจะไม่มีใครรู้เห็นเกี่ยวกับเงินค่าไถ่นั้นอีกเลย ไม่มีหลักฐานใดรับรองว่าเบิกจ่ายไปในลักษณะใด และเงินนับล้านเหรียญนั้นออกไปจากกรุงเทพฯ โดยวิธีไหน? ข้อเท็จจริงส่วนใหญ่กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทรงยินยอมที่จะจ่ายให้ฝรั่งเศส” เท่านั้น ไม่มีข้อยุติที่ชัดเจนไปกว่านี้ จึงไม่มีการกล่าวถึงอีกต่อไป

พยานหลักฐานใดคงไม่ดีเท่าปากคำของผู้รับเงินนั้นไปเอง หลังจากพบว่าเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์เป็นตัวเลขสุดท้ายแล้ว ผู้เขียนค้นพบตัวเลขที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จากแหล่งข้อมูลที่พอจะเชื่อถือได้อีก ๒ แห่งในต่างประเทศ ที่ดูสอดคล้องกับตัวเลขไทยอย่างเหมาะเจาะลงตัว ปรากฏอยู่ใน :-

๑. หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส LE MONDE ILLUSTRE ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ และ

๒. หนังสือ THE PEOPLE AND POLITICS OF THE FAR EAST ค.ศ. ๑๘๙๖ เขียนโดย HENRY NORMAN

เป็นคำรับรองที่ตัดตอนข้อปลีกย่อยอื่นๆ ออกไปจนหมด เหลือเพียง “ยอดสุทธิ” ที่ไม่ใช่เรื่องลับอีกต่อไปว่า :-

๑. จากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ที่ทายาท ม. ปาวีคนเดิมเก็บรักษาไว้ที่บ้าน รายงานความสำเร็จจากการปฏิบัติการในตะวันออกไกล ความพ่ายแพ่ของฝ่ายไทย และค่าไถ่เป็นเงินเหรียญที่ขนออกมาจากกรุงเทพฯ จนเต็มลำเรือ คล้ายการโยกย้ายขุมทรัพย์ออกมาจากเกาะมหาสมบัติอะไรทำนองนั้น

“ในที่สุดจันทบูรก็อยู่ในเงื้อมมือของพวกเรา ภายใต้การดูแลของปืนใหญ่ของเรา และเรือลูแตงของเรา อย่างสง่างาม ข้าหลวงใหญ่จากราชสำนักสยามถูกแต่งตั้งโดยตรงจากในหลวง ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ มายังเราเพื่อให้ความร่วมมือและให้ความสะดวกในการส่งมอบจันทบูรให้อยู่ในอำนาจของเราอย่างไม่มีเงื่อนไขอีกต่อไป

กองกำลังอันสามารถของเรา ประกอบไปด้วยนายทหารฝรั่งเศส ๕๐ นาย ทหารญวน ๑๕๐ นาย และผู้เชี่ยวชาญทางปืนใหญ่อีก ๔-๕ นาย ในที่สุดเราก็สามารถกุมอำนาจทั้งประเทศไว้ได้สำเร็จ ขณะนี้เรืออาลูแอตต์กำลังเปลี่ยนหน้าที่กับเรือลูแตงของเรา เพื่อเดินทางกลับไซ่ง่อน พวกเราทุกคนต่างปีติยินดีกับเงินค่าปรับสงครามที่ท่านเลอมีร์ เดอ วิลลิเอร์ ข้าหลวงใหญ่ของเราได้รับมาจากในหลวง บรรทุกออกมากับเรือลูแตง ชำระด้วยเหรียญเม็กซิกันรวมทั้งหมดเป็นจำนวน ๘๐๑,๒๘๒ เหรียญ หรือคิดเป็นน้ำหนักอยู่ที่ ๒๓ ตัน (๑ เหรียญเม็กซิกัน มีค่าเท่ากับเงินฝรั่งเศส ๓.๒๐ ฟรังก์ เทียบเท่ากับ ๒,๕๖๔,๑๐๒ ฟรังก์)

วันที่ ๓ กันยายน เรือลูแตงอันหนักเพียบไปด้วยทรัพย์สมบัติอันมหาศาลของพระเจ้ากรุงสยาม ก็มาถึงฐานทัพของเราที่ไซ่ง่อน อีก ๒ วันต่อมาจึงเริ่มการขนย้ายเงินที่กองเป็นภูเขาเลากาขึ้นบก มันเป็นเรื่องสุดความสามารถที่จะนับตรวจเงินทีละเหรียญ ถึงขนาดที่เราต้องคิดวิธีตวงชั่งเอา เพื่อให้ได้น้ำหนักแทน มันมีจำนวนที่มากมายมหาศาลเกินความสามารถที่จะนับกัน เมื่อชั่งแล้วเงินก็จะถูกเก็บไว้ในคลังของเราที่นี่ เพื่อมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ธนาคารมานับกันในภายหลัง

ภาพที่ท่านผู้อ่านเห็นอยู่นี้น่าจะเป็นที่ชื่นชมของพวกเราโดยแท้ แต่ท่านคงไม่ทราบหรอกว่าเป็นความลำบากนักหนาในระหว่างการขนออกมาจากสยาม เสนาบดีพระคลังในสยามคงจะใช้ถุงใส่เงินที่เสื่อมคุณภาพเต็มที พอเจอไอเค็มของน้ำทะเลเผาด้วยแดดเข้า ถุงก็ปริแตกออกจนหมด เงินก็ทะลักออกมากองเต็มลำเรือ พอถึงที่หมายจึงต้องหาถังมาขนใส่ออกจากลำเรืออย่างทุลักทุเล เพื่อใช้เลื่อนไปตามล้อรถบรรทุกกระสุนปืนใหญ่ดังที่ท่านเห็นในภาพ”

เงินสองล้านห้าแสนกว่าฟรังก์ที่ขนกันออกไปกับเรือลูแตง บวกกับเงินอีก “ห้าแสนฟรังก์” ที่จ่ายเป็นเช็คส่งตามไปไซ่ง่อน ตามหนังสือในข้อ ๒ ทำให้ยอดสุทธิโดยประมาณครบตามจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ไม่มีขาด แลกกับอิสรภาพของความเป็นไทได้อีกวาระหนึ่ง

ผู้เขียนเข้าใจว่าท่านผู้อ่านคงอยากทราบเป็นที่สุด ว่าเจ้าเงินจำนวนนี้มันมีค่าสักกี่มากน้อยเมื่อคำนวณเป็นเงินบาท โชคดีที่ยังพอมีการยืนยันในเอกสารทางการไทยว่า สมเด็จฯ กรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ กราบทูลพระปิยมหาราช ว่าได้จ่ายเงินให้ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๔๖ คิดเป็นเงินไทยรวม ๑,๖๐๕,๒๓๕ บาท กับอีก ๒ อัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงบันทึกไว้ในหนังสือชื่อเจ้าชีวิตว่า “ไทยยอมเสียค่าปรับเป็นเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์เหรียญทอง” (เท่ากับราว ๑,๕๖๐,๐๐๐ บาทในสมัยนั้น) จึงขออนุมานว่าเงินบาทโดยประมาณซึ่งจ่ายเป็นค่าไถ่บ้านไถ่เมืองในครั้งนี้เป็นจำนวนเงิน “หนึ่งล้านหกแสนห้าพันกว่าบาท”

ท้ายที่สุดถ้าพิจารณากันอย่างเป็นกลางๆ แล้ว คิดเสียว่าไทยยังโชคดีที่ความเสียหายไม่มากไปกว่านี้ เพราะมีเกร็ดเขียนไว้อีกว่า ในระหว่างความชุลมุนเมื่อเรือรบฝรั่งเศสฝ่าแนวป้องกันของไทยเข้ามานั้น พลเรือจัตวาพระยาชลยุทธโยธิน นายทหารเรือชาวเดนมาร์ก ตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ขอพระบรมราชานุญาตนำเรือพระที่นั่งมหาจักรี ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดของไทย เข้าชนตะลุมบอนกับเรือรบฝรั่งเศส แต่พระองค์ไม่ทรงอนุญาต เพราะกลัวเรื่องจะลุกลามกันไปใหญ่โต

นับเป็นการตัดสินพระทัยที่ถูกต้องเด็ดขาด

เพราะถ้ามีรับสั่งให้เป็นไปตามนั้น หรือแค่มีรับสั่งให้ทหารไทย ๒ ฝั่งแม่น้ำยิงถล่มเรือรบฝรั่งเศสที่จอดอยู่จนป่นปี้แล้ว กองเรือรบติดอาวุธหนักของฝรั่งเศสที่จอดคุมเชิงอยู่อีก ๑๐ ลำ ก็จะต้องฉวยโอกาสโจมตีกรุงเทพฯ ทันที

และถ้าบานปลายถึงขั้นนั้น ฝรั่งเศสก็จะถือโอกาสยึดเมืองไทยเป็นเมืองขึ้นเสียเลย เช่นเดียวกับญวน เขมร และล้านช้าง ตั้งแต่วันนั้นไปแล้วอย่างสุดทางแก้ไข


หนังสือประกอบการค้นคว้า

๑. อัช บุญยานนท์, ร.อ.ต., เรียบเรียง. รายงานการเดินทางของเรือโคเมต (โดยนายทหารฝรั่งเศส) ร.ศ. ๑๑๒ ฝรั่งเศส-สยาม. กรมยุทธศาสตร์ทหารเรือ, กรุงเทพฯ, ๒๔๗๓.

๒. แชน ปัจจุสานนท์, พลเรือตรี. กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๑๒. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนางพร้อม ศรีหงส์, ๒๕๑๘.

๓. เพ็ญศรี ดุ๊ก. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙. ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙.

๔. สุวิทย์ ธีรศาศวัต. ประวัติศาสตร์ลาว. สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๓.

๕. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๒. กรุงเทพฯ, ๒๕๔๕.

๖. พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประชุมนิพนธ์ เล่ม ๑. สำนักพิมพ์บำรุงบัณฑิต, กรุงเทพฯ, ๒๕๒๙.