วันพุธ 16 ตุลาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

สื่อฮ่องกงเจาะกรณี’ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ในกระบวนซื้อขายพาสปอร์ตหนีคดี

สื่อฮ่องกงรายงานว่า ไม่มีใครคาดคิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยจะใช้พาสปอร์ตของราชอาณาจักรกัมพูชา

‘เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์’ สื่อในฮ่องกง แฉกระบวนการซื้อขายพาสปอร์ต ช่องทางที่ทำให้เศรษฐีคนมีเงินที่ต้องการหลบหนีคดี หรือ หลีกเลี่ยงภาษี สามารถเดินทางไปประเทศต่างๆ ได้ พร้อมยกตัวอย่าง กรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถือพาสปอร์ตกัมพูชา และ ‘โจ โลว์’ ผู้ต้องหาหลบหนีคดี 1MDB ชาวมาเลย์ ที่ถือพาสปอร์ตเซนต์คิตส์แอนด์เนวิส

28 มกราคม 2562- เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/2171490/persecuted-hanoi-locked-bangkok-montagnards-vietnams-forgotten ได้เผยแพร่รายงานพิเศษชื่อเรื่อง WHO GAVE THAILAND’S EX-PM YINGLUCK SHINAWATRA A CAMBODIAN PASSPORT? เปิดเผยกระบวนการซื้อขายหนังสือเดินทางในประเทศต่างๆ โดยนำกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ที่ถือพาสปอร์ตของกัมพูชา และ นายโจ โลว์ (Jho Low) ผู้ต้องหาหนีคดีทุจริตกองทุน 1MDB ในมาเลเซีย ที่ถือพาสปอร์ตของเซนต์คิตส์แอนด์เนวิส ประเทศเล็กๆ ในทะเลแคริบเบียน มาเป็นตัวอย่างขึ้นพาดหัวข่าว พร้อมระบุว่า การจะมีพาสปอร์ตของบางประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการหลบหนีคดี หรือ หลีกเลี่ยงภาษีนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก ขอให้มีเงินสัก 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป และสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อพาสปอร์ตของประเทศไหนจึงจะคุ้มเงินที่สุด

เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า ไม่มีใครคาดคิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย จะใช้พาสปอร์ตของราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นเอกสารที่แสดงต่อเจ้าหน้าที่ ตม. เวลาเดินทางไปประเทศต่างๆ นั่นเพราะหนังสือเดินทางกัมพูชานั้น ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหนังสือเดินทางที่ทรงพลังน้อยที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของ Henley Passport Index โดยอยู่ในลำดับที่ 84 จาก 104 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม คนที่มีเงินสัก 300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็สามารถถือหนังสือเดินทางอย่างเป็นทางการของกัมพูชาได้ ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ว่าจะต้องลงทุนในประเทศตามจำนวนดังกล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งหลบหนีออกนอกประเทศตั้งแต่ปี 2560 ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะอ่านคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี ฐานปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ได้ใช้หนังสือเดินทางกัมพูชาขอจดทะเบียนเป็นกรรมการเพียงคนเดียวของบริษัทในฮ่องกง ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ตามที่เอกสารจดทะเบียนบริษัทระบุ ซึ่ง “เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์” นำมาเปิดเผยเมื่อต้นเดือนนี้ และช่วยตอกย้ำข้อสันนิษฐานที่ว่าเธอหลบหนีออกจากประเทศไทยโดยผ่านกัมพูชา

ขณะเดียวกัน กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้หนังสือเดินทางกัมพูชา ทำให้ประเด็นการซื้อขายพาสปอร์ตเป็นที่สนใจขึ้นมาทันที เพราะเดี๋ยวนี้เป็นเรื่องง่ายที่พวกเศรษฐีที่ไม่อยากอยู่ในประเทศของตัวเองจะได้พาสปอร์ต หรือ ที่พำนักอาศัยในประเทศใหม่ ขอแค่เพียงจ่ายเงินซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1 แสน-2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบางกรณีการหาพาสปอร์ตง่ายพอๆ กับการซื้อของออนไลน์ด้วยซ้ำ โดยผู้ที่ยื่นขอไม่ได้ต้องแสดงตัวเลย ขณะที่บางคนก็ได้พาสปอร์ตโดยการติดสินบนเจ้าหน้าที่

นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ รายงานเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ระบุถึงตัวเลขการซื้อขายพาสปอร์ต ว่า มีหลายพันเล่มต่อปี และการจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับการอนุญาตให้คนต่างชาติอยู่อาศัยถาวรในประเทศต่างๆ มีหลายแสนราย

พาสปอร์ตที่ขายถูกที่สุดในโลก ซึ่งมีราคาอยู่ที่เล่มละ 1 แสนดอลลาร์นั้น จะอยู่ในประเทศแถบแคริบเบียน ได้แก่ สาธารณรัฐโดมินิกัน แอนติกัวแอนด์บาร์บูดา และ เกรนาดา

ส่วนที่ราคาสูงขึ้นมาอีกหน่อย คือ 150,000 ดอลลาร์ และต้องตอบคำถามไม่กี่คำถาม ได้แก่ ประเทศเซนต์คิตส์แอนด์เนวิส ซึ่งอยู่ในแคริบเบียนเหมือนกัน โดยจะใช้เวลาออกให้ภายใน 90 วัน

ทั้งนี้ นโยบายด้านพาสปอร์ตซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ เป็นที่นิยมของเศรษฐีคนมีเงินจากทั่วโลก ยกตัวอย่าง นักธุรกิจชาวมาเลย์ ที่ชื่อ โลว์ เต็ก โจ (Low Taek Jho) หรือที่รู้จักกันในชื่อ โจ โลว์ (Jho Low) ซึ่งถูกทางการมาเลเซียตามล่าตัว เนื่องจากเกี่ยวพันกับคดีทุจริตกองทุน 1MDB และถูกยกเลิกพาสปอร์ตมาเลย์ไปแล้ว แต่ยังสามารถเดินทางไปไหนต่อไหนได้ด้วยพาสปอร์ตของประเทศเซนต์คิตส์แอนด์เนวิส

นายโจ โลว์ ผู้ต้องหาหลบหนีคดีทุจริตกองทุน 1MDB ของมาเลเซีย ซึ่งหันไปถือหนังสือเดินทางของเซนต์คิตส์แอนด์เนวิส หลังจากหนังสือเดินทางมาเลย์ถูกยกเลิก

ขณะที่ในกลุ่มสหภาพยุโรป 28 ประเทศนั้น ก็มีประมาณ 20 ประเทศ ที่มีนโยบายจะให้ถิ่นพำนักหรือความเป็นพลเมืองแก่ชาวต่างชาติเพื่อแลกกับเงินลงทุนจำนวนมาก

อย่าง มอลตา ถ้าบริจาคเงิน 850,000 ดอลลาร์ ก็สามารถถือพาสปอร์ตของประเทศนี้ได้ ส่วนไซปรัสนั้น ต้องลงทุน 2.26 ล้านดอลลาร์ และไม่มีเงื่อนไขว่าต้องพำนักอาศัยในประเทศนี้

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการมีพาสปอร์ตจึงทำให้สถานะพลเมืองของหลายประเทศกลายเป็นของมีค่า รวมทั้งเป็นสินค้าที่ถูกเสาะแสวงหา โดยคนกระเป๋าหนักแต่ต้องเร่ร่อนด้วยเหตุผลต่างๆ และพวกเขาก็มีกองทัพผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การเงิน และการบัญชี คอยให้คำปรึกษา

แอนดรูว์ เฮนเดอร์สัน ผู้ก่อตั้ง Nomad Capitalist ซึ่งอดีตเคยเป็นคนสัญชาติอเมริกัน ได้ให้คำแนะนำแก่บรรดาเศรษฐีทั้งหลาย ว่า ควรจะหาประเทศอยู่ใหม่ เพื่อจ่ายภาษีน้อยลง รวมทั้งแนะนำให้ถือพาสปอร์ตหลายประเทศ และตัวเขาเองก็มีถึง 4 เล่ม

ทั้งนี้ แอนดรูว์ ได้ขอยกเลิกพาสปอร์ตอเมริกันของเขาเอง เพื่อเขาจะได้ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของเขาต่อรัฐบาลสหรัฐฯ และบอกว่าในแต่ละปีเขาใช้ชีวิตอยู่ใน 15-20 ประเทศ

เขาไม่ยอมเปิดเผยว่า เขาถือพาสปอร์ตประเทศไหนบ้าง โดยบอกว่า แต่ละประเทศคงไม่อยากให้พลเมืองของตัวเองไปถือพาสปอร์ตของประเทศอื่น

“ประโยชน์ของการถือพาสปอร์ตหลายประเทศ คือ มันทำให้เราเดินทางสะดวก ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และสามารถเลือกใช้พาสปอร์ตที่เหมาะกับแต่ละสถานการณ์

“สำหรับเพื่อนผมที่เป็นลูกครึ่งอิสราเอล-โปแลนด์ การถือพาสปอร์ตหลายประเทศทำให้เขาสามารถเข้าไปทำธุรกิจในอ่าวอาหรับได้ และสำหรับผม มันก็ทำให้ผมได้มีมุมสงบๆ ในประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีใครมารบกวน”

ทั้งนี้ จากการจัดอันดับพาสปอร์ตที่ทรงพลังที่สุดของ Henley Passport Index ซึ่งวัดจากจากการได้ฟรีวีซ่าในการผ่านแดน พบว่า พาสปอร์ตญี่ปุ่นอยู่อันดับ 1 เนื่องจากสามารถใช้ผ่านแดนโดยไม่ต้องขอวีซ่าใน 190 ประเทศ อันดับ 2 คือ สิงคโปร์ และ เกาหลีใต้ ใช้ผ่านแดนโดยไม่ต้องขอวีซ่าใน 189 ประเทศ โดย 10 อันดับพาสปอร์ต ที่ทรงพลังส่วนใหญ่เป็นของประเทศในยุโรป ส่วนฮ่องกงอยู่อันดับ 19 จีน 69 และประเทศที่รั้งท้ายสุด คือ อัฟกานิสถาน และ อิรัก

อย่างไรก็ตาม บรรดาคนมีเงินที่ต้องการได้พาสปอร์ตของประเทศใหม่นั้น เขาต้องการอย่างอื่นมากกว่าการได้ฟรีวีซ่า เขาอาจจะต้องการจ่ายภาษีน้อยลง และสนุกกับการได้เสรีภาพที่จะไปที่ไหนก็ได้

เช่นเดียวกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ โจ โลว์ ซึ่งต้องการจะหลบเลี่ยงกฎหมาย  รวมทั้ง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มหาเศรษฐีพี่ชายของเธอที่หนีออกจากประเทศ ว่ากันกันว่า เขาได้ถือพาสปอร์ตของหลายประเทศ

เซี่ยว เจียนหวา (Xiao Jianhua) เศรษฐีชาวจีนซึ่งหายตัวออกไปจากฮ่องกงตั้งแต่ปี 2560 และเชื่อกันว่า ถูกหมายจับจากทางการจีน ฐานต้องสงสัยปั่นหุ้นและติดสินบนเจ้าหน้าที่ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถือพาสปอร์ตแคนาดา และพาสปอร์ตทูตของแอนติกัวแอนด์บาร์บูดา ด้วย

นายเซี่ยว เจียนหวา นักธุรกิจชาวจีน ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหยีคดีปั่นหุ้นและติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้หนังสือเดินทางของแอนติกัวแอนด์บาร์บูดา ในการเดินทางไปประเทศต่างๆ

เฮนเดอร์สัน แห่ง Nomad Capitalist เชื่อว่า พาสปอร์ตสิงคโปร์ ซึ่งได้คะแนนสูงจาก Henley index นั้น อาจไม่คุ้มกับความยุ่งยากในการได้มา เนื่องจากนโยบายการให้สัญชาติโดยแลกกับเงินลงทุนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และในการยื่นขอนั้นเจ้าหน้าที่ก็ยึดกฎระเบียบทุกตัวอักษร

“การขอพาสปอร์ตในเอเชียนั้นยุ่งยาก เราอาจจะมีพาสปอร์ตสิงคโปร์ได้ แต่ต้องทำตามกฎทุกตัวอักษร และพวกเขาต้องการจะให้เป็นครอบครัวที่มีเด็กอยู่กับผู้ใหญ่มากกว่า เอเชียจึงเป็นภูมิภาคที่ไม่เหมาะกับการหาพาสปอร์ตใหม่จริงๆ”

สิงคโปร์มีนโยบายการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกโดยชาวต่างชาติมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยอย่างถาวรหากลงทุนอย่างน้อย 2.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในการเริ่มธุรกิจใหม่หรือขยายการลงทุนจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้วในสิงคโปร์

เฮนเดอร์สัน ยังบอกอีกว่า สำหรับเกาหลีใต้ที่มีเงื่อนไขว่าต้องลงทุน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงจะได้สิทธิอยู่อาศัยถาวรนั้น ไม่เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าคุณต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเท่านั้น แต่ภาษีก็ยังสูงอีกด้วย

เขาจึงจัดอันดับประเทศที่เหมาะแก่การมีพาสปอร์ตขึ้นมาเอง โดยดูทั้งความสะดวก ภาษี ชื่อเสียงของประเทศ อิสระภาพในการถือพาสปอร์ตได้หลายเล่ม และเสรีภาพส่วนบุคคลด้วย ซึ่งในปี 2018 อันดับ 1 คือ สวีเดน และใน 10 อันดับแรก เป็นยุโรปทั้งหมด ส่วนสหรัฐฯ ไม่ติดอยู่ใน 30 อันดับแรก นั่นเพราะภาษีสูง และกฎระเบียบต่างๆ ก็ผลักไสให้คนอเมริกันสละความเป็นพลเมืองของตนเอง

พาสปอร์ตของนาย เซี่ยว เจียนหวา นักธุรกิจชาวจีนที่หันไปถือสัญชาติแอนติกัวแอนด์บาร์บูดา เพื่อหลบหนีคดีปั่นหุ้น

อย่างไรก็ตาม Cheung แห่งบริษัทที่ปรึกษาด้านการเข้าเมือง โกลด์แม็กซ์ (Goldmax Immigration Consulting) ในฮ่องกงกล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เข้มงวดนโยบายการให้สิทธิเข้าเมืองเพื่อแลกกับการลงทุนมากขึ้น

“ทุกวันนี้ หลายประเทศเขาไม่ได้มองหาแต่เงินอย่างเดียว ตัวเงินมันส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อยมาก แต่ละประเทศเขาต้องการคนที่มีการศึกษาดี มีอายุการทำงาน เขาต้องการนักลงทุนที่สามารถลงทุนในท้องถิ่นและจ้างคนงานในท้องถิ่น”

แม้แต่ฮ่องกงก็ได้ยกเลิกนโยบายการดึงเงินลงทุนแบบนี้ไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน เมื่อระบบเศรษฐกิจเราต้องการมากกว่าแค่ตัวเงิน ซึ่งพวกเศรษฐีเหล่านั้นต้องการจะได้พาสปอร์ตยุโรปมากกว่าเอเชีย เนื่องจากประเทศเหล่านั้นให้ถือสองสัญชาติได้

ขณะที่ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ และ โกลบอล วิทเนส (Transparency International and Global Witness) คาดหมายว่า ประเทศในยุโรป เช่น สเปน ฮังการี ลัตเวีย โปรตุเกส และอังกฤษ แต่ละประเทศได้ให้ “วีซ่าทอง” หรือสิทธิการอยู่อาศัยถาวรแลกกับเงินลงทุนจากชาวต่างชาติปีละมากกว่า 10,000 ราย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

โดย มอลตา ไซปรัส และ บัลแกเรีย เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู)ที่ขายสิทธิการได้เป็นพลเมืองในราคาระหว่าง 1.1-2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง 3 ประเทศนี้ และอีก 20 ประเทศสมาชิกอียู ได้ขายสิทธิการอยู่อาศัยถาวรด้วย

ขณะที่มีรายงานอีกด้านว่า ด้วยนโยบายเหล่านี้ สมาชิกอียูสามารถดึงเงินลงทุนเข้าประเทศได้ประมาณ 28,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มีรายงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สหภาพยุโรปเริ่มส่งสัญญาณเตือนว่านโยบายการให้สถานะพลเมืองแลกกับเงินลงทุนนั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่อียูจะเป็นที่แทรกซึมของกลุ่มอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ฟอกเงิน พวกคอร์รัปชันและหลบเลี่ยงภาษี

ความเสี่ยงดังกล่าวเนื่องจากประเทศเหล่านั้นไม่ได้ตรวจสอบที่มาของความร่ำรวยของผู้ที่มาขอสถานะพลเมืองและสิทธิอยู่อาศัยถาวร และด้วยพาสปอร์ตของประเทศเดียวผู้ถือก็สามารถเดินทางไปได้ทั้ง 28 ประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ รัฐบาลบัลแกเรีย เพิ่งประกาศหยุดนโยบายการขายพาสปอร์ต โดยรัฐมนตรียุติธรรมบอกว่า ตั้งแต่ปี 2556 มีชาวต่างชาติเพียง 50 คน จากรัสเซีย อียิปต์ อิสราเอล และปากีสถาน ที่ได้พาสปอร์ตแลกกับการนำเงินมาลงทุน

อย่างไรก็ตาม เฮนเดอร์สัน แห่ง Nomad Capitalist กล่าวว่า บางประเทศก็กังวลกับเรื่องเหล่านี้เกินจริง เพราะประเทศส่วนใหญ่ก็มีการคัดกรองคำขอในระดับเดียวกับที่อังกฤษและสหรัฐฯ ทำ และหลายคำขอก็ถูกปฏิเสธ

“ความคิดที่ว่า อาชญากรจะเล็ดลอดผ่านการตรวจสอบนั้น มันเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของคนจำนวนน้อยมากกว่า เพราะคนพวกนั้นไม่อยากให้คนรวยมา “แซงคิว” และว่า เขาจะไม่อดทนกับคนที่มาถกเถียงเรื่องจริยธรรมในการซื้อขายพาสปอร์ตและสิทธิอยู่อาศัย

“ผมจะบอกว่า ใครสนล่ะ คนมีเงินเขาจะทำประโยชน์ให้ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีหนี้อย่างเซนต์คิตส์แอนด์เนวิส พร้อมจะต้อนรับตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะประเทศเหล่านั้นต้องการเงิน”

สำหรับในทวีปเอเชีย หลายประเทศห้ามประชาชนถือหลายสัญชาติ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย และ จีน

แต่กัมพูชาเป็นข้อยกเว้น ที่ปรึกษาด้านการลงทุนและการเข้าเมืองซึ่งมีฐานที่เฉินเจิ้น ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวของเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ที่โทรศัพท์ไปสอบถามในฐานะลูกค้า ว่า

“เราประสบความสำเร็จถึง 95 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเร็วๆ นี้ เขาปรับขั้นตอนให้มันเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่”

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวคิดค่าใช้จ่าย 180,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับบริการด้านการด้านหนังสือเดินทาง และจ่ายเงินคืนเต็มจำนวนหากขอไม่ผ่าน ขณะที่ข้อมูลในโบรชัวร์ของบริษัทอ้างว่า บริษัทมีสายสัมพันธ์กับกองทัพและนักการเมืองระดับสูงของกัมพูชา

ที่ปรึกษาคนนี้ กล่าวว่า แม้รัฐบาลจีนจะไม่อนุญาตให้ประชาชนถือสองสัญชาติ แต่การถือพาสปอร์ตของจีนและกัมพูชาพร้อมกันนั้น ก็ไม่ใช่ปัญหา ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ไม่ทำการตรวจสอบ “มันไม่ง่ายที่เรื่องนี้จะถูกตรวจพบ”

ส่วนที่ปรึกษาด้านตรวจคนเข้าเมืองของบริษัทระหว่างประเทศรายหนึ่ง กล่าวว่า “เราสามารถขอพาสปอร์ตกัมพูชาผ่าน “ช่องทางพิเศษ” ได้ ซึ่งนั่นก็คือ การติดสินบนเจ้าหน้าที่” ซึ่งหลังจากรู้ว่ากำลังคุยกับผู้สื่อข่าวแล้ว ที่ปรึกษาคนดังกล่าวก็ไม่ให้ข้อมูลอีก

เจ้าหน้าที่กัมพูชา เพิ่งออกมาปฏิเสธว่า รัฐบาลไม่เคยออกหนังสือเดินทางให้ชาวต่างชาติ แต่หนังสือพิมพ์ Khmer Times เคยอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่คนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ว่า ในช่วงปี 2557-2560 มีชาวต่างชาติ ได้รับอนุมัติให้ถือสัญชาติกัมพูชา 1,518 คน ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าในจำนวนนี้เป็นคนจีนกี่คน หลังจากที่พบว่ามีคนจีนหลั่งไหลเข้าไปยังประเทศนี้จำนวนมากทั้งในฐานะนักลงทุนและนักท่องเที่ยวในช่วงปีกี่ปีที่ผ่านมา

First posted: 28 มกราคม 2562 | 13:30