วันพุธ 11 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

หนึ่งเดียวของวีรกษัตริย์มหาราชไทย ผู้มีสุสานอยู่ดินแดนโพ้นทะเล โดย อ.ปริวัฒน์ จันทร

 

เนื่องในวันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงขอนำบทความของ อ.ปริวัฒน์ จันทร เรื่อง สุสานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (แต่อ๊วง) ในประเทศจีน ที่ได้เคยลงตีพิมพ์ในนิตยสาร New Silk Road มาเผยแพร่เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ซึ่งเป็นลูกจีนคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ ที่สามารถขึ้นครองราชย์เป็นวีรกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสยาม

หนึ่งเดียวของลูกชาวจีนโพ้นทะเล ผู้ได้เป็นวีรกษัตริย์ในประเทศทางทะเลใต้

ณ หมู่บ้านฮั้วปู่ (ฮวาฟู่ 华富村Huafu) อำเภอเถ่งไฮ้ (เฉิงไห่ 澄海县Chenghai) เมืองซัวเถา (ซ่านโถว 汕头市Shantou) ทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง (กว่างตง Guangdong) เป็นที่ตั้งของสุสานแต่อ๊วง หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (17 เมษายน พ.ศ.2277 – 7 เมษายน พ.ศ.2325) ราชสำนักจีนเรียกพระองค์ว่า แต่เจียว (เจิ้งเจา 郑昭Zhengzhao) หรือกษัตริย์แซ่เจิ้ง

สุสานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในอำเภอเถ่งไฮ้นี้ แม้จะเป็นสุสานขนาดเล็ก ๆ หากแต่ยิ่งใหญ่ในความหมายในใจของปวงชนชาวไทยทุกคนเสมอมา ตามแผ่นศิลาจารึกหน้าสุสานระบุไว้ว่า “เสียนหลอเจิ้งหวงต๋าซิ่นต้าตี้อีก่วนมู่” 暹罗郑皇达信大帝衣冠墓 หรือสุสานฝังฉลองพระองค์และพระมาลาของเจิ้งหวางกษัตริย์แห่งเสียนหลอผู้ยิ่งใหญ่

แผ่นป้ายศิลาจารึกหน้าสุสานของพระองค์ระบุปีสร้างในรัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลง แห่งราชวงศ์ชิง ในปีค.ศ.1782 (พ.ศ.2325 อันเป็นปีเดียวกันกับที่พระองค์สวรรคต) ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ในฤดูใบไม้ร่วง ปีค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) เล่าสืบต่อกันมาว่า หลังจากพระองค์ได้สวรรคตแล้ว ข้าราชบริพารเชื้อสายจีนได้นำฉลองพระองค์และพระมาลาของพระองค์มา 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นไทย ชุดหนึ่งเป็นจีน กลับมามอบให้พระญาติที่บ้านเกิดของพระราชบิดา-เจิ้งหยง 郑镛 (แต่ย้ง) จากนั้น พระญาติจึงได้บรรจุฉลองพระองค์และพระมาลาของพระองค์ไว้ในสุสานของพระองค์ (ซึ่งสร้างไว้ก่อนหน้านี้แล้ว)

นายแต่ย้ง พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นชาวอำเภอเถ่งไฮ้ ผู้หนีความยากลำบากและเหตุทุพภิกขภัยบ่อยครั้งที่บ้านเกิดเมืองนอนเช่นเดียวกับชาวเถ่งไฮ้เป็นจำนวนมาก ลงเรือสำเภาหัวแดง (อั่งเถ่าจุ๊ง) รอนแรมมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสยามประเทศสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มาอาศัยอยู่แถบคลองสวนพลูนอกเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา ดังนั้น ในช่วงทำสงครามกอบกู้เอกราชของไทย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงมีทหารชาวจีนแต้จิ๋วจากเถ่งไฮ้มารวมรบอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก

มล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ (บุรุษรัตพันธ์) นักค้นคว้าจากสถาบันไทยคดีศึกษา ได้อธิบายเรื่องบทบาทของชาวจีนแต้จิ๋วในสมัยกรุงธนบุรี ไว้ในบทความ “ชาวจีนแต้จิ๋วในสภาพสังคมไทยสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นว่า”

“…ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้าตากสินฯ ที่จะยกย่องเชิดชูจีนแต้จิ๋วเหนือจีนกลุ่มอื่น ๆ ที่ได้อพยพเข้ามาในสยามประเทศก่อนหน้านั้นแล้ว อันจะเป็นสาเหตุแห่งความไม่สมัครสมานสามัคคีในยามที่พระองค์ต้องการฐานกำลังสนับสนุนจากจีนทุกกลุ่มในเวลานั้น แต่เหตุที่จีนแต้จิ๋วได้รับการยกย่องไปโดยปริยาย ก็เนื่องมาจากความที่พระองค์ท่านเป็นลูกครึ่งไทย-จีนแต้จิ๋ว โดยที่เจิ้งหยง พระบิดาเป็นจีนแต้จิ๋ว เคยมีถิ่นฐานพำนักแถวคลองสวนพลูข้างวัดพนัญเชิง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นแหล่งอาศัยของชาวจีนแต้จิ๋วในอยุธยา…อีกประการหนึ่งนั้น เพราะจีนแต้จิ๋วคือกลุ่มคนที่รวมผนึกกำลังช่วยพระเจ้าตากสินฯ ตีแหกพม่ามุ่งไปยังหัวเมืองชายทะเลตะวันออก….เมื่อพระเจ้าตากสินฯ ตีได้เมืองระยอง ได้มีพระราชสาส์นไปถึงพระยาราชเศรษฐี จีนกวางตุ้งผู้เป็นเจ้าเมืองเพื่อขอความสนับสนุน ตลอดจนความพยายามที่จะมีสัมพันธไมตรีเป็นอย่างดีกับพระเจ้ากรุงจีน เพื่อให้เกิดการยอมรับอำนาจความชอบธรรมของพระองค์ สถานการณ์ทางการเมืองที่อำนวยให้จีนแต้จิ๋วดูเด่นเช่นนี้ ดึงดูดให้จีนแต้จิ๋วจากผืนแผ่นดินใหญ่อพยพเข้ามาเมืองไทยมากยิ่งขึ้น…”

พระองค์จึงนับเป็นลูกจีนคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ ที่สามารถขึ้นครองราชย์เป็น วีรกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศโพ้นทะเลได้ นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวหมู่บ้านฮั้วปู่ อำเภอเถ่งไฮ้ เป็นอย่างยิ่ง

ในปีพ.ศ.2556 ได้มีสาธุชนทั้งฝ่ายคณะสงฆ์ ฆราวาส และสมาคม มูลนิธิต่าง ๆ ได้ร่วมกันขยายสุสานของพระองค์ให้มีขยายใหญ่โตขึ้น และเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2556 ซึ่งตรงกับวันปราบดาภิเษกของพระองค์เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการอัญเชิญพระบรมรูปของพระองค์ขึ้นประดิษฐานอยู่บนเหนือสุดของสุสานแห่งนี้ ที่ตั้งอยู่บนภูมิลักษณ์อันงดงามใกล้แม่น้ำหานเจียง (หั่งกัง) ทำให้สุสานของพระองค์มีความโอ่อ่าอย่างสมภาคภูมิวีรกษัตริย์ในดวงใจของชาวไทยทุกคน