วันเสาร์ 14 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ

ลักษณะทั่วไปที่ตั้ง อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า) ตั้งอยู่ด้านหลังของสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองหนองคาย เพื่อบรรจุอัฐิของเหล่าทหารที่เสียชีวิต ในการปราบฮ่อ หรือพวกจีนฮ่อที่ก่อการกบฎเพื่อล้มล้างราชวงศ์แมนจู เมื่อปีพุทธศักราช 2046 ซึ่งยกกองทัพมารุกรานมณฑลลาวพวน หนองคายเมื่อรัตนโกสินทร์ศักราช 105 ตรงกับปีพุทธศักราช 2429 โดยกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมมีรับสั่งให้จัดสร้างเป็นอนุสาวรีย์ขึ้นสภาพของอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เป็นศิลปะประยุกต์แบบรูปทรงสี่เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน มีฐานเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 4 เมตร ส่วนสูง 10.10 เมตร ส่วนยอดเป็นรูปทรงกรวยเหลี่ยมปลายแหลม
อาณาเขตทิศเหนือ จดศาลากลางจังหวัดหนองคายทิศใต้ จดถนนเจนจบทิศและสนามกีฬากลางจังหวัด หนองคายทิศตะวันออก จดสถานีตำรวจภูธรจังหวัดหนองคายทิศตะวันตก จดศาลจังหวัดหนองคาย

อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ

ประวัติความเป็นมาเมื่อปีพุทธศักราช 2420 พระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เป็นเจ้าเมืองหนองคาย ได้เกิดศึกฮ่อขึ้นโดยพวกฮ่อได้ยกกองทัพเข้าตีเมือง เวียงจันทน์ในประเทศลาว แล้วตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ และตระเตรียมเสบียงอาหารไว้เพื่อโจมตี เมืองรายทางต่างๆ เรื่อยมาจนถึงเมืองหนองคาย ซึ่งขณะนั้นพระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคายไม่อยู่ ได้มอบให้ท้าวจันทร์ศรีสุราชรักษาเมืองแทน พอได้รับข่าวศึก ก็มิได้มีการตระเตรียมกองทัพไว้สู้ศึก ทำให้ราษฎรพากันอพยพครอบครัวหนีออกจากเมือง ทำให้พวกฮ่อยกกองทัพเข้าเมืองหนองคายส่วนท้าวจันทน์ศรีสุราชได้พาครอบครัวหนีไปอยู่บ้านสามพร้าว จังหวัดอุดรธานี และพระยา พิไสยสรเดช (หนู) เจ้าเมืองโพนพิสัยพร้อมด้วยกรมการเมืองก็พาราษฎรหนีออกจากเมืองไปเช่นเดียวกันเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ทรงทราบข่าวศึกฮ่อยกกองทัพเข้ามาตีเมืองหนองคาย จึงทรงมีพระบรมราชโองการ ให้พระยามหาอำมาตย์ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปปราบฮ่อที่เมืองอุบลราชธานีอยู่แล้ว ยกกองทัพเข้าเมืองหนองคายและสั่งให้จับ ท้าวจันทน์ศรีสุราช กับพระยาพิไสยสรเดชประหารชีวิตเสียทั้งคู่ จากนั้นพระยามหาอำมาตย์ จึงได้เกณฑ์กำลังจากเมือง นครพนม มุกดาหาร เขมราช นครราชสีมา และร้อยเอ็ดมาสมทบกันที่เมืองหนองคาย แล้วยกกองทัพออกไปตีพวกฮ่อจนถึงเมืองเวียงจันทน์ พวกฮ่อพ่ายแพ้ พากันหนีเข้าป่าไปเมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว พระยามหาอำมาตย์จึงได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองเวียงจันทน์มาเป็นเชลยลงมาไว้ที่เมืองหนองคาย แล้วจึงยกกองทัพกลับกรุงเทพ ฯในปีพุทธศักราช 2427 พวกฮ่อรวบรวมกำลังกันได้ก็ยกกองทัพเข้าโจมตีเมืองต่างๆ อีกทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนอยู่เนืองๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู้หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้มหาดไทยเมืองนครราชสีมายกกองทัพไปปราบพวกฮ่อ จนแตกหนีไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองขวาง และทุ่งเชียงคำในปีพุทธศักราช 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนุกูล และพระยา ศรีสุริยราชวรานุวัตร ยกกองทัพขึ้นไปปราบพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ เมื่อวันพุธ ขึ้น 14 ค่ำเดือน 4 เวลาประมาณ 2 โมงเช้า การรบถึงขั้น ตะลุมบอลพวกฮ่อสู้ไม่ได้จึงถอยหนีไป พระยาราชนุกูลถูกลูกปืนของข้าศึกแข้งแตกเดินไม่ได้ ในเวลา 4 โมงเย็น พวกฮ่อรวบรวมกำลังกัน ยกกองทัพมาตีเพื่อยึดค่ายคืนอีกแต่ไม่สำเร็จ กองทัพไทยยกเข้าไปล้อมพวกฮ่อไว้นาน 7 วัน พวกฮ่อจึงขอเจรจาสงบศึกโดยขอให้ไทย ยกกองทัพกลับ แล้วจะมอบสิ่งของในค่ายฮ่อให้ครึ่งหนึ่ง แต่กองทัพไทยไม่ยอมเพราะไม่ไว้ใจพวกฮ่อเพื่อให้การปราบพวกฮ่อเป็นไปอย่างรวดเร็วเด็ดขาด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ “กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม” คุมกองทัพ ขึ้นไปสมทบ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงดำรัสให้พระอมรวิไสยสรเดช (โต บุญนาค) ม.ร.ว.วรุณ พระยาสุริยเดช พระราชวรรินทร์ และพระเจริญราชอาณาเขตยกกองทัพไปสมทบ กองทัพไทยได้เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายของพวกฮ่อจนฮ่อแตกหนีไป กองทัพจึงได้ยก กองทัพกลับเมืองหนองคาย เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ สงบเรียบร้อยแล้ว กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงโปรด ให้สร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อขึ้นที่ เมืองหนองคาย เพื่อบรรจุอัฐิทหารจากกรม กองต่างๆ ที่เสียชีพเพื่อชาติในครั้งนั้น ดังนี้1. กรมทหารอาสาวิเศษ2. กรมแปดเหล่า3. กรมฝรั่งแม่นปืน4. กรมทหารมาลา5. กรมสัสดี6. กรมเรือต้น7. กรมทหารมหาดเล็ก8. กรมการหัวเมืองที่ด้านข้างอนุสาวรีย์ ทั้ง 4 ด้านได้จารึกอักษรไว้ 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอักฤษ ภาษาจีนและภาษาลาว มีข้อความว่า

ปางนี้จักแสดงพจน์พร้อมผู้ภักดี
ในอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ระลึกตาม
ผู้กอปรด้วยภักดีดังอาภรณ์ประดับงาม
ชีพมลายขจรนามปรากฎเกียรตินิรันดร
สูญสุริย์จันทรจึงจะสูญซึ่งความดี
วายชีพทำการกิจโดยความสวามี
ภักดีต่อชุลีละอองบาททบมาลย์
ปวงปราชญ์คงจักซ้องศรับแล้วสาธุการ
นับว่าเป็นทัยสูญขมีขลาดขยาดขย่อน
องอาจต่อราชกิจมิได้คิดแต่ความมรณ์
คณะเทพไตรสรจักชูช่วยอำนวยผล
นำขันธ์เสวยสุขนฤทุกข์บได้ผล
สุขขกิจจงจักดลประโลกยับแปรปรวน

สุดท้ายมีคำจารึกไว้ว่า “อนุสาวรีย์นี้ได้เปิดแต่ศักราช 1247 ควบ 1248 พุทธศักราชล่วงแล้ว”
การบูรณะและปฏิสังขรณ์ในปีพุทธศักราช 2492 จังหวัดหนองคาย ได้รับงบประมาณการบูรณปฏิสังขรณ์อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ของวีรบุรุษ ผู้กล้าหาญของแผ่นดิน และประเทศชาติอันเหมาะสม คณะกรรมการจังหวัดหนองคายจึงได้ย้ายสถานที่ก่อสร้าง อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ มาสร้างใหม่อย่างโดดเด่น เป็นสง่าอยู่ ณ บริเวณสามแยกทางเข้าเมืองหนองคาย ด้านหลังศาลากลางจังหวัดหนองคาย จนปัจจุบัน
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เป็นอนุสรณ์สถานที่กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ได้จัดสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของเหล่าทหารของชาติ ที่เสียสละชีวิต เพื่อป้องกันประเทศชาติในการปราบพวกฮ่อ ในสมัยรัชกาลที่ 5 และในวันที่ 10 มีนาคม ของทุกปี จังหวัดหนองคาย จะประกอบพิธีบวงสรวง ดวงวิญญาณของนักรบไทย ที่เสียสละชีวิต ในการปราบฮ่อ พร้อมกับมีการแสดงมหรสพเฉลิมฉลองสมโภช งานตลอด 5 วัน 5 คืน ณ บริเวณอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ