วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

อองซาน ซูจี ถูกยึดรางวัลเสรีภาพแห่งอ็อกซ์ฟอร์ด ปมความขัดแย้งโรฮิงญา

อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ถูกยึดรางวัลเสรีภาพแห่งอ็อกซ์ฟอร์ดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่สภาเมืองออกซ์ฟอร์ด มีมติถอดเธอออกจากรางวัลเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ผลการลงคะแนนเสียงของสภาเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดตัดสินให้ยึดรางวัลเสรีภาพแห่งอ็อกซ์ฟอร์ดคืนจากอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา อย่างเป็นทางการ โดยอ้างว่า สืบเนื่องมาจากการที่เธอนิ่งเฉยต่อสถานการณ์กดขี่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมา โดยสภาเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดแถลงว่าเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดให้ความสำคัญกับการเป็นเมืองที่มีความหลากหลายและมีมนุษยธรรม ซึ่งการให้รางวัลอันทรงเกียรตินี้กับผู้ที่หันหลังให้กับความรุนแรงทำให้ชื่อเสียงของสภาต้องเสื่อมเสีย

แมรี คลาร์กสัน สมาชิกคนหนึ่งของสภาเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด ให้สัมภาษณ์ว่า สภาหวังว่าการยึดรางวัลอันทรงเกียรตินี้คืนจากอองซาน ซูจี จะช่วยเป็นเสียงเล็กๆเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชาวโรฮิงญาได้บ้าง

นางอองซาน ซูจี ได้รับรางวัลดังกล่าวเมื่อปี 1997 ในฐานะที่เป็นผู้นำต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาอย่างสงบ ซึ่งการยึดรางวัลที่เคยมอบให้เป็นสิ่งที่สภาเมืองอ็อกซ์ฟอร์ดไม่เคยทำมาก่อน โดยก่อนหน้านี้ วิทยาลัยเซนท์ ฮิวจ์ ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ก็ได้ปลดภาพวาดของอองซาน ซูจี ที่แขวนไว้ออกจากห้องโถงของทางเดินเข้าอาคาร เช่นกัน

ก่อนหน้านี้ นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมา แถลงการณ์ออกโทรทัศน์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโรฮีนจาในรัฐยะไข่

โดย นางซูจีระบุว่า เมียนมากำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยของพม่าอาจจะยังไม่สมบูรณ์ จึงขอให้ประชาคมโลกมีความเชื่่อมั่นและศรัทธา

 
“เมียนมาเป็นประเทศที่สลับซับซ้อน และผู้คนยังคาดหวังว่าเราจะแก้ปัญหาได้ในเวลาอันสั้น แต่รัฐบาลของเราอยู่มาได้แค่สิบแปดเดือน ซึ่งยังสั้นที่จะจัดการปัญหาต่างๆ อย่างที่มีคนคาดหวัง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่พยายามจัดการปัญหาพวกนี้”

“ในขณะนี้นานาชาติสนใจเรื่องปัญหาโรฮีนจา ซึ่งเมียนมาไม่ห่วงเรื่องที่นานาประเทศจับตาเพราะเป็นเรื่องที่มีพันธะสัญญากับนานาชาติอยู่แล้ว แต่เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมปีที่แล้ว มีกลุ่มมุสลิมใช้กำลังโจมตีตำรวจ ทำให้เกิดปัญหาตามมา มีคนถูกฆ่าตาย หลายคนหนีไปบังคลาเทศ ทางการพยายามแก้ปัญหาและให้สังคมอยู่กันอย่างกลมเกลียวให้ประเทศปกครองด้วยกฎหมาย และเชิญ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย แต่ก็ยังไม่ประสบผล”

“วันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ถูกโจมตีอีก รัฐบาลประกาศให้กลุ่มกองกำลังโรฮิงญาเป็นกลุ่มก่อการร้าย รัฐบาลไม่มีเจตนาจะหลบเลี่ยงความรับผิดชอบ เราประณามการใช้ความรุนแรง และต้องการรื้อฟื้นการใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่มีหลักปฏิบัติอย่างระมัดระวัง ไม่ทำอันตรายต่อประชาชนที่บรืสุทธิ์ การละเมิดสิทธิจะต้องได้รับการสะสางในเวลาต่อไป”

“เราเห็นใจคนที่ได้รับผลกระทบไม่ว่ามุสลิมหรือกลุ่มคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ อีกหลายกลุ่ม มีการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายนเป็นต้นมา”