วันเสาร์ 20 เมษายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

“ก.ศ.ร.กุหลาบ” ไม่ใช่ไพร่ แต่เป็นนักวิชาการนอกรีต โดย ไกรฤกษ์ นานา

อีกด้านหนึ่งของ “ก.ศ.ร.กุหลาบ” ในมุมมองของราชสำนัก โดย ไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการทางประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์มีมุมมองได้ ๒ ด้านเสมอ ถ้ามีด้านบวกก็ต้องมีด้านลบ ถ้ามีผู้แพ้ก็ต้องมีผู้ชนะ และถ้ามีคนถูกก็ต้องมีคนผิด บางทีอาจมีมากกว่า ๒ ด้านด้วยซ้ำ คือไม่ใช่ทั้งถูกและผิด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองประวัติศาสตร์จากแง่มุมไหน บางครั้งคนมักจะพูดว่าผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์ แต่ถ้าเรามองประวัติศาสตร์จากมุมมองของผู้แพ้บ้าง ก็จะเห็นสิ่งที่ปิดบังซ่อนเร้นอยู่ก็ได้ ในกรณีของคนดังจากอดีต เช่นก.ศ.ร.กุหลาบ นั้นมีทั้งด้านบวกและลบให้พิจารณา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้น้ำหนักด้านไหนมากกว่ากัน


ผมมีโอกาสอ่านบทความจากปก (Cover Story) เกี่ยวกับเรื่องราวของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในวารสารอ่าน ฉบับเดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๕๔ อ่านจบเดียวไม่พอต้องอ่าน ๒ จบ จะได้เข้าใจความคิดเห็นของท่านผู้เขียนที่ตีแผ่ได้ละเอียดลออ แสดงถึงการค้นคว้าข้อมูลมาเป็นอย่างดี ด้วยความเคารพในทัศนะต่างๆ ที่ท่านนำเสนอ
เมื่ออ่านจบก็รู้ถึงความศรัทธาของผู้เขียนที่เชื่อว่านายกุหลาบถูกปรักปรำให้ตกเป็นจำเลยของสังคมโดยไม่เป็นธรรม ในยุคที่ประชาชนเดินดินไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งเขียนขึ้นโดยชนชั้นศักดินาเป็นส่วนใหญ่ งานเขียนของนายกุหลาบจึงมีแนวโน้มจะปฏิวัติแนวคิดของศักดินาโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้ทัศนะของประชาชนระดับรากหญ้าด้วยกันจึงเห็นสมควรให้น้ำหนักความชอบธรรมต่อการกระทำของนายกุหลาบว่าไม่ควรได้รับโทษใดๆ
แต่นั่นก็เป็นเพียงมุมมองด้านเดียวเท่านั้น ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง พฤติกรรมชอบกลของนายกุหลาบยังไม่ได้รับการชี้แจงว่าเขาได้ทำความผิดอะไรในสายตาของสังคมในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงถูกปรามาสว่ากระทำเกินกว่าเหตุจากคณะตุลาการที่ทางการตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาความผิดของเขาโดยเฉพาะประธานคณะตุลาการเป็นพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่คนในสังคมให้ความเคารพนับถืออย่างมาก ท้ายที่สุดคำตัดสินก็ได้รับความเห็นชอบจากพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นที่รักใคร่ของพสกนิกรชั้นรากหญ้าทั่วทั้งแผ่นดินในเวลานั้น ซึ่งก็มิได้มีคนชั้นรากหญ้าคนใดทัดทานหรือตั้งข้อสังเกตว่าเขาถูกปรักปรำจนเกินไปในสมัยนั้น
อนึ่ง คดีของนายกุหลาบเป็นคดีที่โด่งดังมากในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ สมัยรัชกาลที่ ๕ โน่น เพราะบทความที่เขาเขียนขึ้นกระทบกระเทือนสถาบันเบื้องสูง เป็นเหตุให้รัชกาลที่ ๕ ทรงกริ้วและโปรดให้มีการไต่สวนเพื่อพิจารณาโทษ ซึ่งคดีนี้ก็หมดอายุความไปแล้วถึง ๑๑๑ ปี นับถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๔ นี้ แต่ก็ยังอุตส่าห์มีคนในสมัยปัจจุบันที่คิดว่าเขาไม่สมควรได้รับโทษทัณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น และต้องการรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาอีก
ผมจึงเห็นความจำเป็นต้องนำข้อมูลการไต่สวนของทางการที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในบทความนั้นมาเปิดเผยอีกครั้งเพื่อให้เห็นมุมมองอีกด้านหนึ่งที่ถูกปิดบังไว้

 

การที่คนสมัยปัจจุบันเขียนวิจารณ์ในทำนองให้ท้ายนายกุหลาบว่าเขาถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม อาจสร้างความสับสนให้เข้าใจผิดว่าเขาถูกกล่าวหาโดยไม่มีมูลความจริง ดังนั้นควรที่เราจะกลับมาพินิจพิจารณาใหม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่อีกฝ่ายหนึ่งด้วย ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญ เพราะคู่กรณีของนายกุหลาบไม่ได้อยู่ในสถานที่ปกป้องตนเองได้

ก่อนอื่น ประเด็นใหม่ที่นายกุหลาบถูกมองว่าเป็น “ไพร่” โดยแฟนพันธุ์แท้นั้นเป็นการหลงประเด็น การอุปโลกน์ว่า “นายกุหลาบเป็นไพร่ จึงผิดแหงๆ” นั้นเป็นการปรักปรำโดยปริยาย ในสมัยที่ไพร่ถูกมองว่าเป็นชนชั้น (ใหม่) ที่ควรได้รับการยอมรับอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๓-๕๔ และถูกนำมาเชื่อมโยงกับการเมืองของชนชั้นรากหญ้าในปัจจุบัน ที่เรียกตัวเองว่าไพร่โดยไม่จำเป็นก็เพื่อให้เห็นว่านายกุหลาบอยู่คนละขั้วกับอำมาตย์ ทั้งที่สถานะนี้ถูกยกเลิกไปนานแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕

กุหลาบไม่ใช่ไพร่ แต่เป็นนักวิชาการนอกรีต

ทว่า ในความเป็นจริงแล้วนายกุหลาบไม่ใช่ไพร่ เขาเป็นลูกผู้ดี เป็นคนมีการศึกษา  พูดภาษาอังกฤษได้ และเป็นคนมีรากฐานมาจากครอบครัวอำมาตย์  จึงคบค้ากับชาวต่างชาติซึ่งเป็นชาวไฮโซในสังคมชั้นสูงของคนมีระดับในกรุงเทพฯ ดังเช่นที่ได้รับการยืนยันว่านายกุหลาบมีลูกค้า เช่น นายเยรินี และบรรดาฝรั่งในยุคนั้นที่ไหว้วานให้นายกุหลาบกว้านซื้อหนังสือเก่าเพื่อจัดหาส่งออกไปไว้ตามห้องสมุดในต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายของนายกุหลาบ ซึ่งมีทั้งพระ พราหมณ์ และข้าราชการทุกระดับชั้น
นายกุหลาบจึงมีภาพลักษณ์ที่ห่างไกลจากชนชั้นไพร่แบบลิบลับ เขามีพื้นเพมาจากครอบครัวขุนนางชั้นอำมาตย์มาแต่ครั้งบรรพบุรุษ โดยต้นตระกูลของเขามีนามว่าพระทุกขราษฎร์ มีตำแหน่งเป็นกรมการเมืองนครราชสีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระทุกขราษฎร์มีลูกหลานต่อมาลงมาถึงนางตรุศ ซึ่งเป็นชั้นที่ ๕ นางตรุศได้แต่งงานกับนายเสง มีบุตรคนสุดท้องชื่อนายกุหลาบ
เมื่อท่านตรุศมารดาคลอดแล้วจึงได้พาทารกกุหลาบลงเรือชะล่ากลับไปยังบ้านของตน มีบ่าวไพร่พายเรือติดตามมาหลายลำ แต่ยังไม่ทันจะถึงบ้านก็มีนกแร้งตัวหนึ่งบินโผลงมาเกาะที่กราบเรือตรงที่วางเบาะทารกนั้น แร้งนั้นก้มหัวลงมาดมที่ทารกแล้วก็ผละบินออกไปจากเรือ ทั้งมารดาและญาติมิตรพากันตกตะลึงทำอะไรไม่ถูกตามๆ กัน
เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้กันในหมู่ญาติใกล้ชิด โดยเฉพาะญาติผู้ใหญ่ต่างพากันลงความเห็นว่าทารกนั้นเป็นบุตรอุบาทว์ ซึ่งบิดามารดาจะเลี้ยงดูไว้ไม่ได้ เว้นเสียแต่ท่านผู้มีบุญบารมีและมีบรรดาศักดิ์สูงเท่านั้นจึงจะเลี้ยงได้
และนี่คือต้นเหตุที่นายกุหลาบจะได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ในรั้วในวังเหตุเพราะเป็นบุตรอุบาทว์ คนธรรมดาจะเลี้ยงไว้ก็จะเป็นกาลกิณี จึงถูกส่งเข้าไปถวายตัวอยู่ในอุปการะของพระราชธิดาของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินในเวลาต่อมา
พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๓ ที่ทรงรับเลี้ยงนายกุหลาบ มีพระนามว่าพระองค์เจ้ากินรี ประทานพระเมตตากรุณาแก่นายกุหลาบอย่างหาที่เปรียบมิได้ เริ่มตั้งแต่ทรงสั่งสอนให้อ่านเขียนจนนายกุหลาบมีอายุได้ ๑๑ ปี จึงมีรับสั่งให้เจ้าพนักงานนำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กไล่กาในรัชกาลที่ ๓
นายกุหลาบได้รับการอบรมสั่งสอนเฉกเช่นลูกขุนนางทั่วไป ได้เรียนหนังสือบาลี สันสกฤต และขอม กับพระราชมุนี (เอี่ยม) แล้วจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ได้รับพระราชทานนามว่าสามเณรเกศะโร (ต่อมาใช้เป็นอักษรย่อนำหน้าชื่อว่า ก.ศ.ร.กุหลาบ – ผู้เขียน)
ต่อมานายกุหลาบก็หันมาเอาดีทางโลกโดยสึกออกมาพักอาศัยที่ตำหนักหม่อมเจ้าหญิงน้อยหน่า บริเวณป้อมพระสุเมรุ บางลำพู แต่พระองค์เจ้ากินรีผู้ทรงชุบเลี้ยงนายกุหลาบดั่งบุตรบุญธรรมก็ยังประทานข้าวของและอุปการะนายกุหลาบมาโดยตลอด นายกุหลาบเคยทำบัญชีให้เห็นของมีค่าที่ได้รับประทานมามีเพชรพลอย ทอง นาค เงิน และของแปลกๆ เช่น หีบเสียงของฝรั่ง เป็นต้น

พระเมตตาของพระองค์เจ้ากินรีดำเนินต่อมา แม้เมื่อนายกุหลาบออกเรือนแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๐๒  เมื่อนายกุหลาบอายุ ๒๕ ปี ก็ประทานเงินซื้อบ้าน เรือกสวนไร่นา และจัดหาผู้ใหญ่ไปสู่ขอสตรีชื่อหุ่นมาเป็นภรรยา หุ่นเป็นลูกพระพี่เลี้ยงของพระองค์เจ้ากินรีเอง และยังดูเหมือนว่าเจ้านายฝ่ายในมีพระเมตตานายกุหลาบเหมือนลูกหลานแท้ๆ โดยเมื่อนายกุหลาบมีลูกสาวคนแรก พระองค์เจ้ากินรีก็โปรดส่งคนเฝ้าทารกถึง ๓ คนมาเลี้ยงดู ทรงเย็บมุ้งและเบาะประทาน ทรงทำบายศรีเอง และทรงทำขวัญทารกน้อยเป็นทองคำถึง ๕ ตำลึง
หลังสึกจากพระแล้ว นายกุหลาบก็เข้ารับราชการเป็นสมุห์บัญชีในพระองค์เจ้าหญิงกินรีระยะหนึ่ง จากนั้นจึงไปเป็นเสมียนอยู่กับโรงสีไฟของฝรั่งถึง ๕ แห่ง ในจำนวนนี้มีห้างฝรั่งที่เก่าแก่และดังที่สุดของรัตนโกสินทร์ ชื่อห้างมากัว (A. Markwald Co., Ltd) จนคนเรียกติดปากว่า “เสมียนกุหลาบ” การประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างฝรั่งนานถึง ๒๕ ปี ได้พลิกผันชีวิตของนายกุหลาบสู่โลกกว้าง เขามีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ เช่น อินเดีย จีน ญวน มลายู และชวา บางตำราว่าได้ไปถึงอังกฤษและทวีปยุโรป ส่งเสริมให้นายกุหลาบมีรสนิยมไปในทางฝรั่งตะวันตก เช่น นั่งโต๊ะยาวรับประทานอาหาร ชอบจัดเลี้ยงเพื่อนฝูงตามแบบตะวันตก รวมไปถึงการชอบคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตก
การที่นายกุหลาบคลุกคลีกับฝรั่งนานหลายทศวรรษ เขาจึงเข้าสังคมกับพวกฝรั่งได้ดีและสามารถพูดภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว แถมยังโชคดีได้ครูฝรั่งบาทหลวงคนเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ คือ บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ เขาจึงไม่ใช่ชาวบ้านชั้นธรรมดาอย่างแน่นอน แต่มีชีวิตอยู่ในแวดวงชนชั้นอำมาตย์มาตลอด

ดังนั้น หากมีผู้เข้าใจผิดโดยเขียนบรรยายว่าเมื่อนายกุหลาบหาญกล้าดัดแปลงประวัติศาสตร์ของโบราณ เป็นความผิดเพราะเขาเป็นไพร่ แต่กลับอวดรู้ในสิ่งที่เขาไม่สมควรจะรู้ อวดรู้ในเรื่องที่เป็นสมบัติของชนชั้นอำมาตย์ จึงถูกดูแคลนจากวงวิชาการอำมาตย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ และปี พ.ศ. ๒๔๔๙ จึงเป็นการหลงประเด็น “ประการแรก” และเป็นการประเมินภาพลักษณ์ของนายกุหลาบต่ำกว่าความจริง

ถ้าจะอธิบายคุณสมบัติส่วนตัวของนายกุหลาบ ก็พอจะอนุมานได้ว่าเขาเป็นนักวิชาการนอกรีต ที่อวดรู้ อวดเก่ง และเย่อหยิ่งในความรอบรู้ของตนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติของพระราชวงศ์ต่างๆ ในอดีตอย่างหาตัวจับยาก แต่มีความคิดฟุ้งซ่านที่จะขยายความตามเบาะแสที่ตนรู้มาอย่างไม่มีขอบเขตโดยใช้ชั้นเชิงทางวิชาชีพและช่องทางที่ตนมีอยู่ ได้แก่ หนังสือพิมพ์และใบปลิวโฆษณาต่างๆ ที่เอกชนทั่วไปไม่มีในยุคนั้น

กุหลาบทำอะไรไว้จึงกลายเป็นคนผิด

เมื่อตัดปัจจัยด้านชนชั้นออกไป คดีของนายกุหลาบก็เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวกับการสบประมาท การใส่ร้ายป้ายสีและการให้ข้อมูลเป็นเท็จกับเอกสารของทางการ ที่สำคัญคือการจาบจ้วงเบื้องสูง อีกทั้งลบหลู่สมเด็จพระสังฆราชด้วยวาจาและบทประพันธ์ ละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือของทางราชการ กระทำการโดยพลการโดยขาดการใคร่ครวญไตร่ตรอง  ให้เป็นที่เสื่อมเสียต่อบุคคลและสถาบัน ผิดต่อศีลธรรมจรรยา และสามัญสำนึกของปัญญาชนที่น่านับถือในสังคมในฐานะที่เขาเป็นบุคคลสาธารณะคนหนึ่ง
ความเป็นผู้สันทัดกรณีและมีประสบการณ์ในแวดวงวิชาการ ทั้งยังเคยเข้านอกออกในกับราชสำนักฝ่ายหน้าฝ่ายในมานานส่งเสริมให้นายกุหลาบรู้จักมักคุ้นกับปัญญาชนชั้นอำมาตย์เป็นอย่างดี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงยืนยันเรื่องนี้ไว้ว่า
“สมัยนั้น (ดูเหมือนในปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙) เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท กรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นอักษรสารโสภณ ทรงบัญชาการกรมอาลักษณ์ดูแลรักษาหนังสือหอหลวง หาที่เก็บหนังสือหอหลวงไม่ได้จึงให้ขนเอาไปรักษาที่วังของท่าน
พอปี พ.ศ. ๒๔๒๔ มีงานฉลองอายุพระนครครบ ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ดำรัสชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการตลอดจนคหบดีที่มีใจจะช่วย ให้จัดของต่างๆ อันควรอวดควรรู้และความคิดมาตั้งให้คนดู กรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงรับอาสาแสดงหนังสือไทยฉบับเขียน เอาสมุดในหอหลวงที่มีมาแต่โบราณมาตั้งอวดห้องหนึ่ง นาย ก.ศ.ร. กุหลาบรับอาสาแสดงหนังสือไทยสมัยเมื่อแรกพิมพ์ห้องหนึ่งอยู่ติดกับห้องกรมหลวงบดินทร์ฯ ฉันเคยไปดูทั้ง ๒ ห้องและเริ่มรู้จักตัวนายกุหลาบเมื่อครั้งนั้น
นายกุหลาบมีโอกาสเข้าไปดูหนังสือหอหลวงมีเรื่องโบราณคดีต่างๆ ที่ตัวไม่เคยรู้อยู่เป็นอันมากก็ติดใจอยากได้สำเนาไปไว้เป็นของตนเอง จึงตั้งหน้าตั้งตาประจบประแจงกรมหลวงบดินทร์ฯ ตั้งแต่ที่ท้องสนามหลวงจนเลิกงานแล้ว ก็ยังตามไปเฝ้าแหนที่วังต่อมา จนกรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงพระเมตตา นายกุหลาบทูลขอคัดสำเนาหนังสือหอหลวงบางเรื่อง แต่กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ประทานอนุญาต ตรัสว่าหนังสือหอหลวงเป็นของต้องห้ามมิให้ใครคัดลอก นายกุหลาบจนใจจึงคิดทำกลอุบายทูลขออนุญาตเพียงขอยืมไปอ่านแต่ครั้งละเล่ม และสัญญาว่าพออ่านแล้วจะรีบส่งคืนในวันรุ่งขึ้น กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ทรงระแวงก็ประทานอนุญาต นายกุหลาบจึงไปว่าจ้างนายทหารมหาดเล็กที่รู้หนังสือเตรียมไว้สองสามคน  สมัยนั้นฉันเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก รู้จักตัวผู้ที่รับจ้างนายกุหลาบคนหนึ่งชื่อนายเมธ
ตามคำพวกทหารมหาดเล็กที่รับจ้างมาเล่าว่าเอาเสื่อผืนยาวปูที่ในพระระเบียง และเอาสมุดคลี่วางบนเสื่อตลอดเล่ม ให้คนตัดแบ่งกันคัดคนละตอน คัดหน้าต้นแล้วพลิกเอาสมุดหน้าปลายขึ้นคัด พอเวลาบ่ายก็คัดสำเนาให้นายกุหลาบได้หมดทั้งเล่ม แต่พวกมหาดเล็กที่ไปรับจ้างคัดก็ไม่รู้ว่านายกุหลาบได้หนังสือมาจากไหน และจะคัดเอาไปทำไม เห็นแปลกที่ให้รีบคัดให้หมดเล่มภายในวันเดียว ได้ค่าจ้างแล้วก็แล้วกัน แต่ฉันได้ยินเล่าก็ไม่เอาใจใส่ ในสมัยนั้นนายกุหลาบลักคัดสำเนาหนังสือหอหลวงด้วยอุบายอย่างนี้มาช้านานเห็นจะกว่าปี แม้จนพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง ๔ รัชกาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง นายกุหลาบก็ลักคัดสำเนาเอาไปได้ แต่เมื่อนายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปแล้ว เกิดหวาดหวั่นด้วยรู้ตัวว่าลักคัดสำเนาหนังสือฉบับหลวงที่ต้องห้าม เกรงว่าถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการเห็นเข้าจะเกิดความ จึงคิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวน หรือเพิ่มความแทรกลงในสำเนาที่คัดไว้ให้แปลกจากต้นฉบับเดิม เมื่อเกิดความจะได้อ้างว่าเป็นหนังสือฉบับอื่นต่างๆ มิใช่ฉบับหลวง เพราะฉะนั้นหนังสือเรื่องต่างๆ ที่นายกุหลาบคัดไปจากหอหลวงเอาไปทำเป็นฉบับใหม่ขึ้น จึงมีความที่แทรกเข้าใหม่ระคนปนกับความตามต้นฉบับเดิมหมดทุกเรื่อง”
และนั่นก็คือตัวจุดชนวนให้เรื่องเกิดขึ้น คำบงการของนายกุหลาบบ่งชี้ว่าเป็นการต่อยอดทางธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของตนในภายภาคหน้า

การหลงประเด็น “ประการที่ ๒” เกิดจากการที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงเป็นพยานปากเอก และคำให้การของพระองค์มีประโยชน์ต่อรูปคดี ชี้หลักฐานที่สามารถมัดตัวนายกุหลาบได้ เพราะ ๑. ทรงรู้จักนายกุหลาบเป็นส่วนตัว และรู้ซึ้งถึงนิสัยใจคอของนายกุหลาบดีกว่าคนทั่วไป ๒. ทรงทราบเบื้องหลังการคัดลอกข้อมูลของนายกุหลาบจากต้นตอคือสมุดหอหลวง และ ๓. ทรงรู้จักกับมหาดเล็กที่ถูกจ้างวานโดยนายกุหลาบ ซึ่งต่อมาให้การซัดทอดจำเลย ความผิดของนายกุหลาบนั้นชัดแจ้งแดงแจ๋อยู่แล้ว จึงพอจะสรุปสำนวนในเบื้องต้นได้ว่าคดีนี้มีมูลความจริง ไม่ใช่เรื่องเดาส่งเดชหรือใส่ร้ายกันแบบโคมลอย
แต่พยานปากเอกกลับถูกมองว่ายัดเยียดข้อหาให้จำเลยมากเกินไป และพลอยถูกหางเลขไปด้วยว่าตั้งข้อหาให้นายกุหลาบอย่างมีอคติ โดยนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่บางคนปรักปรำว่าข้อมูลของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น และทรงเป็นผู้เดาเอาง่ายๆ แบบเท็จไม่มีมูลทีเดียว

 


การสบประมาท “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” ผู้ทรงเป็นครูใหญ่ของวงการประวัติศาสตร์แห่งชาติ และเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เรื่องนายกุหลาบ ย่อมฟังไม่ขึ้นและสวนทางกับสถานะอันน่าเชื่อถือของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ซึ่งแม้แต่องค์การสหประชาชาติ (คือยูเนสโก) ที่ไม่แยแสต่อคำสบประสาทสมาชิกคนใดก็ยังเชื่อมั่นในพระองค์ขนาดยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากประเทศไทย และทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้ พระจริยวัตรสำคัญอันเป็นหลักในการพิจารณาคัดเลือกสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็คือคุณูปการของพระองค์ต่อประวัติศาสตร์ไทย  จากการรวบรวม รักษา อนุรักษ์ และเผยแพร่เอกสารหนังสืออันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบรรพบุรุษไทย โดยการจัดตั้งหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร (ต่อมาคือหอสมุดแห่งชาติ) ย่อมเป็นเครื่องการันตีคุณสมบัติเพียงพออยู่แล้ว หักล้างคำครหาใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม

การหลงประเด็น “ประการที่ ๓” เป็นการเข้าใจผิดเพราะความผิดของนายกุหลาบเป็นการเปรียบเทียบคดีความในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีสมัยรัชกาลที่ ๙ ไม่ได้ เนื่องจากกรอบการพิจารณาไม่เหมือนกัน ย่อมเปรียบเทียบกันไม่ได้ในเชิงทฤษฎี
การตั้งข้อสันนิษฐานโดยคนสมัยปัจจุบันว่า นายกุหลาบมีความชอบธรรมที่จะดัดแปลงข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดยอ้างว่าเขาวิจารณ์แบบนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่นั้นเป็นการหลงประเด็นอย่างสิ้นเชิง และเป็นการตั้งสมมุติฐานผิดตั้งแต่แรก ดังพอจะสรุปได้อีกครั้ง ดังนี้
ประการที่ ๑ นายกุหลาบไม่ใช่ไพร่ แต่ถูกประเมินว่าเป็นไพร่
ประการที่ ๒ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงทราบมูลความผิดของนายกุหลาบดี ไม่ใช่ทรงกล่าวหาลอยๆ
ประการที่ ๓ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอำนาจในการตัดสินอยู่ที่พระมหากษัตริย์ และไม่ใช่หน้าที่ของคนสมัยปัจจุบันจะโต้แย้งการตีความของคนในอดีต เพราะต่างกรรมต่างวาระกัน การเปรียบเทียบประวัติศาสตร์แบบไม่คำนึงถึงห้วงเวลานั้นเป็นการหลงยุคโดยปริยาย

นายกุหลาบกับพฤติกรรมลวงแบบซ้ำซ้อน

หนังสือหอหลวงที่นายกุหลาบคัดลอกไปจะกลายเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาอย่างดีให้เขาแก้ไขดัดแปลงแล้วผลิตซ้ำออกสู่สาธารณะด้วยความชะล่าใจ หากนายกุหลาบแอบทำในขอบเขตเล็กๆ ก็น่าจะหลบพ้นสายตาของปัญญาชนทั้งหลายไปได้ แต่เขากลับตีพิมพ์ออกงานใหญ่เป็นจำนวนหลายพันฉบับ ทั้งยังหาญกล้าทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้ข้อมูลที่แต่งเติมออกไปกระทบกระเทือนต้นฉบับ และเป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทโดยมีคดีปลีกย่อยต่อไปนี้
ครั้งที่ ๑ เกิดในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ นายกุหลาบเอาหนังสือซึ่งคัดลอกจากหอหลวงไปดัดแปลงสำนวนเสร็จเป็นเรื่องแรก ส่งไปให้หมอสมิธที่บางคอแหลมพิมพ์โดยตั้งชื่อหนังสือว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” อันเป็นคำให้การของพระเจ้าอุทุมพรกับข้าราชการไทยที่พม่ากวาดต้อนไปคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พอหนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายใครก็ต้องการอ่าน เพราะฉบับเดิมเก็บซ่อนอยู่ในหอหลวง แต่ไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบเอาข้อมูลมาจากไหน ผู้ชำนาญทางโบราณคดี รวมถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงสังเกตว่ามีสำนวนใหม่ปนอยู่ด้วย จนจับได้ว่ามีคนแต่งเติมขึ้นใหม่
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบริภาษการกระทำของนายกุหลาบว่า “ผู้ซึ่งทำลายของแท้ให้ปนด้วยของไม่แท้เช่นนั้น ก็เหมือนหนึ่งปล้นลักทรัพย์สมบัติของเราทั้งปวงซึ่งควรจะได้รับ แล้วเอาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ลงเจือปนเสียจนขาดประโยชน์ไป  เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก ไม่ควรเลยที่ผู้ใดซึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นผู้ลักหนังสือจะประพฤติเช่นนี้”


ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ นายกุหลาบก็จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ต้องห้ามขึ้นชื่อ “สยามประเภท” มีสร้อยว่า “สุนทโรวาทพิเศษ” โดยได้ชี้แจงแนวทางไว้ว่าจะเป็นสรรพตำราความรู้ความฉลาดทางคติธรรมและคติโลก เขียนบทความประเภทชี้แจงภูมิความรู้ ตีความ และตอบข้อข้องใจของผู้อ่าน ออกเป็นฉบับรายเดือน พิมพ์เรื่องที่เป็นโบราณคดีและเกร็ดประวัติศาสตร์ ซึ่งจริงบ้างไม่จริงบ้าง ทั้งยังมีเรื่องเกี่ยวกับการขอดค่อนสังคม และความคิดเห็นตามทัศนะของตนเอง

ครั้งที่ ๒ ครั้นปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๓ นายกุหลาบได้เขียนเรื่องกระทบกระเทือนข้อมูลภายในราชสำนักว่าด้วยอธิบายแบบแผนงานพระบรมศพครั้งกรุงศรีอยุธยา และงานพระเมรุของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ลงในหนังสือพิมพ์สยามประเภท ว่างานพระเมรุที่ทำในครั้งนั้นยังไม่ถูกต้องตามแบบแผนโบราณราชประเพณี โดยอ้างว่าตัวมีตำราเดิมที่เก่ากว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงกริ้วแล้วมีรับสั่งให้เรียกตัวนายกุหลาบมาสอบถาม เขาก็สารภาพว่าเป็นการแต่งคิดขึ้นมาเองเพื่ออวดภูมิความรู้ และไม่มีตำราอย่างใดตามที่อ้างไว้ ครั้งนี้เป็นแต่คาดโทษนายกุหลาบไว้ และโปรดให้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาประจำปีนั้น แต่หาได้ลงโทษนายกุหลาบอย่างใด

ครั้งที่ ๓ เกิดในระยะเดียวกัน คือ ปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๓ (ถ้านับตามปฏิทินปัจจุบันจะเป็นต้นปี ๒๔๔๔ เพราะปฏิทินเก่าเดือนสุดท้ายของปีคือมีนาคม – ผู้เขียน)
ครั้งนี้เป็นเรื่องราวใหญ่โต เพราะนายกุหลาบปลอมแปลงพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปแรก ผู้ทรงเป็นพระอาจารย์ใหญ่ของรัชกาลที่ ๕ มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ในพระองค์และเป็นพระอาจารย์ถวายข้อธรรมะให้ทรงศึกษาในระหว่างทรงผนวช เป็นผู้ที่ทรงเคารพนับถือตลอดมา แม้เมื่อทรงลาผนวชแล้ว ก็ยังเสด็จฯ ไปสรงน้ำสงกรานต์และประทับตรัสด้วยคราวละนานๆ
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) นับเป็นพระมหาเถระรูปที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับพระราชทานราชทินนามที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ อันเป็นราชทินนามสำคัญ สำหรับตำแหน่งพระสังฆราชตั้งแต่ขณะที่ยังไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช อันนับได้ว่าเป็นการพระราชทานเกียรติยศอย่างสูงเป็นกรณีพิเศษ

ดังนั้น เมื่อนายกุหลาบแต่งเติมพระประวัติแบบเดาสุ่มด้วยข้อความเป็นเท็จ แถมยังหาญกล้านำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๕ เป็นจำนวนมากถึง ๒,๐๐๐ ฉบับ สำหรับเป็นหนังสือแจกในงานพระเมรุสมเด็จพระสังฆราช โดยโฆษณาว่าตนเองรู้พระประวัติดี จึงโปรดให้มีการไต่สวนและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างทันท่วงที อันเป็นการรักษาพระเกียรติยศของพระกรรมวาจาจารย์ผู้ที่ทรงนับถืออย่างสูง มิให้เป็นเยี่ยงอย่าง

 

อีกด้านหนึ่งของ “ก.ศ.ร.กุหลาบ” ในมุมมองของราชสำนัก (จบ)

โดย ไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการทางประวัติศาสตร์

ความผิดของนายกุหลาบ ตามทัศนะของราชสำนัก

คดีเกี่ยวกับการแต่งเติมพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สา) นี้มิใช่คดีความทางโลกแบบธรรมดา แต่เป็นการตัดสินเพื่อความถูกต้องและจริยธรรมด้านจิตใจ ต้องใช้สติสัมปชัญญะในการสืบสวน และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในการตีความ คณะผู้พิพากษาจึงมิใช่ทีมลูกขุนแบบนักกฎหมายทั่วไป แต่เป็นคนนอกผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นผู้เคารพนับถือของคนทั้งหลายทั้งองค์ประธานทางโลกและทางธรรม บุคคลที่ได้รับคัดเลือกประกอบด้วย
๑. กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ  เป็นประธานฝ่ายธรรมะ ผู้ทรงคุณวุฒิทางสังฆการีกรรม
๒. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้านเรศร์วรฤทธิ์ ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล  ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มือกฎหมายทางโลกมีหน้าที่ดูแลความสงบสุขของสังคม
๓. พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เป็นปรมาจารย์ด้านการศึกษาแห่งรัตนโกสินทร์ และครูใหญ่โรงเรียนหลวงในพระบรมมหาราชวัง ผู้แต่งแบบเรียนภาษาไทยชุดแรก รวม ๖ เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิตินิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์ เป็นอาจารย์ใหญ่ด้านวิชาการที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๕
กระบวนการไต่สวนนายกุหลาบของผู้พิพากษาพิเศษคณะนี้มีความพิสดารกว่าคดีทั่วๆ ไป สำนวนการพิจารณาคดีและคำตัดสินตามทัศนะของราชสำนักระบุอยู่ในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕ มีไปมากับคณะผู้พิพากษา พร้อมบทสรุปชี้มูลความผิดของจำเลย ดังนี้

 

 

เรื่องไต่สวน ก.ศ.ร.กุหลาบ
(ฉบับที่ ๑๖๒)
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ที่ ๒๘/๑๔๓๙
วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๑๙

ด้วยนายกุหลาบได้นำหนังสือพิมพ์เปนเรื่องประวัติสมเด็จพระสังฆราชมาให้ ๒๐๐๐ เล่ม มีความประสงค์จะให้แจกในงานเมรุ เห็นว่าหนังสือที่นายกุหลาบเรียบเรียงแต่งชิ้นนี้  ไม่ควรจะแจกแก่ศิษย์หาทั้งปวง หรือคนอื่นๆ ทั่วไป เพราะเปนถ้อยคำอันไม่น่าเชื่อ จะหาให้คนทั้งปวงลุ่มหลงไปในถ้อยคำอันนายกุหลาบกล่าวเท็จปนจริงเช่นนี้ สมเด็จพระสังฆราชก็นับว่าเปนหลักเปนประธานเปนที่นับถือของคนเปนอันมาก จึงเห็นควรจะไต่สวนเรื่องประวัตินี้ ให้ได้ความว่านายกุหลาบกล่าวเท็จเพียงไร กล่าวจริงเพียงไร ขอให้กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ พระยาศรีสุนทรโวหารพร้อมกันไต่สวน แลให้มีอำนาจที่จะเรียกตัวนายกุหลาบกับทั้งเรื่องราวทั้งปวงมาไต่สวนได้จนตลอด แล้วให้ทำรายงานบอกมาให้ทราบ
สยามินทร
(ฉบับที่ ๑๖๓)
พระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์
ที่ ๙/๔๙๑
วันที่ ๒๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๙

ทูล กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงทราบ
ขอให้ทรงสังเกตความหน้าด้านของอ้ายกุหลาบ สยามประเภท วันพระแรม ๑๕ ค่ำ  เดือน ๔ มีเรื่องพระราชทานน้ำศพเจ้าวังน่า กล่าวคือกรมขุนนรานุชิต ตรงกับที่รับสั่งว่ามันลืมว่ากรมขุนนรานุชิตสิ้นพระชนม์ก่อนพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระปิ่นเกล้า มันไปนึกอ้อขึ้นมาจึงเอามาลงพิมพ์เปนที่ว่ารู้แล้ว ยังซ้ำปดแถมว่าเปนต้นเหตุ คือแปลว่า เปนครั้งแรก แต่อันที่จริงก็เห็นจะไม่ใช่มุสาวาท เพราะมันไม่รู้มันหมายว่าครั้งแรกจริงๆ นับแต่ที่หม่อมฉันจำได้ ยกพระองค์ใหญ่ประชุมวงษแลกรมขุนธิเบศร์เสีย เจ้าฟ้าอิศราพงษก็เสด็จ มันโกหกฤาโง่หาที่สุดมิได้เช่นนี้ จะโปรดอย่างไร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
สยามินทร
(ฉบับที่ ๑๖๕)
วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่ ๒๗ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙
ขอถวายพระพร

ตามกระแสพระบรมราชโองการที่ ๒๘/๑๔๓๙  ทรงพระกรุณาโปรดให้อาตมภาพ  กับกรมหลวงนเรศวรฤทธิ พระยาศรีสุนทรโวหาร พร้อมกันไต่สวนประวัติสมเดจพระสังฆราช ซึ่งนายกุหลาบพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่องานพระเมรุสมเดจพระสังฆราชนั้น อาตมภาพได้พร้อมด้วยกรมหลวงนเรศวรฤทธิ แลพระยาศรีสุนทรโวหาร เข้ากันเปนกรรมการตรวจสอบประวัติของสมเดจพระสังฆราช ในสมุดที่นายกุหลาบพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวาย  กับในสยามประเภทเล่ม ๔ ตอนที่ ๑๐ ตั้งแต่น่า ๓๓๖ ถึงน่า ๓๖๗ ได้พบข้อความมากๆ น้อยๆ กว่ากัน ทั้งสำนวนก็ไม่เปนอันเดียวกัน แต่ก็อ้างว่าเปนหนังสือที่ได้เรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวายทั้งสองแห่ง เมื่อพบข้อความในหนังสือสองฉบับนั้น มากน้อยกว่ากันเช่นนั้น จึงได้เก็บข้อความในหนังสือสองฉบับนั้นรวมเข้าด้วยกันปันเปน สองหมวดหัวข้อ คือ เรื่องสมเดจพระสังฆราชหมวด ๑ กึ่งความนอกจากเรื่องสรรพหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แลสืบสวนความเข้าประกอบได้ความว่านายกุหลาบผู้เรียบเรียงประวัตินั้น ประกอบด้วยโทษไม่ควรเปนที่เชื่อฟัง ๗ ประการ คือ
๑. เปนผู้แสดงความเท็จอวดอ้างตนให้เขาเชื่อถือ เช่น อวดอ้างตำราซึ่งไม่มีจริง
๒. เปนผู้ปั้นความที่ไม่มีจริงขึ้นลวงให้คนเชื่อถือผิดๆ เช่น แต่งข้อความไม่มีมูลขึ้นแล้ว อ้างว่าเก็บมาจากตำราชื่อนั้นชื่อนี้ ซึ่งไม่มีจริงบ้าง แซมเข้าไว้ในหนังสือที่ผู้อื่นแต่งบ้าง
๓. เปนผู้ทำลายความจริงซึ่งได้เปนไปแล้ว เช่น กล่าวเปิดเผยข้อความที่เปน ปฏิปักษ์แก่เหตุหรือข้อความซึ่งมีผู้กล่าวหรือแต่งไว้ในหนังสือซึ่งเปนจริงให้กลายเปนที่  สนเท่ห์
๔. เปนผู้รักษาหนังสือไม่ดี บันดาหนังสือที่นายกุหลาบมีอยู่ล้วนเปนของไม่คงตามเดิมทั้งนั้น
๕. เปนผู้เดาเอาง่ายๆ ซึ่งข้อความที่ตนไม่รู้ เช่น กล่าวถึงเรื่องสมเดจพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ เปนแต่เห็นพระสงฆ์ถือขวดน้ำไป ก็เดาว่าพระสงฆ์สรงพระศพต่อข้าราชการ
๖. เปนผู้เสิมข้อความที่เปนจริงให้มากไปกว่าเหตุ เช่น ข้อที่กล่าวว่าพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) แต่ครั้งยังบวชเปนพระศรีวิสุทธิวงษ์เปนพระกรรมวาจาจารย์ของสมเดจพระสังฆราชเมื่ออุปสมบทครั้งที่ ๒ ก็เปนความจริงที่รับรองกันอยู่ทั่วแล้ว แต่นายกุหลาบเสิมว่า มีในจดหมายเหตุโบราณ
๗. เปนผู้มักง่ายในการใช้ถ้อยคำสำนวน เช่น กรมหมื่นบวรรังสี สุริยพันธุ์  เรียกเปน กรมหมื่นบวรรังษีสุพันธุวงส์ หาได้ไตร่ตรองให้ถ่องแท้ก่อนไม่ แลประวัติสมเดจพระสังฆราชทั้งสองฉบับนั้น เปนเรื่องประกอบด้วยโทษไม่ควรเปนที่เชื่อถือ ๓ ประการ ปนคละกันอยู่แทบทั้งนั้นไป คือ
๑. เท็จไม่มีมูลทีเดียว เช่น กล่าววงษ์เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เปนต้น
๒. เท็จปนจริง คือ เค้าความเท็จ แต่กึ่งความจริง เช่นกล่าววงษ์สมเดจพระสังฆราชโยงเข้าเปนเชื้อสายของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เปนต้น
๓. จริงปนเท็จ คือ เค้าความจริง แต่กึ่งความเท็จ เช่น กล่าวเรื่องสมเดจพระสังฆราชแปลพระปริยัติธรรมได้ ๙ ประโยคแต่ครั้งยังเปนสามเณร ข้อนี้เปนความจริงที่รู้กันอยู่ แต่ข้อที่กล่าวว่า พระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลูบหลังเปนต้นนั้น เปนความเท็จนอกจากนี้ยังมีข้อที่กล่าวไม่สมต้นสมปลาย ซึ่งส่อความเท็จของผู้เรียบเรียงอีก เช่นกล่าวถึงเรื่องอาจารย์อ่อนพาสมเดจพระสังฆราชไปหาพระครูศีลปาโมกข์ แลถวายตัวแด่พระบาทสมเดจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บางแห่งก็ว่าที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางแห่งก็ว่าที่วัดราชาธิวาศ
แลเหตุชักนำให้นายกุหลาบกล้าลงทุนพิมพ์หนังสือนี้แลกล้านำทูลเกล้าฯ ถวายก็แลเห็นชัดอยู่ว่า ถ้าหนังสือนี้ได้แจกในงานพระเมรุก็ดี หรือแม้ไม่ได้แจกแต่เก็บเงียบอยู่ก็ดี หนังสือนี้ก็ได้ชื่อว่าได้รับความรับรองว่าเปนจริงหรือไม่ปรากฏว่าเปนเท็จ นายกุหลาบจะได้ถือเอาโอกาสอันนี้ไว้เปนชื่อเสียงของตน แล้วแลเปิดเผยเรื่องนั้นๆ อันประกอบด้วยโทษไม่ควรเชื่อฟังในหนังสือพิมพ์ลวงให้มหาชนเชื่อถือ เพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัว ดังการณ์ที่เปนมาแล้วในหนหลังแลยังกำลังเปนอยู่ในบัดนี้
เมื่อไต่สวนได้ความชัดฉะนี้แล้ว จึงพร้อมกันวินิจฉัยว่า ประวัติสมเดจพระสังฆราช ทั้งในสมุดพิมพ์ที่นายกุหลาบทูลเกล้าฯ ถวาย ทั้งในสยามประเภทเล่ม ๔ ตอนที่ ๑๐ นั้น ไม่ควรเปนที่เชื่อฟังของคนทั้งปวง มีข้อความพิสดารแจ้งในคำวินิจฉัยของกรรมการ พร้อมทั้งคำพยานแลรายงานสืบสวนที่ถวายมาพร้อมกันนี้ แลนายกุหลาบกล้าทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือแสดงเรื่องที่ตนรู้อยู่เต็มใจว่าประกอบไปด้วยความเท็จฉบับหนึ่ง แลจงใจกล่าวเท็จเปิดเผยในสยามประเภทฉบับนั้น แสดงอาการให้คนทั้งหลายเข้าใจไปว่า ตนได้ทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องที่พิมพ์ไว้ในนั้น ซึ่งประกอบด้วยความเท็จดุจกันอีกฉบับหนึ่งด้วย เช่นนี้ได้ชื่อว่าหมิ่นต่อพระบรมเดชานุภาพ เปนความผิดใหญ่ของนายกุหลาบอีกส่วนหนึ่ง ข้อนี้ต้องอาไศรยพระมหากรุณาเปนที่ตั้ง จะควรสถานไรสุดแต่จะทรงพระมหากรุณา
ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด ขอถวายพระพร
(ลงพระนาม) ขอถวายพระพร กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
(ลงพระนาม) ข้าพระพุทธเจ้า นเรศวรฤทธิ์
(ลงนาม) ข้าพระพุทธเจ้า พระยาศรีสุนทรโวหาร

(ฉบับที่ ๑๖๔)
วัดบวรนิเวศวิหาร
ที่ ๑๖๓
วันที่ ๒๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๙
ขอถวายพระพร

พอได้รับความในพระราชหัตถเลขาที่ ๙/๔๙๑ ก็ให้ไปตามเอามาอ่านเก็บเอาไปจากนี่เปนแท้ เมื่อกรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ซักนายกุหลาบจะให้อ้างออธอธิติในเรื่องเทียนฉันทะ นายกุหลาบโลเล อาตมภาพจึงว่าต่อหน้านายกุหลาบว่านายกุหลาบเดาเอาเช่นนั้นๆ จึงกล่าวถึงกรมขุนนรานุชิตว่าเข้าพระเมรุพระปิ่นเกล้า จำได้อยู่แลพูดต่อไปว่าถึงกรมหมื่นอุดมก็เหมือนกัน แรกที่จะได้พระนามกรมหมื่นอุดมก็เมื่อสิ้นพระชนม์ เมื่อมีผู้ไปกราบทูล  ทูลกระหม่อมกำลังเสดจอยู่ที่วังน่า แล้วก็เสดจกลับมาพระบรมมหาราชวัง นัยว่าจะเสดจพระราชทานน้ำสรงพระศพกรมหมื่นอุดม นายกุหลาบคงเก็บเอาคำที่พูดกับกรมหลวงนเรศรไปแต่งขึ้น แต่ถูกสกัดไว้แล้วจึงไม่กล้าออกเรื่องต้นเหตุพระศพเจ้าวังน่าได้
เข้าพระเมรุท้องสนามหลวง เรื่องเสดจลอดประตูช่องกุฏิก็คงเกิดขึ้นเพราะได้ยินเล่าเรื่องกรมหมื่นอุดมสิ้นพระชนม์ เรื่องพระรูปสมเดจพระสังฆราชวัดราชสิทธิก็เดาประจบเอาอีก
ขอพระราชทานพรรณนาลักษณโทษที่ไม่ควรเชื่อฟังของนายกุหลาบมาพลางมี ๗ ประการ
๑.  เปนผู้แสดงความเท็จอวดอ้างตนให้คนเชื่อถือ
๒. เปนผู้ปั้นความที่ไม่จริงขึ้นลวงให้คนเชื่อถือผิดๆ
๓. เปนผู้ทำลายความจริงซึ่งได้มีมาแล้ว
๔. เปนผู้รักษาหนังสือไม่ดี คงมีปลอมจนได้
๕. เปนผู้เดาประจบเอาง่ายๆ
๖. เปนผู้เสิมข้อความที่เปนจริงให้มากไปกว่าเหตุ
๗. เปนผู้มักง่ายในการใช้ถ้อยคำสำนวน
ลองตั้งเกณฑ์ไว้สำหรับวางบทปรับเท็จนายกุหลาบว่าจะต้องด้วยมาตราไหนของ
เรื่องต้นเหตุพระราชทานน้ำสรงพระศพเจ้าวังน่านั้น ต้องด้วยมาตรา ๕ เพราะไม่ตั้งใจจะกล่าวเท็จ เปนแต่เดาประจบด้วยเข้าใจว่าเปนอย่างนั้น เรื่องเสดจพระราชทานน้ำสรงพระศพกรมหมื่นอุดมนั้น ต้องด้วยมาตรา ๖ เมื่อพรรณนากึ่งลักษณะในตัวก็ได้เปนยอดข้างชั่วหลายประการ
๑. ยอดขี้ปด
๒. ยอดไม่มีอาย
๓. ยอดโง่
๔. ยอดไม่ตขิดตขวง
หวังว่าคำวินิจฉัยในเรื่องประวัติสมเดจพระสังฆราช จะอธิบายลักษณะของนายกุหลาบว่าเปนอย่างไรได้ชัดเจน

ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด ขอถวายพระพร

กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
ภายหลังสำนวนการไต่สวนนายกุหลาบกรณีปลอมแปลงพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สา) ถูกทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๕ ให้ทรงทราบแล้ว ก็ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยลงมาเป็นฉบับสุดท้าย ดังนี้

(ฉบับที่ ๑๖๖)
พลับพลาสวนดุสิต
ที่ ๕/๓๗
วันที่ ๙ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๐
ถึงกรรมการไต่สวนเรื่องประวัติสมเด็จพระสังฆราชที่นายกุหลาบแต่ง

ด้วยได้ส่งรายงานที่ได้ไต่สวนนายกุหลาบกับหนังสือต่างๆ ที่ประกอบกับรายงานมานั้น ได้ตรวจดูตลอดแล้ว เห็นว่ากรรมการได้ไต่สวนโดยความสอดส่องรอบคอบได้ความเลอียดชัดเจนดี เปนที่พอใจเปนอันมาก ขอขอบใจกรรมการที่ได้ทำการโดยความอุตสาหเปนอันมาก
สยามินทร
แต่ด้วยพระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ด้วยเห็นว่านายกุหลาบเป็นคนชรามีอายุมากแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ภาคทัณฑ์โทษจำคุกไว้ก่อน และได้ทรงห้ามมิให้ใครเชื่อถือเรื่องประวัติสมเด็จพระสังฆราชที่นายกุหลาบนำความเท็จมาพิมพ์เผยแพร่นั้น
ความผิดครั้งสุดท้าย ส่งนายกุหลาบเข้า รพ.บ้า
แต่นายกุหลาบก็ยังไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและได้ปลอมแปลงประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้เขาเข้าปิ้งจนได้
ความผิดครั้งที่ ๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ขณะนั้นนายกุหลาบมีอายุได้ ๗๒ ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่หลาบจำต่อความผิดที่ได้กระทำมา เขาได้เขียนประวัติศาสตร์ฉบับพิสดารขึ้น แล้วตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามประเภท อ้างว่าในสมัยกรุงสุโขทัยมีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระปิ่นเกษ มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า พระจุลปิ่นเกษรัชกาลที่ ๕ ทอดพระเนตรแล้วก็ทรงกริ้ว ทรงตระหนักว่าเป็นการบังอาจแต่งพงศาวดารขึ้นเองโดยมีเจตนาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะเป็นการแปลงพระนามของพระองค์ไปเกี่ยวข้องกับการเสียบ้านเมือง
จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการสอบสวนนายกุหลาบอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดก็พิสูจน์ว่ามีความผิดจริง เขาถูกจับส่งเข้าไปสงบสติอารมณ์ในโรงพยาบาลบ้าเสีย ๓๓ วัน แล้วจึงปล่อยตัวไป อนึ่ง ในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่านายกุหลาบถูกคุมขังอยู่ใน รพ.บ้า เพียง ๗ วัน แต่ คุณอเนก นาวิกมูล อ้างข้อมูลใหม่จากหลักฐานเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติว่าถูกคุมขังอยู่นานถึง ๓๓ วัน(๖)  และ(๘)


สรุป
เป็นที่รู้กันทั่วไปในแวดวงนักเขียนและวงวรรณกรรมว่า ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นนักวิชาการและนักเขียนอิสระผู้ทำให้หลักฐานอันแท้จริงทางประวัติศาสตร์คลาดเคลื่อนเสียหายไปมิใช่น้อยด้วยการสร้างหลักฐานเท็จ มีเจตนาดัดแปลงเพิ่มเติมข้อมูลต่างๆ ขึ้นจากเอกสารของทางราชการ แล้วพิมพ์ออกเผยแพร่เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด เป็นประโยชน์ในการสร้างผลกำไรทางธุรกิจให้ตนเอง

ถึงแม้ ก.ศ.ร.กุหลาบ จะเป็นคนใจกว้างและเปิดเผย จากการเปิดประเด็นความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งยังเป็นนักบุญพิมพ์หนังสือแจกเป็นวิทยาทานถึง ๒,๐๐๐ ฉบับ ถวายรัชกาลที่ ๕ แต่ในอีกเหตุผลหนึ่งก็เพื่อต้องการยืนยันจุดยืนของตนเอง คือ ขี้โอ่ อวดดี และทะนงตัว แสดงถึงภาวะโรคจิตอ่อนๆ ที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นการที่ทางการลงโทษนายกุหลาบด้วยการส่งตัวไปสงบสติอารมณ์ใน รพ. คนเสียจริต (รพ.บ้า) ๓๓ วัน  ถือเป็นการลงโทษเชิงสัญลักษณ์ให้สำนึกผิดทั้งที่รู้ว่าไม่อาจรักษานายกุหลาบให้หายขาดจากความผิดปกติทางจิตได้ แต่เป็นการประกาศให้สังคมรับรู้ว่าเขาเป็นบุคคลน่าเฝ้าระวัง

ข้อสังเกตที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับคดีนี้หากมองในแง่จิตวิทยาและพฤติกรรมมนุษย์ การที่นายกุหลาบรู้เรื่องราวทางโบราณคดีมากเกินไป และเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นของต้องห้าม อาจทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน จึงผุดความคิดที่จะประชดเจ้านายฝ่ายใน ประชดสังคม เลยประชดนักประวัติศาสตร์รุ่นเก่า ด้วยการสร้างข้อคิดขึ้นมาใหม่โดยเบี่ยงเบนความจริง จะได้แหกกฎเกณฑ์อันล้าสมัยและงมงายของคนโบราณ

โชคดีที่วันนี้เรามีกระทรวงไอซีที มีกรมทรัพย์สินทางปัญญาคุ้มครองนักประพันธ์ นักค้นคว้า และนักวิชาการให้มีลิขสิทธิ์ในผลงานที่ตนเองเป็นผู้สร้างสรรค์ริเริ่มขึ้นมาด้วยสติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะโดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น แสดงว่ากฎหมายสมัยปัจจุบันก็ตระหนักถึงพิษภัยของพวกละเมิดลิขสิทธิ์ดังเช่นที่นายกุหลาบได้เริ่มต้นไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕
อย่างไรก็ดีสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ความผิดของนายกุหลาบ  มีข้อพึงสังเกตว่าคดีของนายกุหลาบได้หมดอายุความไปนานกว่าร้อยปีแล้ว เราจึงไม่ควรหยิบยกทฤษฎีของนายกุหลาบมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในสมัยปัจจุบัน แล้วตัดสินกันเองว่านายกุหลาบทำไปด้วยความถูกต้องชอบธรรมแล้ว

นักประวัติศาสตร์ไม่ควรตัดสินความถูกผิดของคนในอดีตว่าเป็นอย่างไร  เรารู้แค่ไหนเราก็ควรบอกกล่าวแค่นั้น โดยอาศัยหลักฐานที่มีอยู่ เพื่อมิให้กระทบกระเทือนประวัติศาสตร์ที่เสร็จสิ้นไปแล้ว

รสนิยมแห่งการรักชาติต้องมี แต่ไม่ใช่ชาตินิยมอย่างขาดเหตุผล เราจะใช้เหตุผลของคนในยุคหนึ่งมาตัดสินคนในอีกยุคหนึ่งไม่ได้ และเราจะใช้กฎระเบียบของสังคมหนึ่งมาใช้กับอีกสังคมหนึ่งก็ไม่ได้ด้วย ฉันใดก็ฉันนั้น เราไม่ควรตัดสินคนในประวัติศาสตร์ ไม่ควรคิดแทน ก.ศ.ร.กุหลาบ ว่าเขาคิดอย่างไร เพราะเราไม่รู้ข้อเท็จจริงและไม่มีหน้าที่ให้ความยุติธรรมหรือชี้แนะการตัดสินใจของบรรพบุรุษ แต่ควรศึกษาพฤติกรรมของท่านเหล่านั้นแล้วแยกแยะความชั่วดีออกจากกัน เพื่อใช้เป็นข้อคิดในการดำเนินชีวิตในวันข้างหน้า

หากมองสังคมไทยว่าเป็นสังคมแสวงหาผลกำไรก็ไม่ควรแสวงหากำไรแม้แต่กับประวัติศาสตร์ ไม่ควรใช้เรื่องราวของบุคคลในอดีตมาเชื่อมโยงกับเหตุผลทางการเมืองสมัยใหม่ เพื่อชี้นำสังคมจนเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่น่าเลียนแบบตามวัฒนธรรมเลียนแบบแบบ ไทยๆ เรื่องของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เป็นการยกอุทาหรณ์ที่ผิดกาละเทศะ และไม่ใช่แบบฉบับที่ดีไม่ว่ายุคใดสมัยใด