วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

เจ้านายสตรีไทยทำมาค้าขายอะไรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 (ทรงทอเสื่อ) ทรงเปิดกิจการ “สวนบ้านแก้ว” ที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อเลี้ยงสัตว์ เพราะปลูก และท่อเสื่อชื่อดังเรียกว่า “ผลิตภัณฑ์เสื่อสมเด็จ” (ขอบคุณภาพจาก www.clipmass.com/story/98340)
 

 

เมื่อเจ้านายสตรีจำต้องใช้วิชาความรู้ที่ถูกบ่มเพาะตามแบบอย่างของสตรี “ชาววัง” นำมาเป็นเครื่องมือทำมาหาเลี้ยงชีพตนและครอบครัว หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

 

อ. วีระยุทธ ปีสาลี ได้อธิบายถึงเจ้านายสตรีไทยในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ว่าหลายพระองค์ต้องเผชิญกับความยากลำบากในชีวิต เจ้านายสตรีถูกตัดเงินปีลงไปมาก ต้องทรงช่วยทำมาหาเลี้ยงชีพพระองค์และครอบครัวในสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

ภายหลังรัชกาลที่ 5 สวรรคต ทำให้ราชสำนักฝ่ายในในพระบรมมหาราชวังเสื่อมโทรม เจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ก็ออกมาประทับนอกวังที่วังของเจ้านายฝ่ายหน้าหรือพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายชาย ครั้นเจ้านายเจ้าของวังต่าง ๆ สิ้นพระชนม์ก็ยิ่งทำให้เจ้านายฝ่ายในแตกกระสานซ่านเซ็นไปคนละทิศละทาง

 

 
เจ้านายสตรีไทยจึงจำเป็นต้องทำมาหาเลี้ยงชีพตนเอง โดยใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากราชสำนัก เช่น การทำอาหาร การทำขนม งานประดิษฐ์ และงานเย็บปักถักร้อย นำมาเป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพ ซึ่งนอกจากจะหารายได้มาใช้จ่ายส่วนพระองค์แล้ว การประกอบอาชีพของเจ้านายสตรียังส่งผลให้ศาสตร์ของฝ่ายในแพร่จากชาววังสู่ชาวบ้านมากกว่าสมัยใด ๆ



พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน เปิดร้านอาหารไทยในกรุงลอนดอน ชื่อว่า “Siam Rice”
หม่อมเจ้าสุรางค์ศรี โศภางค์ ทรงใช้ความรู้ความสามารถด้านงานฝีมือที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากราชสำนักในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประดิษฐ์หมวกที่เรียกว่า “ตุ้มปี้” ออกจำหน่าย ตรงกับสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่กำลังอยู่ในช่วงดำเนินนโยบายสร้างความเป็นไทย โดยให้คนไทยสวมหมวกในช่วงทศวรรษ 2480 การค้าขายหมวกของหม่อมเจ้าสุรางค์ศรี โศภางค์ ก็สร้างรายได้เป็นอย่างดี
 
หม่อมเจ้าวรรณีศรีสมร วรวรรณ ทรงทำธุรกิจจัด “กระเช้าลันชั่น” (Luncheon Basket) หรือกระเช้าอาหารกลางวัน ซึ่งเจาะกลุ่มข้าราชการส่งขายตามกระทรวงต่าง ๆ และได้รับความนิยมสูงและขายดีมาก ดังที่ หม่อมเจ้าบรรเจิดวรรณวรางค์ วรวรรณ ที่มาช่วยกิจการนี้ ทรงเล่าว่า “กิจการดีมาก เพราะอาหารอร่อย ทรงจัดอย่างพิถีพิถัน สวยงาม สะอาด ตั้งแต่รัฐมนตรีจนกระทั่งถึงเสมียนต่างก็รับ ‘กระเช้าลันชั่น’ กันทั้งนั้น”
หม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี พระชายาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระนามเดิม พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส หรือนามปากกว่า น.ม.ส.) ทำสำนักพิมพ์ในช่วงเวลานั้น
 
หม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล ทรงทำขนมขาย ทำกันเป็นแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือนเล็ก ๆ ขนมที่เป็นที่นิยมคือ ขนมเค้กสำหรับงานวันเกิด และขนมงานเลี้ยงน้ำชา ในสมัยนั้นจะเรียกขนมเค้กของหม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล ว่า “ขนมเค้กท่านหญิงเป้า” ซึ่งในยุคสมัยนั้นขึ้นชื่อมีชื่อเสียงมาก โดยมีหม่อมหลวงฉายชื่น กำภู ผู้เป็นสามีคอยช่วยเหลือติดต่อร้านขายเพื่อนำขนมไปขาย
อุตสาหกรรมภายในครัวเรือนการทำขนมของหม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล