วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

‘เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี’ บุคคลสำคัญของโลก

 

 

เฉลิมฉลองวาระ 150 ปี ชาตกาล เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) บุคคลสำคัญของโลก อดีตองคมนตรี และเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในฐานะบุคคลสำคัญของโลก พ.ศ.2559-2560 ตามมติในการประชุมสมัยสามัญ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ 38 เมื่อปี 2558 และในโอกาส พ.ศ.2560เป็นวาระครบ 150 ปี ชาตกาล

เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เป็นกำลังสำคัญในการวางรากฐานการศึกษาไทยสมัยใหม่ ในยุคเริ่มต้นท่านได้สนองพระราชภาระในการจัดการศึกษาสมัยใหม่ในสยาม ด้วยการกระจายการศึกษาสู่หัวเมืองต่างๆ ให้ทวยราษฎร์ได้มีการศึกษาถ้วนหน้าเสมอกัน พร้อมทั้งจัดให้มีหลักสูตร และแผนการศึกษาเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังนิพนธ์หนังสือที่ใช้เป็นแบบเรียนเพื่อปลูกฝังความมีระเบียบวินัยของคนในชาติ เช่น แบบเรียน จรรยาสมบัติของผู้ดี พลเมืองดี ทั้งยังนิพนธ์คำร้องเพลงสามัคคีชุมนุม ซึ่งนำทำนองของเพลง Auld Lang Syne มาแต่งคำร้องภาษาไทยได้อย่างไพเราะเหมาะสม เป็นต้น สำหรับการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง 150 ปี เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ประกอบด้วย การประกวดตราสัญลักษณ์ และการจัดทำดวงตราไปรษณียากร และรวบรวมประวัติเพื่อเผยแพร่การปาฐกถาพิเศษ ชุด “การศึกษาคือรากแก้วแห่งแผ่นดิน” (Education as Root of the Nation) โดยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเผยแพร่ประวัติ จริยวัตรที่ดีงาม ตลอดจนหลักคิด และแนวทางที่เจ้าพระยาพระเสด็จฯ ได้มอบไว้ในการจัดการศึกษาไทย

 



มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี นามเดิม หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล (16 เมษายน พ.ศ. 2410 – 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459) อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล เกิดเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2410 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ และหม่อมเปี่ยม

หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล ศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มีเลขประจำตัวหมายเลข 2 มีผลการเรียนดีเลิศ ซึ่งสอบได้ประโยคที่ 2 ในจุลศักราช 1248 หรือ พ.ศ. 2429
หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล เข้ารับราชการในกรมศึกษาธิการ ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เป็น หลวงไพศาลศิลปศาสตร์ จากนั้นย้ายมารับราชการอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย เป็น พระมนตรีพจนกิจ ท่านได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นผู้อภิบาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตพิเศษไทยประจำอังกฤษและยุโรป ระหว่าง พ.ศ. 2440-2442

วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2443 ได้รับโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ท่านได้สาบานตนถือน้ำทรงตั้งเป็นองคมนตรีต่อในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2453

จากการที่ท่านได้เห็นการศึกษาของนักเรียนไทยในต่างประเทศเป็นเวลาหลายปี ท่านได้กราบทูลเสนอให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรับปรุงระบบการศึกษาของไทย ร่างเป็น “โครงแผนการศึกษาในกรุงสยาม” เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2441 และโครงการสร้างสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2453

ท่านได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เป็น พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 ท่านลาบวชเป็นภิกษุ ทรงรับเป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพิมลธรรม (ยัง เขมาภิรโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วไปอยู่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ลาสิกขาแล้วรับราชการต่อมาจนได้เลื่อนเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2455

เมื่อวันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าพระยา มีสมญาตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ศรีวิสุทธสุริยศักดิ์ อรรคพุทธศาสนวโรประการ ศิลปศาสตร์พิศาลศึกษานุกิจ บัณฑิตยการานุรักษ์ สามัคยาจารย์วิบุลย์ มาลากุลบริพัตร์ บรมขัติยราชสวามิภักดิ์ เสมาธรรมจักรมุรธาธร ศุภกิจจานุสรอาชวาธยาไศรย พุทธาทิไตรรัตนธาดา อภัยพิริยบรากรมพาหุ

ต่อมาท่านขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2458 จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ท่านลาออกจากตำแหน่ง และพระราชทานบำนาญอย่างเสนาบดีชั้นสูง

เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ป่วยเป็นโรคเรื้อรังและกระเพาะอาหารพิการมาช้านาน จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 เวลา 3 ยาม 30 นาที วันต่อมา เวลาบ่าย 5 โมง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จแทนพระองค์มาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ประกอบโกศมณฑป ตั้งบนชั้น 2 ชั้น ฉัตรเบญจาตั้งประดับ พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด 1 เดือน

ด้านชีวิตครอบครัว
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี สมรสกับท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี (วสันตสิงห์) มีบุตร-ธิดา 8 คน คือ
หม่อมหลวงปก มาลากุล
หม่อมหลวงปอง มาลากุล สมรสกับหม่อมเจ้าสุรวุฒิประวัติ เทวกุล
หม่อมหลวงเปนศรี มาลากุล
หม่อมหลวงเปนศักดิ์ มาลากุล
หม่อมหลวงป้อง มาลากุล
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สมรสกับท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา
หม่อมหลวงเปี่ยมสิน มาลากุล
หม่อมหลวงปานตา มาลากุล สมรสกับนายเมืองเริง วสันตสิงห์
สมรสกับคุณเจียร ลักษณะบุตร มีธิดาคือ
หม่อมหลวงนกน้อย มาลากุล
สมรสกับคุณเลื่อน ศิวานนท์ มีบุตรคือ
หม่อมหลวงประวัติ มาลากุล