วันเสาร์ 14 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

เชิญชวนประชาชน เข้าชมนิทรรศการทรงคุณค่า พระราชาในดวงใจ

                รวมผลงานศิลปกรรมภาพถ่าย ภาพวาดในหลวงร.9 และของสะสมอันทรงคุณค่าจากนักสะสมชื่อดัง ในนิทรรศการพระราชาในดวงใจ จัดระหว่างนี้ถึง 26 พ.ย.2560 ที่ชั้น8 หอศิลฯ กรุงเทพอังคารที่ 29 สิงหาคม 2560 เวลา 15.23 น.

                  มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดนิทรรศการ “พระราชาในดวงใจ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “น้อมรำลึกองค์อัครศิลปิน” เพื่อน้อมรำลึกพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะองค์อัครศิลปินและพระมหากรุณาธิคุณในฐานะองค์อุปถัมภ์งานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย ระหว่างวันนี้ ถึง 26 พ.ย. 2560 ที่ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

                 นิทรรศการ “พระราชาในดวงใจ” เป็นการจัดแสดงผลงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่าหาชมยากจากฝีมือศิลปินชั้นนำของไทยในหลายยุคสมัยที่มีผลงานหลากหลายรูปแบบรวมทั้งหมดกว่า 200 ผลงาน พร้อมรวบรวมศิลปกรรมชิ้นสำคัญอันทรงคุณค่าและหาชมได้ยาก ประกอบด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ช่วงขึ้นครองราชย์ เรื่อยมาจนถึงปลายรัชสมัย  ตลอดจนพระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมัน สีอะคริลิค สีน้ำ ภาพพิมพ์ พระบรมรูปหล่อสำริด นอกจากนี้ยังมีของสะสมหายากที่ระลึก กล้องถ่ายภาพ และธนบัตร ที่ถูกจัดทำออกมาเนื่องในวโรกาสมหามงคลตลอดระยะเวลาการครองราชย์ ได้ถูกนำมาจัดแสดงร่วมกัน

              อาทิ พระบรมสาทิศลักษณ์ชื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (รัชดาภิเษก พุทธศักราช 2514) ใช้เทคนิคสีอะคริลิก และทองคำ ขนาด 175 x 140 ซม. ผลงานของ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ หรือผลงานของ พินิตย์ พันธประวัติ ศิลปินที่แกะสลักพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ใช้ในธนบัตร กับผลงาน นวมินทราชา หมายเลข 8, 2556 ใช้เทคนิคการแกะแม่พิมพ์โลหะและการกัดกรด ขนาด 34 x 27.5 ซม. รวมถึงพระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์จากนักสะสม และศิลปินหลากหลายท่าน อาทิ ปรีชา เถาทอง, ปัญญา วิจินธนสาร, วัชระ ประยูรคำ, สมภพ บุตราช, ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์, ณรัฐ นภาวัณ, สมชาย ชีวสุทธานนท์, จักร กาญจนากาศ, ฐานธิษณ์ ชินกฤตกุล

             นอกจากนี้ ศักดิ์ชัย กาย บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งนิตยสารลิปส์ ยังได้รวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์ที่หาชมยาก มาจัดแสดงซึ่งภาพถ่ายหลากหลายภาพไม่ปรากฏชื่อช่างภาพผู้กดชัตเตอร์ ภาพถ่ายหลายภาพ ไม่สามารถระบุเวลา ได้ว่าบันทึกไว้ ณ วันเวลาหรือสถานที่แห่งใด มาเก็บรวบรวมใน “ห้องหมายเลข๙” จำนวนนับพันรูป