จากหลักฐานที่ค้นพบน้ำแข็งในสยามในช่วงรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2410 หรืออาจจะก่อนหน้านั้นอีกด้วยซ้ำ หลักฐานที่ปรากฏในบันทึกความทรงจำ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า น้ำแข็งในเมืองไทยขณะเริ่มมีเรือกลไฟชื่อ “เจ้าพระยา” เดินทางระหว่างกรุงเทพฯ – สิงคโปร์ ระยะเวลา 15 วันต่อเที่ยวหนึ่ง ๆ ว่า
“เมื่อรู้ว่าเรือเจ้าพระยาเข้ามาถึงก็พากันยินดี ด้วยมักมีผู้ส่งของเข้ามาถวายทูลกระหม่อม บางทีมีของเล่นแปลกๆ ได้พระราชทานเนือง ๆ ของประหลาดอย่างหนึ่งนั้นคือ “น้ำแข็ง” ดูเหมือนจะเพิ่งทำได้ที่เมืองสิงโปร์ไม่ช้านัก มีผู้ส่งแท่งน้ำแข็งใส่หีบกลบขี้เลื่อยมาถวายเนืองๆ ได้น้ำแข็งมาเมื่อใดก็มักโปรดให้แจกเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ พวกที่เพิ่งได้เห็นน้ำแข็งชั้นเด็กๆ เช่นตัวฉันชอบต่อยออกเป็นเล็ก ๆ อมเล่นเย็นเฉียบสนุกดี พวกที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ดูมิใคร่มีใครชอบ มักบ่นว่ากินน้ำแข็งปวดฟัน และยังมีพวกคนแก่ที่ได้ยินว่าแจกน้ำแข็งไม่เชื่อว่าน้ำ กระซิบกันว่า “จะปั้นน้ำเป็นตัวอย่างไรได้” ด้วยมีในคำสุภาษิตพระร่วง “อย่าปั้นน้ำเป็นตัว” หมายความห้ามมิให้ทำอะไรฝืนธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวแต่ว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว” หมายถึงติเตียนว่าแกล้วปลูกเท็จให้เป็นจริง เคยได้ยินกันชินหูมาแต่โบราณ”
โดย ผู้ที่สั่งน้ำแข็งเข้าเมืองไทยยุคนั้น คือ พระยาพิสนธ์สมบัติ บริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) ครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็น พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ เจ้าของเรือเจ้าพระยา นำเข้าน้ำแข็งเช่นเดียวกับ หนังสือพิมพ์ต่างประเทศ สินค้าหรูหราจากยุโรป
พ.ศ.2411 มีสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ
รัชกาลที่ 4 ทรงเชิญนักปราชญ์จากยุโรป พร้อม เซอร์แฮรี่อ็อต ผู้ว่าการเมืองสิงคโปร์
เป็น พระราชอาคันตุกะมาดูสุริยุปราคา โดยจัดการที่พัก อาหารการกิน ตามแบบอย่างอารยประเทศสมบูรณ์แบบทุกประการ
เป็นการแสดงให้เห็นว่า สยามไม่ได้เป็นเมืองป่าเถื่อนอย่างที่ฝรั่งเข้าใจกัน การรับรองครั้งนั้น น้ำแข็ง มีส่วนเสริมสร้างการดื่มของพระราชอาคันตุกะอย่างสำคัญ ถึงกับเซอร์แฮรี่อ็อต บันทึกความประทับใจไว้ความ ว่า
“พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้จัดอาหารเลี้ยงแขกเมือง นำเอาพ่อครัวฝรั่งเศสเข้ามาให้รู้จักพร้อมด้วยชาวอิตาลีหนึ่งคน และลูกมือชาวเมืองอีกหลายคน จัดการเลี้ยงดูอย่างฟุ่มเฟือยบริบูรณ์ ของอร่อยที่หาไม่ได้ในแถบนี้ก็จัดหามาจากสิงคโปร์ การทำกับข้าวก็ทำอย่างประณีต มีทั้งเหล้าและไวน์ต่างๆ น้ำแข็งก็บริบูรณ์ อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรที่ต้องการอีก”
ในอดีตน้ำแข็งเป็นของหายากและมีราคาแพงมาก มนุษย์ที่มีสิทธิ์ได้ชิมรสชาติเย็นชื่นใจของน้ำแข็งจะต้องเป็นระดับเจ้านาย เชื้อพระวงศ์ หรือข้าราชการเท่านั้น
แต่หลังจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 นายเลิศ เศรษฐบุตร ได้ตั้งโรงน้ำแข็งขึ้นมาชื่อว่า “น้ำแข็งสยาม” ที่สะพานเหล็กล่าง ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “โรงน้ำแข็งนายเลิศ” แต่ช่วงแรกยังไม่ค่อยมีใครกล้ากินนัก เพราะชาวบ้านไม่เชื่อกันว่าน้ำนั้นจะสามารถแข็งตัวได้