วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

เปิดบันทึกความทรงจำ ครูที่รัก ในหลวง ร.9 ไขประวัติศาสตร์วัยเยาว์ เจ้านายไทยในโลซานน์


———————
หน้าประวัติศาสตร์ของราชวงศ์จักรีคงจะสมบูรณ์แบบไม่ได้ ถ้าขาดบันทึกความทรงจำอันทรงคุณค่าของ “มร.เกลย์อง เซ. เซไรดารีส” นักกฎหมายหนุ่มชาวสวิสเชื้อสายกรีก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นครูพี่เลี้ยงส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ไทยถึง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ประทับศึกษาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยตลอดเวลา 26 ปี ในการถวายงาน 2 ยุวกษัตริย์ “ครูเกลย์อง” ไม่เคยแสดงความประสงค์ที่จะนำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ส่วนนี้ออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเลย ด้วยตระหนักถึงภาระหน้าที่และความจงรักภักดีที่มีต่อพระบรมวงศานุวงศ์ไทย
.
อย่างไรก็ดี ภายหลังการเสียชีวิตของ “ครูเกลย์อง” เมื่อปี 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชประสงค์ให้นำเกร็ดประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญขณะพระองค์ประทับอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ออกเผยแพร่สู่สาธารณชน ด้วยเหตุนี้ บันทึกความทรงจำล้ำค่าของ “ครูเกลย์อง” ที่ถูกเก็บงำมิดชิด จึงได้ออกมาโลดแล่นในโลกของตัวอักษร ภายใต้ชื่อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และเจ้านายไทยในโลซานน์” โดยผ่านการเรียบเรียงใหม่อย่างพิถีพิถันของ “มร.ลีซองดร์ เซ. เซไรดารีส” บุตรคนสุดท้องของ “ครูเกลย์อง” ผู้ทำหน้าที่สืบสานความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างราชวงศ์ไทยกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาจนถึงปัจจุบัน
.
นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทีมข่าวหน้าสตรีไทยรัฐ ได้มีโอกาสพูดคุยสัมภาษณ์ “มร.ลีซองดร์” ใกล้ชิดในทุกแง่มุมเป็นครั้งแรก โดยเขายืนกรานว่าทุกภาพในหนังสือเป็นภาพถ่ายส่วนตัวจากอัลบั้มของบิดา ส่วนเขาเพียงแต่ทำหน้าที่ผู้ถือกุญแจไขประวัติศาสตร์สำคัญช่วงหนึ่งของราชอาณาจักรไทย ตามพระราชปรารภของในหลวง รัชกาลที่ 9
.
“เป็นเรื่องไม่ธรรมดานักที่ใครสักคนจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดพระราชวงศ์ และยิ่งยากขึ้นไปอีกที่จะได้รับเลือกให้เป็นครูผู้ถวายคำแนะนำหลักการเบื้องต้นในการดำเนินชีวิตของจอมคน แต่วิถีแห่งโชคชะตาก็เกิดขึ้นกับพ่อของผม ท่านได้มีโอกาสถวายงานรับใช้พระมหากษัตริย์ไทยถึง 2 พระองค์ โดยเป็นครูส่วนพระองค์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ประทับอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ หลังพ่อของผมเสียชีวิตไปแล้วหลายปี ขณะที่ผมเข้าเฝ้าฯพระองค์ท่าน ณ วังไกลกังวล พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชปรารภให้ผมค้นคว้าเรื่องราวต่างๆของทั้งสองพระองค์ขณะทรงพระเยาว์ ผ่านความทรงจำของครูเกลย์องผู้ล่วงลับ โดยทรงแนะว่าจำเป็นที่จะต้องบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ช่วงนั้นเอาไว้”…มร.ลีซองดร์ บอกเล่าความเป็นมาของหนังสือเล่มประวัติศาสตร์ดังกล่าว
———————-
“ครูเกลย์อง” เป็นนักกฎหมายแล้วเหตุใดจึงได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ครูส่วนพระองค์ของ 2 ยุวกษัตริย์ไทย
.
คุณพ่อของผมเป็นเพื่อนกับหม่อมเจ้ารัศมีสุริยัน สุริยง พระราชปนัดดาในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ซึ่งศึกษาวิชาแพทยศาสตร์อยู่ที่เมืองโลซานน์ และเสกสมรสกับสตรีเมืองโลซานน์ ท่านประทับใจในอุปนิสัยของคุณพ่อ จึงชักชวนให้มาเฝ้าสมเด็จพระราชชนนี เพื่อทำหน้าที่ครูส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ระหว่างประทับศึกษาอยู่ที่เมืองโลซานน์ คุณพ่อเล่าว่ารู้สึกเต็มตื้นไปด้วยเกียรติอันยิ่งใหญ่ และตั้งใจทุ่มเทชีวิตให้ 2 ยุวกษัตริย์อย่างเต็มที่
———————-
นอกเหนือจากการถวายพระอักษรแล้ว ครูส่วนพระองค์ยังมีบทบาทสำคัญอย่างไร
.
สำหรับเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ทั้งสอง ชีวิตใหม่ในเมืองโลซานน์ เริ่มต้นขึ้นโดยการดูแลอย่างใกล้ชิดของครูคนใหม่ “ครูเกลย์อง” มีหน้าที่ถวายคำแนะนำเรื่องราวต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา และการใช้ชีวิตในต่างถิ่น ให้แก่เจ้านายไทยที่ต้องอยู่ห่างไกลบ้านเกิดเมืองนอน ในตอนนั้น สมเด็จพระราชชนนีตั้งพระทัยว่าจะทรงเลี้ยงดูพระธิดาพระโอรสด้วยพระองค์เอง โดยมี “ครูเกลย์อง” เป็นครูพี่เลี้ยงคอยช่วยดูแลเรื่องการเรียน ด้วยความที่พ่อของผมเรียนจบจากโรงเรียนเอกอล นูแวล ซึ่งเป็นโรงเรียนสหศึกษาเอกชนที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ที่สุดของสวิส คุณพ่อจึงถวายคำแนะนำให้เจ้านายทั้งสองพระองค์เข้าศึกษาในโรงเรียนนี้ สมเด็จพระราชชนนีทรงมุ่งหวังที่จะให้พระโอรสตระหนักถึงภาระหน้าที่พึงปฏิบัติตามสถานภาพ และเก็บเกี่ยวความรู้เตรียมพระองค์ให้พร้อม เพื่อรับหน้าที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต นอกจากการถวายพระอักษรแล้ว หลังเลิกเรียน ครูจะจัดกิจกรรมกีฬาให้ลูกศิษย์ทั้งสอง เช่น จักรยาน เทนนิส ปิงปอง สเก็ตน้ำแข็ง ในหลวงอานันท์ทรงเล่นปิงปองเก่ง แถมยังทรงจักรยานเร็วสุดๆ และเมื่อถึงฤดูหนาว ทั้งครอบครัวจะไปเล่นสกีบนภูเขา
———————-
เจ้านายทั้งสองพระองค์ ทรงมีพระบุคลิกลักษณะเหมือนหรือ แตกต่างกันอย่างไร
.
ถ้าเป็นพระบุคลิกลักษณะภายนอกคล้ายกันจนเหมือนฝาแฝด ทั้งๆที่อายุห่างกันเพียง 2 ปี แต่ถ้าเป็นเรื่องการศึกษา ในหลวงอานันท์ทรงเลือกเรียนนิติศาสตร์ เพื่อเตรียมพระองค์สำหรับเป็นกษัตริย์ ขณะที่พระอนุชาภูมิพลทรงถนัดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาประเทศในภายหลัง
———————-
อะไรคือกิจกรรมยามว่างที่โปรดปรานของทั้งสองพระองค์
.
การขี่จักรยาน ออกกำลังกาย ทำสวน งานช่างยนต์ และงานช่างไม้ ทั้งสองพระองค์ยังโปรดเกมแข่งขันประเภทต่างๆ เช่น หมากรุก รถยนต์ของเล่น และรถไฟจำลอง ในหลวง รัชกาลที่ 9 โปรดการถ่ายภาพและดนตรีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เช่นเดียวกับงานช่างไม้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากครูเกลย์อง เจ้านายทั้งสองพระองค์โปรดประดิษฐ์สิ่งของจากไม้ด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าจะเป็นของใช้ประจำวัน เฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กๆ เครื่องบินจำลอง และเรือจำลอง
———————-
“ครูเกลย์อง” ผูกพันใกล้ชิดกับเจ้านายทั้งสองพระองค์ของไทยมากน้อยเพียงใด
.
คุณพ่อของผมรักในหลวงอานันท์และในหลวงภูมิพลมาก นักเรียนทั้งสองก็ทรงมีความรู้สึกนี้ด้วยเช่นกัน ทรงผูกพันกับครูมาก และทรงตระหนักดีถึงความทุ่มเทที่ครูตั้งใจถวายพระอักษรและดูแลในชีวิตประจำวัน ทุกครั้งที่จะต้องเสด็จนิวัติประเทศไทย เจ้านายทั้งสองพระองค์ รวมถึงสมเด็จพระราชชนนีจะทรงเขียนจดหมายและโปสการ์ดถึง “ครูเกลย์อง” สม่ำเสมอ เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆที่พานพบ และในจดหมายทุกฉบับมักจะเรียกขานคุณพ่อว่า “ครูที่รัก” เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์ และกลับไปทรงศึกษาต่อด้านนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ครูเกลย์องก็จะตามเสด็จฯด้วยโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จเยือนประเทศต่างๆในยุโรป หรือการเสด็จส่วนพระองค์ แม้ภายหลังคุณพ่อกราบบังคมทูลลาจากหน้าที่ครูส่วนพระองค์ก็ยังได้รับพระเมตตาจากในหลวง รัชกาลที่ 9
———————-
ในฐานะลูกหลานตระกูลเซไร-ดารีส จะสานต่อพันธกิจของคุณพ่อต่อไปอย่างไร
.
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปทั่วโลกเพื่อบรรยายเกี่ยวกับชีวิตและหน้าที่ของบิดาในการรับใช้พระราชวงศ์ไทย อีกทั้งได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสวิตเซอร์-แลนด์กับประเทศไทยมาต่อเนื่อง ด้วยความผูกพันที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของผม ผมมุ่งมั่นว่าจะเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ที่มีมานานระหว่างเมืองโลซานน์กับประเทศไทย และอุทิศตนอย่างเต็มที่ให้กับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ยั่งยืนสืบไป.
———————-
ที่มา – https://www.thairath.co.th/news/society/968547