วันพุธ 16 ตุลาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

เปิดปูมประวัติศาสตร์ที่ดินสถานทูตอังกฤษในไทย

 

รัฐบาลอังกฤษขายที่ดินสถานทูตประจำกรุงเทพให้ฮ่องกงแลนด์และกลุ่มเซ็นทรัลในราคาสูงสุด420 ล้านปอนด์ (18,651 ล้านบาท)

ข่าวใหญ่รัฐบาลอังกฤษขายที่ดินสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทยด้วยมูลค่าถึง 420 ล้านปอนด์หรือ 18,651 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ที่จะนำเอาเงิน 168 ล้านหรือราว 40%ของทั้งหมดไปปรับปรุงสถานทูตอังกฤษทั่วโลก นักประวัติศาสตร์ชี้ตลอดระยะเวลา 160 ปีนับแต่อังกฤษได้ที่ดินแผ่นดินของไทยผืนแรกจากผลสัญญาเบาริ่ง วันนี้อังกฤษได้รับผลตอบแทนมหาศาลหมื่นกว่าล้านจากแผ่นดินทองนี้ไปโดยไม่ต้องลงทุนแม้แต่บาทเดียว

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561  กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรออกแถลงการณ์ เรื่องการบรรลุข้อตกลงขายที่ดินทั้งหมดซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงเทพมหานคร ให้กับฮ่องกง แลนด์ ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการลงทุนและอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มเซ็นทรัล ในราคา 420 ล้านปอนด์ ( ราว 18,651.7 ล้านบาท ) โดยถือเป็นข้อตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และสำหรับกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษด้วย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่การทูตและพนักงานทั่วไปทั้งหมดซึ่งประจำอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้ ที่เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2465 บนพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคืออยู่ริมถนนวิทยุ จะทยอยย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ ณ อาคารเอไอเอ บนถนนสาธร ภายในปี 2562 ซึ่งนายบอริส จอห์นสัน รมว.กระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร กล่าวว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพื่อยกระดับความร่วมมือทางการค้า และความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหราชอาณาจักรกับไทย ตลอดจนทุกประเทศในภูมิภาคแห่งนี้

อนึ่ง สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำกรุงเทพฯ ถือเป็นอาคารที่มีโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่และสวยงาม อย่างไรก็ตาม สิ่งปลูกสร้างและพื้นที่ส่วนใหญ่ภายในอาณาเขตของสถานเอกอัครราชทูตไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว และอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมตามกาลเวลา

ขณะที่เซอร์ ไซมอน แมคโดนัลด์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวถึงการย้ายสถานที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ว่าเกิดขึ้นท่ามกลาง “ภาวะสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่กดดัน” แต่เป็น “การตัดสินใจครั้งสำคัญ” เพื่อส่งเสริมบทบาทการทูตของสหราชอาณาจักบนเวทีโลกในอนาคต โดยรัฐบาลจะนำเงินราว 40% ของเงินที่ได้จากการขายที่ดินในกรุงเทพฯ ไปใช้ในการ “ปรับปรุง” สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรทั่วโลก.

สำหรับการขายสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทยนั้นมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาสำคัญที่ นิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนกรกฎาคม 2549 เรื่อง”แผ่นดินทองที่ไม่ใช่ของไทย : ที่ดินสถานทูตอังกฤษ”เขียนโดย ธโนทัย สุขทิศ ได้อย่างน่าติดตามย่ิ่ง ดังบทความที่จะหยิบยกมากล่าวดังต่อไปนี้

“ข่าวใหญ่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤษภาคมของปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เห็นจะได้แก่การตกลงซื้อที่ดินส่วนหนึ่งของสถานทูตอังกฤษโดยกลุ่มธุรกิจกลุ่มหนึ่งเพื่อนำมาพัฒนาในราคาตารางวาละเฉียดๆ ล้านบาท เป็นพื้นที่ที่ขายประมาณ ๙ ไร่เศษ หรือกว่า ๓,๖๐๐ ตารางวา ก็เป็นเงินร่วมๆ ๔,๐๐๐ ล้านบาท คงจะไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าที่ดินแปลงนี้คือแผ่นดินทองที่ไม่ใช่ของไทยเพราะเป็นกรรมสิทธิ์ของอังกฤษ

อดไม่ได้ที่เกิดอยากรู้ว่าทางอังกฤษได้ที่ดินผืนนี้มาในราคาเท่าไหร่ และเมื่อไหร่ จึงคว้าหนังสือเท่าที่มีอยู่ค้นเรื่องเดิมดู

อังกฤษเข้ามามีสัมพันธ์กับไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ความสัมพันธ์ขาดตอนไปในตอนปลายของสมัยอยุธยาในช่วงหลังรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อังกฤษได้ริเริ่มความสัมพันธ์กับไทยใหม่ในรัชกาลที่ ๒ โดยผู้สำเร็จราชการของอังกฤษในอินเดียส่งนายจอห์น ครอว์เฟิด (John Crawfurd) มาเจรจาในปี พ.ศ. ๒๓๖๔ (ค.ศ. ๑๘๒๑) แต่ไม่ประสบความสำเร็จโดยฝ่ายไทยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีทำการค้าตามข้อเสนอของอังกฤษ ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ อังกฤษส่ง ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) เข้ามาเจรจาอีกในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ (ค.ศ. ๑๘๒๔) สามารถตกลงทำหนังสือสัญญากันได้ในบางส่วน ในปี พ.ศ. ๒๓๙๓ (ค.ศ. ๑๘๕๐) รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษส่ง เซอร์เจมส์ บรูค (Sir James Brooke) เข้ามาเสนอร่างสนธิสัญญาให้ไทยพิจารณา ๙ ข้อ ไทยยอมรับได้เพียงข้อเดียว จึงตกลงกันไม่ได้๑

ในขณะที่การเจรจากับไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จประเทศตะวันตกได้เริ่มรุกเข้ามาแสวงหาที่มั่นทางตะวันออกโดย “อังกฤษยึดได้พม่าตอนใต้เป็นที่มั่นหลังพิชิตพม่าในสงคราม ๒ ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗-๖๙ (ค.ศ. ๑๘๒๔-๒๖) และปี พ.ศ. ๒๓๙๕-๙๗ (ค.ศ. ๑๘๕๒-๕๔) ในขณะที่จีนต้องยอมจำนนต่ออังกฤษในสงครามฝิ่น ทางตะวันออกฝรั่งเศสกำลังแสวงหาที่มั่นในอินโดจีน ทางใต้อังกฤษกำลังขยายอิทธิพลเข้ามาในแหลมมลายูหลังจากที่ยึดสิงคโปร์และปีนังได้แล้ว แม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งเคยดำเนินนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยวมาเป็นเวลา ๒๐๐ ปีเศษ ก็จำต้องเปิดประเทศ และยอมทำสนธิสัญญาคะนะงะวะ (Treaty of Kanagawa) กับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. ๒๓๙๗ (ค.ศ. ๑๘๕๔) และกับประเทศอื่นๆ…

 

 

ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษทรงแต่งตั้ง เซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มเชิญพระราชสาส์นมาเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีกับไทยในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ (ค.ศ. ๑๘๕๕) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงต้อนรับอย่างสมเกียรติ จนเป็นที่ประทับใจของอัครราชทูตอังกฤษมาก…การเจรจาก็ประสบความสำเร็จ อังกฤษและไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ต่อกันในวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๘ (ค.ศ. ๑๘๕๕) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามว่าสนธิสัญญาเบาว์ริง”๒ ซึ่งเป็นต้นแบบให้ไทยต้องทำสนธิสัญญากับประเทศตะวันตกอีกหลายประเทศในเวลาต่อมา

สาระสำคัญประการหนึ่งของสนธิสัญญาเบาริ่งคือการที่ไทยยอมให้อังกฤษจัดตั้งสถานกงสุลเพื่อพิจารณาคดีคนในบังคับอังกฤษโดยไม่ต้องขึ้นศาลไทย หลังลงนามในสนธิสัญญาแล้วในปี พ.ศ. ๒๓๙๙ (ค.ศ. ๑๘๕๖) รัฐบาลอังกฤษก็ส่งนาย ซี.บี. ฮิลเลียร์ (C.B. Hillier) มาเป็นกงสุลคนแรกซึ่งจำเป็นที่จะต้องหาที่ก่อสร้างสถานกงสุลขึ้นเพื่อเป็นที่ทำการ ในเวลานั้นการคมนาคมในกรุงเทพฯ อาศัยแม่น้ำลำคลองเป็นหลักยังไม่มีการตัดถนน สถานกงสุลประเทศต่างๆ จึงเลือกที่จะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นายฮิลเลียร์ได้พอใจกับที่แปลงหนึ่ง ซึ่งมีหลักฐานเป็นพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๔ ทรงมีไปถึงนายฮิลเลียร์ สาระสรุปได้ว่า

“ส่วนใหญ่ของที่ดินใกล้เคียงกับสถานกงสุลโปรตุเกสนั้นเป็นของชาวมาเลย์และพม่า เราจะดำเนินการให้เจ้าของที่ดินเหล่านั้นขายที่ดินให้กับท่านในราคาตารางวาละ ๑ บาท หรือต่ำกว่านั้นตามกฎหมายใหม่ของสยามและราชประเพณี แต่เรามีความลำบากเล็กน้อยเกี่ยวกับส่วนหนึ่งของที่ดินที่ท่านพอใจซึ่งเป็นของพระยาบรบาลสมบัติซึ่งเป็นขุนนางขึ้นกับพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๒ ซึ่งเราไม่สามารถจะดำเนินการให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองขายในราคาดังกล่าวได้”๓ แต่ปรากฏว่าทางกงสุลไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าที่ดินที่ต้องการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานเงินยืมให้เพื่อดำเนินการซื้อที่ดิน๔

การดำเนินการซื้อที่ดินเป็นไปโดยไม่ราบรื่น โดยมีคนในบังคับของอังกฤษคนหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งเป็นการผิดกฎหมาย ทำให้พระเจ้าอยู่หัวกริ้วและลงทัณฑ์โดยการโบย ซึ่งทำให้กงสุลอังกฤษประท้วงว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสนธิสัญญาที่เพิ่งตกลงกัน เรื่องจึงลงเอยโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินดังกล่าวให้กับทางอังกฤษ ดังปรากฏในจดหมาย ลงวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๐ (ค.ศ. ๑๘๕๗) จากลอร์ด แคลเรนดอน (Lord Clarendon) ถึงนายชาร์ลส์ เบลล์ (Charles Bell) แห่งสถานกงสุลอังกฤษ มีสาระสรุปได้ว่า

“เราได้รับหนังสือของท่านฉบับที่ ๒๙ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ศกที่แล้ว ระบุว่าพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๑ ได้ทรงแจ้งท่านว่าเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะทรงมอบที่ดินที่เลือกโดยอดีตกงสุลฮิลเลียร์ สำหรับเป็นสถานกงสุลอังกฤษ โดยจะมีประกาศในเวลาเดียวกันว่าที่ดินดังกล่าวเป็นการมอบให้เพื่อชดเชยการที่มีการจับกุมและประหารชีวิตคนในบังคับของอังกฤษ และพระองค์ทรงให้คำมั่นว่าจะไม่มีการละเมิดสนธิสัญญาในลักษณะนี้อีก ท่านโปรดกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๑ ว่า พระราชประสงค์ดังกล่าวเป็นที่พอใจของรัฐบาลของสมเด็จพระราชินี…” มีเกร็ดอีกเล็กน้อยว่าไม่มีการกล่าวถึงและคืนเงินที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ยืมเพื่อดำเนินการซื้อที่ดินผืนนี้แต่อย่างใด๕

ภาพด้านหน้าสถานกงสุลอังกฤษเดิม ที่ปรากฏอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ริมถนนเจริญกรุงก่อนที่ทางอังกฤษจะขายที่ดินให้กับรัฐบาลไทย และเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินไปซื้อที่ดินผืนใหม่บริเวณสี่แยก ถนนวิทยุตัดกับถนนเพลินจิตในปัจจุบัน (ภาพจาก เทพชู ทับทอง, อนุทินกรุงเทพฯ ภาพแห่งความทรงจ. น. ๒๗๔.)

สรุปว่าทางอังกฤษได้ที่ดินเพื่อทำเป็นสถานกงสุลผืนแรกไปฟรี แถมมีเงินที่มีมูลค่าเท่ากับราคาที่ดินติดกระเป๋าไปด้วย

ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ. ๑๘๗๔) สถานกงสุลอังกฤษแห่งนี้ มีส่วนในเหตุการณ์สำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เรียกกันว่า “วิกฤตวังหน้า” โดยเกิดความเข้าใจผิดกันขึ้นระหว่างวังหลวงกับวังหน้าจนถึงกับมีการลากปืนใหญ่เข้าประจำการหันปากกระบอกเข้าเผชิญหน้ากัน และต่อมาวังหน้าได้เสด็จออกจากวังมาประทับที่สถานกงสุลแห่งนี้จนกระทั่งเหตุการณ์ได้คลี่คลายลง โดยอังกฤษได้มีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้รับความสนใจจากหนังสือพิมพ์ในอังกฤษนำเสนอเป็นข่าวไว้

ข่าววิกฤตวังหน้า ในหนังสือพิมพ์อังกฤษ มีภาพอาคารสถานกงสุลอังกฤษเดิม (ภาพจาก The Illustrated London News, Febuary 6, 1875, p. 133.)

ต่อมาเมื่อกรุงเทพฯ เริ่มมีการตัดถนนหนทางการคมนาคมก็เคลื่อนย้ายจากในน้ำขึ้นมาบนบก สถานทูตต่างๆ ที่เคยตั้งอยู่ริมแม่น้ำก็เริ่มมีการเคลื่อนย้ายกัน สถานกงสุลอังกฤษก็เช่นเดียวกัน โดยได้ขอซื้อที่ดินบริเวณสี่แยกถนนวิทยุตัดกับถนนเพลินจิตในปัจจุบันจากบริษัทนายเลิด๖ เมื่อจะซื้อที่ดินใหม่ก็จะต้องมีการใช้เงิน ทางอังกฤษสามารถดำเนินการขายที่ดินที่ตั้งสถานกงสุลเดิมให้กับรัฐบาลไทย เอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินไปซื้อที่ดินผืนใหม่นี้ตั้งเป็นที่ทำการสถานทูตอังกฤษเรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน

อาคารไปรษณีย์กลางบนที่ดินสถานกงสุลอังกฤษเดิม ภาพถ่ายทางเครื่องบิน (ภาพจาก เทพชู ทับทอง, ภาพถ่ายประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ย้อนยุค, น. ๙๑)

ที่ดินที่ตั้งสถานกงสุลเดิมซึ่งรัฐบาลไทยรับซื้อมาแล้วได้ก่อสร้างเป็นที่ทำการไปรษณีย์กลาง “ที่ทำการแห่งแรกของกรมไปรสนียแลโทรเลข ที่ปากคลองโอ่งอ่าง ซึ่งแล้วเสร็จและเปิดทำการเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖”๗ ตรงกับ ค.ศ. ๑๘๘๓ เรียกว่าไปรสนียาคาร “มีหลักฐานว่าในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๒๗ คาร์ดู [ช่างชาวอิตาลี] ได้รับมอบหมายให้ออกแบบหอนาฬิกากลางอาคาร และต่อเติมชั้นบนสุดของอาคารเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชั้นเพื่อใช้เป็นสำนักงาน”๘ ซึ่งต่อมาอาคารนี้ถูกรื้อเพื่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าและพระปฐมบรมราชานุสรณ์ ไปสร้างที่ทำการใหม่บนที่ดินสถานกงสุลอังกฤษเดิม

จากหนังสือใกล้มือยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าเงินจากการขายที่ดินผืนเดิมกับราคาที่ดินผืนใหม่เป็นราคาเดียวกันหรือไม่ จึงตั้งสมมติฐานว่าเป็นราคาเดียวกัน เพราะนายเลิดไม่ได้ขายที่ดินทั้งหมดที่ตนมีอยู่บริเวณนั้นให้ เพียงแบ่งขายให้ส่วนหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นขนาดที่สมกับเงินที่ทางอังกฤษได้จากการขายที่ดินสถานกงสุลเดิมคืนให้กับรัฐบาลไทย นายเลิดจึงยังมีที่ดินเหลือตกทอดมาถึงลูกหลานสร้างเป็นโรงแรมห้าดาวดำเนินการอยู่จนทุกวันนี้ หากเป็นตามสมมติฐานนี้ก็เท่ากับว่าอังกฤษก็ได้ที่ดินที่เป็นที่ตั้งสถานทูตปัจจุบันมาโดยไม่ต้องควักเงินลงทุนอีกนั่นเอง

ขายที่แผ่นดินทองได้รับเงินหลายพันล้านไปแล้ว ทางอังกฤษยังมีที่ดินของสถานทูตเหลืออยู่ มีขนาดใหญ่กว่าที่ดินที่ขายไปแล้วเสียอีก เมื่อที่ดินที่ขายไปได้รับการพัฒนาแล้วที่ดินที่เหลืออยู่น่าจะยิ่งมีค่าสูงขึ้นอีกเป็นทวีคูณสมเป็นแผ่นดินทองโดยแท้

นับจากปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ที่อังกฤษได้ที่ดินผืนแรกไปกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็เป็นเวลาประมาณ ๑๕๐ ปี อังกฤษได้รับผลตอบแทนจากเรื่องที่ดินไปปีละ ๒๐ กว่าล้านบาท โดยไม่ต้องลงทุนแม้แต่บาทเดียว

เชิงอรรถ

๑ ดู แถมสุข นุ่มนนท์. การทูตไทยสมัยรัตนโกสินทร์. ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๘, น. ๑-๒.

๒ ศ.ดร. เพ็ญศรี ดุ๊ก. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย : ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงสิ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม. พิมพ์ครั้งที่ ๒. ราชบัณทิตยสถาน, ๒๕๔๔, น. ๖.

๓ ดู Office of the Prime Minister. The Committee for the Publication of Historical Documents. Foreign Records of the Bangkok Period up to A.D. 1932, A.D. 1982, p. 39-41.

๔ เพิ่งอ้าง

๕ เพิ่งอ้าง

๖ ดู เอนก นาวิกมูล. ถิ่นฐานบ้านเรา. พิมพ์คำ, ๒๕๔๖, น. ๑๗๔.

๗ “๑๐๐ ปี กรมไปรษณีย์โทรเลข,” น. ๕๗. อ้างใน พีรศรี โพวาทอง. ช่างฝรั่งในกรุงสยาม. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๘, น. ๑๑๘40

๘ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กต. (ล) ๒๑ เล่ม ๔๒ อ้างใน พีรศรี โพวาทอง. ช่างฝรั่งในกรุงสยาม. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๘, น. ๑๑๘.