เปิดวัง (ปารุสก์) เล่าเรื่อง เอกสารสำคัญราชสกุล ‘จักรพงษ์’ ปริศนา ‘มื้อสุดท้าย’ ก่อนทิวงคตที่สิงคโปร์
พนิดา สงวนเสรีวานิช เขียน
“…ข้าพระพุทธเจ้ายืนยามตั้งแต่บ่าย ๓ โมง จนถึง ๒ โมง ครั้งแรก ในเวลายืนยามจะกระดิกไปจากที่ หรือจะลงนั่งไม่ได้เป็นอันขาด ใครจะมีคำสั่งก็ทำไม่ได้ นอกจากพระราชโองการของเอมเปรอ หรือคำสั่งของนายร้อยผู้คุม แลนายสิบเอกผู้ช่วย ในระหว่างบ่าย ๓ โมงกับ ๒ โมงนี้ แกรนด์ดุ๊กคอนสตันติน ผู้บัญชาการกรมยุทธศึกษาได้เสด็จมาตรวจทั่วทุกแห่ง ทรงตรัสซักนักเรียนถึงน่าที่ของผู้ยืนยามโดยลเอียดมาก ข้าพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงซักเหมือนกัน แลที่พระพุทธเจ้าได้กราบทูลโดยเรียบร้อยดี….”
ลายพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงมีถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ส่วนหนึ่งของเอกสารสำคัญที่บอกเล่าประวัติศาสตร์สยามตอนหนึ่ง ระหว่างปี 2439-2453 ที่สำนักพิมพ์ริเวอร์รวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือ “ถึงลูกชายเล็ก”
เพิ่งเปิดตัวพร้อมกับนิทรรศการ “จักรพงษ์นิทรรศน์” เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการ ซึ่งจัดแสดง ณ ตำหนักจิตรลดา พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน สถานที่ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ เปิดให้เข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม-30 กันยายน 2560
กว่า 20 ปี เอกสารที่หายไป
“จักรพงษ์นิทรรศน์” นิทรรศการแสดงเรื่องราวผ่านพระราชหัตถเลขา ลายพระหัตถ์ เอกสารและสิ่งของหายากต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงพระประวัติและผลงานของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
รวมทั้งความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างพระราชวงศ์รัสเซียและราชสำนักสยาม ซึ่งความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการนั้นได้สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2440 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯเยือนรัสเซีย ทรงพบและพำนักอยู่กับจักรพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2 และตัดสินพระทัยที่จะส่งพระราชโอรส สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์มาทรงศึกษาที่รัสเซียใน พ.ศ.2441
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงใช้เวลาอยู่ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถึง 8 ปี ทรงจบการศึกษาเป็นอันดับหนึ่งจาก Corp dea Pages ทรงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทหารฮุสซาร์ และทรงศึกษาที่โรงเรียนทหารระดับสูง จนกระทั่งเสด็จนิวัตสยามในปี พ.ศ.2449 หลังพบรักและอภิเษกสมรสอย่างลับๆ กับสตรีชาวรัสเซียนามว่า “อีคาเทอรีนา เดนิสกายา” หรือ “หม่อมคัทริน” ที่คนทั่วไปคุ้นเคยในชื่อ “แคทยา” เอกสารพระราชหัตถเลขาและลายพระหัตถ์นี้ได้ตกทอดมาอยู่ในการครอบครองของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ แต่ต่อมาเอกสารหลายร้อยฉบับนี้ได้ถูกขโมยไป จนปรากฏอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีข่าวการประมูลของสำนักการประมูลคริสตี้ในกรุงลอนดอนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2538 เป็นข่าวครึกโครมที่กรุงเทพฯ ในขณะนั้น
“ช่วงที่ลายพระหัตถ์และพระราชหัตถเลขาหายไป ดิฉันยังเป็นเด็กมาก อายุ 15 เท่านั้น จำได้ว่าตอนนั้นคุณแม่ป่วยหนักและกำลังจะเสียชีวิตที่บ้านในมณฑลคอร์นวอลล์” ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ บอก และว่า
“เอกสารหายไปหลายสิบปี ที่สุดก็ปรากฏที่คริสตี้เมื่อสัก 20 ปีแล้ว คุณไพศาลย์ (ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์) โทรมาบอกว่ามีจดหมายที่กำลังจะประมูลที่คริสตี้ ดิฉันรีบไปดูทันทีก็เห็นว่าเป็นของตระกูล ต้องทำเรื่องหลายขั้นตอนกว่าจะได้จดหมายเหล่านี้คืนมา เลยมอบให้ห้องสมุด บริทิช ไลบราลี่ เก็บรักษาให้ สำหรับผู้ที่ต้องการเห็นต้นฉบับสามารถออนไลน์และดึงภาพมาใช้ได้ และนี่เป็นเหตุผลที่มอบให้ห้องสมุดที่นั่น เพราะระบบการดูแลของเขาดีมาก”
คุณหญิงสาบอกอีกว่า ในจักรพงษ์นิทรรศน์จะได้เห็นจดหมายเพียงบางส่วนจาก 300 กว่าฉบับ ยังมีสมุดบันทึกประจำวัน ฉลองพระองค์สมัยที่ทรงพระเยาว์ รวมทั้งช้างเงินตัวเล็กๆ ที่เมื่อก่อนประดับอยู่บนโต๊ะเสวย นำมาจัดแสดงโดยเห็นว่าปีนี้เป็นปีครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย
สายสัมพันธ์แนบแน่น “ไทย-รัสเซีย”
การเสด็จฯเยือนเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อ พ.ศ.2440 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโครลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและสมพระเกียรติ เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย
อย่างไรก็ตาม มิตรภาพระหว่างสองราชวงศ์ยิ่งกระชับแน่น และเป็นที่มาของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในเวลาต่อมา นั่นคือการส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ไปทรงศึกษาวิชาการทหารที่ประเทศรัสเซีย ในปีรุ่งขึ้น
“การที่ทรงศึกษาที่รัสเซีย พิเศษกว่าพระโอรสองค์อื่น เนื่องจากจักรพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงจ่ายค่าใช้จ่ายให้หมดทุกอย่าง ทั้งค่าเล่าเรียน ความเป็นอยู่ ทุกอย่างอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ การที่มีห้องในพระราชวังฤดูหนาว โดยที่จัดไว้สำหรับรับรองอาคันตุกะ โปรดให้มีมหาดเล็กรับใช้และเจ้าพนักงานห้องเครื่อง ยังมี “ผู้ปกครอง” คอยดูแลอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษ ได้ไปเรียนที่ Corp dea Pages ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับลูกนายพลของแกรนด์ดยุคสำคัญของรัสเซีย” ม.ร.ว.นริศราให้สัมภาษณ์ และว่า
ฉะนั้น ในวาระที่ปีนี้ 120 ปีความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย จึงเป็นเหตุผลที่การจัดนิทรรศการตอนนี้เป็นเรื่องที่เหมาะ
ในวันที่นำชม “จักรพงษ์นิทรรศน์” นอกจาก คุณหญิงสา ยังมี จุลจักร จักรพงษ์ หรือ “ฮิวโก้” หลานตาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ รวมทั้ง “ฮาน่า” ทัศนาวลัย และ น้องฮาเปอร์-ทัศนจักร จักรพงษ์ มาร่วมงาน พร้อมกับการเปิดตัวหนังสือ 2 เล่ม “ถึงลูกชายเล็ก” และ “สยามกับมหาสงครามโลกครั้งที่ 1”
ส่งกองอาสาร่วมสงครามโลก 1
จุดเปลี่ยนสยามประเทศ
ทั้งนี้ หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาที่รัสเซีย เสด็จกลับเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.2449 เข้ารับราชการทหารทันที
ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ เล่าว่า เมื่อแรกทรงเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหาร และเป็นเสนาธิการ ซึ่งเท่ากับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในสมัยนี้ เป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก และคงไว้วางพระราชหฤทัย คิดว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์จะมาพัฒนากองทัพบกให้ทันสมัยทัดเทียมยุโรป จะเห็นว่าทั้งในเรื่องเครื่องแบบ ยุทโธปกรณ์ได้รับการพัฒนาในสมัยพระองค์ท่าน
โดยเฉพาะเรื่องการประลองยุทธ์ ซึ่งทรงนำมาจากรัสเซียโดยตรง เป็นการแบ่งเป็นกองทัพใหญ่ 2 ฝ่ายและสู้รบกันจริง นี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสยามมาก่อน
อีกเรื่อง “การบิน” ในต้น พ.ศ.2454 มีนักบินเบลเยียมนำเครื่องบินมาสาธิตการบินที่ราชกีฑาสโมสร ที่ตรงนั้นมีแผนจะทำเป็นสนามบินปทุมวัน แต่เนื่องจากเป็นที่ลุ่มจึงไปดูทำเลใหม่ที่ดอนเมือง ปลายปี 2454 ได้ส่งทหาร 3 นายไปเรียนการบินในฝรั่งเศส ซึ่งสมัยนั้นฝรั่งเศสนับว่ามีเทคโนการบินที่ดีที่สุดในโลก อีก 2 ปีกลับมาตั้งกองทัพอากาศอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และตั้งกองบินในกรมทหารช่าง ในกองทัพบก ก่อนจะขยับฐานะเป็นกรมการบิน และเป็นกองทัพอากาศในปัจจุบัน จึงทรงได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศไทย”
ไพศาลย์บอกว่า คุณูปการอีกเรื่องคือ การทำแผนที่ เรียนจากโรงเรียนเสนาธิการ มีการตั้งกรมแผนที่ทหารบก โดยอดีตนายทหารคนสนิท หลวงสุรยุทธโยธาหาญ ต่อมาเป็นพระยาภักดีภูธร เป็นเจ้ากรมแผนที่ทหารคนแรก เป็นคนที่ท่านไว้วางพระราชหฤทัย
นอกจากนี้ ทรงเป็นอุปนายกสภากาชาดไทย ตั้งแต่ 2453 จนทิวงคต คุณูปการคือ ทรงหาทุนบำรุงสภากาชาด มีการเล่นละคร ฯลฯ หลังจากทิวงคตแล้วมีการตั้งตึกจักรพงษ์ในสภากาชาด
ไพศาลย์บอกอีกว่า ปีนี้ครบ 100 ปี สยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่อาคารด้านหลังจึงจัดให้มี นิทรรศการ “ร้อยปีสยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1”
“ทรงเป็นคู่คิดกับรัชกาลที่ 6 ส่งทหารไปสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 โดยท่านเป็นผู้อำนวยการส่งทหารกองอาสา และเป็นวิเทโศบายของ รัชกาลที่ 6 ถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรชนะ ไทยซึ่งอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะได้รับการยกฐานะประเทศสยามทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และเป็นเหตุผลที่ทำให้เราสามารถแก้สนธิสัญญาที่เสียเปรียบมหาอำนาจต่างๆ ในยุคนั้นให้เท่าเทียมกัน นี่คือประโยชน์ของการไปร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และทหารคนไทยในยุคนั้นก็ได้เรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ จากการสงคราม เพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสงครามยุคใหม่ มีการขุดสนามเพลาะสู้รบกัน ซึ่งในสงครามก่อนหน้านั้นไม่มี”
เบื้องหลังการทิวงคต
ที่ยังเป็นปริศนา
ในบรรดาพระราชหัตถเลขาและลายพระหัตถ์ รวมทั้งสิ่งของสำคัญ เอกสาร และรูปถ่ายกว่าร้อยชิ้น ที่เพิ่งเปิดให้ชมเป็นครั้งแรกนั้น นอกจากใบกำกับการเครื่องราชอิสริยภรณ์เซนต์อังเดร ที่พระจักรพรรดินิโคลัสพระราชทานให้แล้ว มุมหนึ่งในตู้จัดแสดงเอกสารสำคัญบนชั้น 2 ของพระตำหนัก มีเอกสารชิ้นเล็กๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่จนถึงปัจจุบันยังคงเป็นปริศนาอยู่
เอกสารชิ้นที่ว่ามีรูปธงไตรรงค์ไขว้ ตรงกลางธงมีตราเขียนว่า สโมสรกระลาโหม ข้างใต้ธง มีข้อความ “ความสุขสำหรับผู้รับเชิญ”
นี่คือ เมนูพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ก่อนประชวรและทิวงคตในเวลาต่อมาที่สิงคโปร์
“วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2463 มีงานเลี้ยงที่สภากลาโหม เป็นเมนูสุดท้ายที่เสวยกับนายทหารคนสนิท และทุกคนคิดว่าทรงถูกวางยา เพราะหลังจากวันนั้นวันที่ 4 มิถุนายน เสด็จสิงคโปร์ไปพักผ่อน โดยพาหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส กับพระโอรส (พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) ไปด้วย ลงเรือไปวันที่ 4 มิถุนายน ก็เริ่มประชวร และทิวงคตในวันที่ 13 มิถุนายน 2463”
ไพศาลย์บอก และว่า เมนูพระกระยาหารมื้อสุดท้ายนี้เพิ่งจะมีการเปิดเผยในการจัดแสดงครั้งนี้ ซึ่งบันทึกในหนังสือเกิดวังปารุสก์กล่าวว่า ท่านมีการเลี้ยงอาหารค่ำ ที่สภากลาโหมกับเพื่อนนายทหารของท่าน แล้วหลังจากนั้นเพื่อนนายทหาร 2 ท่านตายด้วยอาการเดียวกันเลย ไล่ๆ กัน แล้วท่านเป็นองค์ที่ 3 มีการให้บัตรสนเท่ห์ว่าให้ท่านระวังตัวจะมีคนวางยาพิษ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นปริศนา
“น่าประหลาดเพราะมีนายทหารตายไล่ๆ กัน ล้วนเป็นนายทหารคนสนิทของท่านด้วยกันทั้งสิ้น”
หลังจากทิวงคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งรถไฟขบวนหนึ่ง นำพระโกศเปล่าขึ้นรถไฟ ทางสิงคโปร์ก็นำพระศพใส่โลงฝรั่งเคลื่อนมาเจอกัน แล้วเปลี่ยนพระศพจากโลงใส่พระโกศ จากนั้นนำพระโกศขึ้นรถไฟจากบัตเตอร์เวอร์ธ ค้างคืนที่หาดใหญ่ วันที่ 20 มิถุนายน พระศพจึงมาถึง
ใช้เวลา 7 วันในการเดินทางมาจากสิงคโปร์ และมีการเคลื่อนพระศพโดยราชรถรางปืน เนื่องสมัยนั้นถ้าเป็นเจ้านายที่เป็นทหารต้องเคลื่อนพระศพด้วยราชรถรางปืน เช่นเดียวกับในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งนี้จะมีการสร้างราชรถรางปืนถวายในฐานะที่ท่านทรงเป็นจอมทัพ
จากนั้นมีการเคลื่อนพระศพข้ามจากสถานีรถไฟบางกอกน้อย มายังท่าเรือวัดราชาธิวาส แล้วเคลื่อนมาตามถนนสามเสนมาถึงที่นี่ (วังปารุสกวัน) ตั้งพระศพที่ห้องรัสเซีย มีงานพระศพ และถวายพระเพลิงที่สนามหลวง
สำหรับผู้ที่สนใจ เข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม-30 กันยายน 2560 วันพุธ-ศุกร์ 10.00-16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 10.00-18.00 น. หยุดวันจันทร์-อังคาร และวันนักขัตฤกษ์ ณ ตำหนักจิตรลดา พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน