วันพฤหัสบดี 12 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

เปิดวินาทีทหารคณะราษฎรชักปืนใส่ “เจ้านาย” ในปฏิวัติ 2475 จากบันทึกเจ้านายสตรี

พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับยืนจากซ้าย 1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (ต้นราชสกุลรังสิต) 2. สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ต้นราชสกุลมหิดล) 3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ (ต้นราชสกุลยุคล) 4. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 5. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นราชสกุลบริพัตร) 6. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (ต้นราชสกุลฉัตรไชย) 7. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร (ต้นราชสกุลวุฒิไชย) จากซ้าย แถวกลาง 1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศศิพงศ์ประไพ 2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเวศวรสมัย 3. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลพรรณ 4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี 5. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี  6. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิศมัยพิมลสัตย์ จากซ้าย แถวหน้า 1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา 2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี 3. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร 4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา (ภาพจากหนังสือ ราชพัสตราภรณ์)

ผู้เขียนกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2562

ช่วงเกิดเหตุการณ์คณะทหารออกปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เจ้านายสตรีที่ประทับอยู่ในวังต่าง ๆ ต่างมีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้และถ่ายทอดออกมาผ่านบันทึกอย่างหลากหลาย ซึ่งล้วนสะท้อนสภาพและบรรยากาศปรากฏการณ์ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศได้ระดับหนึ่ง

เจ้านายสตรีฝ่ายในตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เรื่อยมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงประทับอยู่ในพระตำหนักฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะประทับตามวังต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ  โดยผู้ที่เป็นเจ้าของวังเหล่านั้นมีทั้งพระราชโอรส พระราชธิดา และพระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่หลายพระองค์ เช่น

  • วังบางขุนพรม – สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
  • วังวรดิศ – สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  • วังคลองเตย – สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
  • วังสวนสุนันทา – สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
จากซ้ายไปขวา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้สร้างความวิตกให้กับพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ โดยเฉพาะกับเจ้านายสตรีที่ประทับอยู่ในวังต่าง ๆ เหล่านั้น เนื่องจากทหารคณะปฏิวัติได้มาคุมตัวเจ้านายพระองค์สำคัญ ๆ ในพระราชวงศ์ไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ขณะที่เจ้านายสตรีหลายพระองค์ก็มิได้หวั่นเกรงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ขณะทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ที่วังบางขุนพรม พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบงทรงบันทึกเหตุการณ์ในเช้าวันนั้นว่า

“ข้าพเจ้านอนอยู่ในห้อง ซึ่งมองเห็นแม่น้ำ ถูกปลุกขึ้นเพราะเสียงปืนหลายนัด ลุกขึ้นไปที่เฉลียงเล็กหน้าห้องเจ๊กคนสวน 2 คน ที่สนามหญ้าใกล้ตำหนัก จึงตะโกนถามว่า “ใครเข้ามายิงนกถึงที่นี่” คนสวนบอกว่า “ไม่ใช่ยิงนก” ข้าพเจ้าออกวิ่งไปทางสะพานถึงเฉลียงตำหนักใหญ่ เห็นแม่ยืนอยู่ตรงช่องสุดท้ายของเฉลียง เยี่ยมดูอยู่องค์เดียว ไม่มีข้าหลวงสักคน ที่ห้องข้าพเจ้าก็เหมือนกัน ยิ่งไม่มีใครขึ้นมาเลย เห็นคนใส่ยูนิฟอร์มทหารบ่าแดงกลุ่มใหญ่ยืนอยู่ริมสนาม แม่และข้าพเจ้าก็ดูไม่ออกว่าเป็นทหารเหล่าไหน

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง (ภาพจากหนังสือที่ระลึกการพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง, wikipedia)

ข้าพเจ้าชวนแม่เดินลงไปตำหนักน้ำ แล้วเดินไปลงอัฒจันทร์ใหญ่ เร็วเท่าที่แม่จะวิ่งได้ เลี้ยวขวาไปถึงทางลงไปถนน พอถึงระยะที่มองเห็นพ่อ ทรงสนับเพลาขาว ฉลององค์ขาว ชุดบรรทม ยืนอยู่กับอีกหลายคน ข้าพเจ้าก็ออกวิ่งจี๋ ทิ้งแม่ไว้ข้างหลัง ข้าพเจ้าเห็นนายตำรวจ 2 คนยืนอยู่หลังทูลหม่อมพ่อ… มีเด็จย่า น้องๆ และหม่อมสมพันธ์ รายล้อมอยู่ ต่อมาแม่ก็เข้ากองด้วย

โดยความสัตย์จริงแล้วไม่ได้รู้สึกกลัวมากมายอะไร หรือจะตกใจจนชาก็ไม่ทราบ เขาคะยั้นคะยอก็เลยเดินลงสะพานน้ำตามๆ กันไป แม้แต่เด็จย่า ซึ่งพระชันษา 68 แล้ว และสมัยนั้นนับว่าเป็นคนแก่มาก ก็มีหอกปลายปืนจ่อเดินขึ้นมาอย่างสง่าผ่าเผย

ขณะที่ หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า “เช้าวันนั้นฉันตื่นนอนแล้วเข้าห้องน้ำ เจ้าพี่หญิงใหญ่มาทรงตบประตูเรียกให้ออกไปและรับสั่งด้วยพระอาการร้อนรนว่า “มัวแต่อยู่ในห้องน้ำ เร็ว ๆ เข้าสิ มีคนมาบอกว่าเกิดอะไรไม่รู้ที่วังบางขุนพรหม ทูลกระหม่อมเสด็จลงเรือไปแล้ว”

ผู้ที่ทรงเคาะประตูเรียกหม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล คือ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยทหารคณะปฏิวัติได้ทูลเชิญสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปพระที่นั่งอนันตสมาคม หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล ทรงบันทึกไว้อีกว่า เจ้านายพระยศสูง ๆ ถูกนำตัวไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคมจำนวนมาก แล้วหม่อมเจ้าทักษิณาธร ดิศกุล หรือที่เรียกกันลำลองว่าหญิงโหล มาหาพระองค์แล้วประทับอยู่ด้วยกันสองพระองค์ด้วยความวิตก ทรงบันทึกว่า

เราจัดการผูกมุ้งนอนกันสองคนที่เฉลียงนอกห้องนอน เผื่อว่ามีใครโผล่ขึ้นมาคิดจะฆ่าเรา จะได้เห็นหน้าชัด ๆ ก่อนว่าเป็นใคร นอนเกยกันอยู่ทั้งคืนจนเช้าก็ไม่เห็นมีอะไร จากนั้นบรรดาพระญาติที่หลบภัยไปก็กลับมากัน”

ทางด้านวังสวนสุนันทา ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นวังที่มีเจ้านายฝ่ายในประทับอยู่มากกว่าวังอื่น ๆ ได้มีทหารจากคณะปฏิวัติมาเฝ้าวังสวนสุนันทาจนทำให้เจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ตื่นตกใจกลัว บรรดาเจ้านายฝ่ายในจึงมาร่วมตัวกันที่ตำหนักของสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ พระธิดาในรัชกาลที่ 5 ซึ่งขณะนั้นสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ ถือเป็นองค์ประธานในเขตวังสวนสุนันทาเพราะพระองค์มีพระยศสูงที่สุด

ที่วังสวนสุนันทานั้น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร พระธิดาในพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขณะนั้นมีพระชนม์ประมาณ 10 พรรษา ทรงบันทึกไว้ภายหลังว่า “ได้มีความกลัวเป็นกำลัง กลัวอะไร กลัวใครก็ไม่รู้ รู้แต่ว่ากลัวแบบกลัวผี ยิ่งได้ทราบข่าวว่าเขาส่งนักเรียนนายดาบมาเฝ้าหน้าประตูวังชั้นนอกของวังสุนันทาแล้วยิ่งกลัวใหญ่”

“มันคล้ายๆ กับบ้านแตกสาแหรกขาด คือไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น”

นอกจากนี้เจ้านายสตรีบางพระองค์ก็ถูกนำไปเป็น “ตัวประกัน” ด้วยเช่นกัน เช่น หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร พระชายาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ หม่อมเจ้าพัฒนายุ ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ พระธิดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งล้วนเข้าไปอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อดูแลพระสวามีและพระบิดาที่ถูกนำไปเป็นตัวประกัน

ซ้าย-หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร, กลาง-หม่อมเจ้าพัฒนายุ ดิศกุล, ขวา-หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์

อย่างไรก็ตาม เจ้านายสตรีพระองค์หนึ่งที่มิได้หวาดกลัวเหตุการณ์นี้คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ พระธิดาในรัชกาลที่ 5 เมื่อเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติขึ้นยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังไม่ยอมเสด็จไปไหน แม้ว่าจะมีคนใกล้ชิดอยากให้เสด็จประทับที่อื่นหรือเสด็จต่างประเทศ แต่พระองค์ก็ไม่เสด็จ ทำนองวาทะว่า “จะให้ยึดอะไรก็ยึดไป ไม่กลัวตายเลยทั้งนั้น”

ขณะที่เจ้านายสตรีที่ดำรงพระยศสูงสุดในฝ่ายในในขณะนั้นคือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ที่ทรงประทับอยู่ที่วังไกลกังวลพร้อมด้วย รัชกาลที่ 7 พระองค์มีพระราชดำรัสถึงเหตุการณ์นี้ว่า

“ฉันไม่คิด ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าจะตายก็ตายด้วยกัน”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)