19 พ.ค.61 – นายใจ อี้งภากรณ์ บุตรชายดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เผยแพร่ความเห็นเรื่อง “ธนาธรคุยเรื่องแรงงานจากมุมมองนายทุน” ผ่าน turnleftthai.wordpress.com โดยระบุว่า “เมื่อวันก่อน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้คุยกับ สุนทร บุญยอด และคุณบัวลอง เรื่องแรงงาน แต่ส่วนใหญ่เป็นการสร้างภาพเท่านั้น และข้อเสนอไปไม่ไกลพอ จะขออธิบายเพิ่ม
ธนาธรพูดว่าธุรกิจต้องได้กำไรก่อนอื่น ถ้าบรษัทหนึ่งขึ้นค่าแรงหรือเพิ่มสวัสดิการ ก็จะแข่งกับคู่แข่งไม่ได้ ดังนั้นต้องทำทั้งประเทศ … แต่คำถามที่ตามมาคือเรื่องการแข่งขันกับต่างประเทศ ถ้าประเทศคู่แข่งของไทยกดค่าแรงและสวัสดิการ มันจะกลายเป็นข้ออ้างในการกดค่าแรงและสวัสดิการของคนงานไทยใช่ไหม? เพราะข้ออ้างของพวกเสรีนิยมกลไกตลาดแบบนี้ใช้กันทั่วโลก
ธนาธรบอกว่าต้องบังคับใช้ 40 ชม.ต่อสัปดาห์! แต่40 ชม.ต่อสัปดาห์มันมากเกินไปและแรงงานสากลเรียกร้อง 35 ชม.ต่อสัปดาห์มานานแล้ว ควรหยุดทั้งเสาร์อาทิตย์และเงินเดือนสำหรับการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ควรจะพอสสำหรับวิถีชีวิตที่ดี
ธนาธรมองว่าแรงงานไม่มีความรู้ และเปลี่ยนชนชั้น ยกระกับตนเองไม่ได้ พูดตามสูตรพวกกลไกตลาด สร้างภาพว่าคนทำงานควรพยายามเป็นนายทุนน้อย และใครที่ทำไม่ได้ก็ต้องโทษตนเอง จริงๆ แล้วในโลกจริงชนชั้นกรรมาชีพทั้งชนชั้นแปรสภาพไปเป็นชนชั้นกลางไม่ได้ เราควรเรียกร้องให้สภาพความเป็นอยู่ของลูกจ้างทุกคนดีพอที่จะมีวิถีชีวิตที่ดี ผ่านการขึ้นค่าแรง ลดชั่วโมงการทำงาน เพิ่มวันลาพักร้อน และสร้างรัฐสวัสดิการต่างหาก คนทำงานธรรมดาจะได้ไปเที่ยวต่างประเทศเหมือนธนาธร
ธนาธรพูดถึงสวัสดิการค่าเลี้ยงดูบุตร สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนเข้าอนุบาลในทุกชุมชน และการลดภาษีให้คนจน แต่ไม่แตะ “รัฐสวัสดิการ” แบบถ้วนหน้าผ่านการเก็บภาษีในอัตราสูงเป็นพิเศษจากคนรวยและกลุ่มทุน นอกจากนี้ข้อเสนอให้นำคนสูงวัยมาเลี้ยงลูกหลานในสถานรับเลี้ยงเด็ก เหมือนกับการบังคับให้คนชราต้องทำงานต่อโดยไม่สามารถเกษียณได้ ใช่หรือไม่? ต้องดูเงื่อนไขและรายละเอียด
ข้อเสนอให้รัฐมนตรีแรงงานเป็นตัวแทนแรงงานเคยถูกนำมาใช้ในฟิลิปปินส์และลาตินอเมริกา และถูกนำมาใช้เพื่อหลอกใช้แรงงานและควบคุมการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานต่างหาก ไม่ใช่ว่าขบวนการแรงงานจะมีอำนาจคุมรัฐบาลแต่อย่างใด
ที่สำคัญคือธนาธรไม่แตะการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปกฏหมายแรงงาน เพื่อเพิ่มสิทธิกับสหภาพแรงงานในการเคลื่อนไหวและนัดหยุดงาน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่อาจสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงาน
ไม่มีการพูดถึงการต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำลายสภาพการจ้างของพนักงาน อีกด้วย
สุนทร บุญยอด หวังว่าแรงงานจะกำหนดนโยบายให้พรรค แต่ธนาธรกลับพูดถึงทีมนักวิชาการ ที่จะเสนอนโยบายต่างหาก เช่นในเรื่องสวัสดิการ
สรุปแล้วเป็นการสร้างภาพเพื่อดูดี
ขบวนการแรงงานต้องสร้างพรรคของตนเองจากล่างสู่บน เพื่อไม่ให้ถูกนักการเมืองนายทุนหลอกใช้”