วันพุธ 11 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

แรกกำเนิดประชาธิปไตย ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

(คำนำ)
เห็นว่าบ้านเมืองของประเทศไทยในฤดูการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้กำลังมีความขัดแย้งเรื่องวันเวลาของการเลือกตั้งครั้งสำคัญ จนนำไปสู่การโจมตีทางการเมืองเกี่ยวกับการพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูงและทหารบางฝ่ายว่าไม่ต้องการให้ประเทศนี้มีประชาธิปไตย

เรื่องนี้นับว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และเป็นการให้ร้ายป้ายสีอย่างไม่มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น

วันนี้ (๘ มกราคม ๒๕๖๒) จึงขอนำเอาประวัติศาสตร์บางส่วนเพื่ออธิบายถึงเจตนารมณ์ของ บูรพกษัตริย์สยาม ต่อระบอบประชาธิปไตย
—————————————-

 

เรื่องนี้หากย้อนถึงประวัติศาสตร์ สมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่ง เริ่มต้น ปี พ.ศ.๒๔๒๗ (ร.ศ.๑๐๓) ซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ในฐานะอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศสได้ทรงทำรายงานสถานการณ์ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับภัยของชาติมหาอำนาจตะวันตก ที่ต้องการยึดสยามเอาไว้ หากไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยยกกรณีการยึดราชอาณาจักรพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ โดยอ้างว่าเป็นการปฏิรูปสังคมให้เกิดความมีอารยะ

ท่ามกลางความขัดแย้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริในการ ใช้วิธี “คอฟเวอร์เมนต์รีฟอม” (การปฎิรูปการเมืองการปกครอง) แทนการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งระบบ โดยร่างรัฐธรรมนูญ ๒๐ มาตรา เรียกว่าร่าง พระราชกฤษฎีกาที่ ๑ ว่าด้วยประเพณีกรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงต้องการให้มีกฎหมายกำหนดขอบเขตพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ และ ปฎิรูปบ้านเมืองครั้งสำคัญ เช่น กฏหมาย คมนาคม สาธารณะสุข และอีกหลายประการ

 

 

ภายหลัง พ.ศ. ๒๔๔๕ กระนั้นก็ยังมีการพยายามยุแยงผ่านนักหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น (เช่น ก.ศ.ร.กุหลาบ – และ เทียนวรรณ เป็นต้น) ด้วยการเรียกร้องให้มีการปกครองแบบรัฐสภาเลียนแบบฝรั่งเศส

พระองค์ก็ทรงชี้แจงไว้ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคีแก้ความในคาถาที่มีในอามแผ่นดิน” ด้วยว่าเหตุใดพระองค์จึงยังไม่ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยให้เป็นไปตามแบบฉบับของประเทศในยุโรปโดยทันทีแต่จะกระทำไปอย่างช้าๆ

“เพราะฉะนั้นจะป่วยการกล่าวไปถึงความคิดที่จะตั้งปาลิเมนต์ขึ้นในหมู่คนซึ่งไม่มีความรู้พอที่จะคิดราชการ และไม่เป็นความต้องการของคนทั้งปวง นอกจากที่อยากจะเอาอย่างประเทศยุโรปเพียงสี่ห้าคนเท่านั้น …

ถ้าจะจัดตั้งปาลิเมนต์ หรือให้เกิดมีโปลิติกัลปาตีขึ้นในเวลาที่บ้านเมืองยังไม่ต้องการดังนี้ ก็จะมีแต่ข้อทุ่มเถียงกันจนการอันใดไม่สำเร็จไปได้ เป็นเครื่องถ่วงให้บ้านเมืองมีความเจริญช้า…

ส่วนเมืองเราราษฎรไม่มีความปรารถนาอยากจะเปลี่ยนแปลงอันใด
การที่อยากเปลี่ยนแปลงนั้นกลับเป็นของผู้ปกครองบ้านเมืองอยากเปลี่ยนแปลง
ถ้าจะตั้งปาลิเมนต์ขึ้นในเมืองไทย เอาความคิดราษฎรเป็นประมาณในเวลานี้แล้ว
ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่ได้จัดการอันใดได้สักสิ่งหนึ่งเป็นแน่แท้ทีเดียว คงจะเถียงกันป่นปี้ไปเท่านั้น”
-พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคีแก้ความในคาถาที่มีในอามแผ่นดิน

แต่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงยอมรับว่า การปกครองของประเทศจะต้องเปลี่ยนไปในทางที่จะมีรัฐสภาและรัฐธรรมนูญในภายหน้า ถึงกับมีพระราชดำรัสในที่ประชุมเสนาบดีว่า

“ฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองไทยทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์กล่าวคือ ฉันจะให้เขามีปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น”
พระราชดำรัสนี้ทรงกล่าวในที่ประชุมเสนาบดี ณ พระที่นั่งราชกรัณยสภา พ.ศ.๒๔๕๓ อ้างอิง ว.ช.ประสังสิต, แผ่นดินพระปกเกล้าฯ (พระนคร : ผดุงชาติ, ๒๕๐๕), หน้า ๔๖.

 

 

บทเรียนประชาธิปไตย

ก่อนหน้านั้นไม่นาน สมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ขณะที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

ประมาณกลางปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ทรงเริ่มโครงการเมืองทดลอง ณ พระตำหนักอัมพวา โดยทำเป็นเมืองขนาดเล็ก และมีการพัฒนาต่อเนื่องจนกลายเป็นเมืองดุสิตธานี … ทั้งนี้ ดุสิตธานี เป็นเมืองจำลองรูปแบบระบอบประชาธิปไตย เพื่อใช้การจำลองสถานการณ์ การบริหารและภัยพิบัติทางการเมือง

ดุสิตธานี มีขนาดพื้นที่ ๑ ใน ๒๐ เท่าของเมืองจริง ประกอบด้วย พระราชวัง ศาลารัฐบาล วัดวาอาราม สถานที่ราชการ โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ร้านค้า ธนาคาร โรงละครประมาณเกือบสองร้อยหลัง เพื่อเป็นแบบทดลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยโปรดให้มีพระธรรมนูญการปกครองลักษณะนัคราภิบาล ซึ่งเปรียบลักษณะของเมือง มีพรรคการเมือง ๒ พรรค การเลือกตั้งนัคราภิบาล หรือนายกเทศมนตรี(ตำแหน่งนี้ปัจจุบันเปรียบได้กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน) และมีสภาการเมือง(หรือรัฐสภาในปัจจุบัน)แบบระบอบประชาธิปไตย และมีนาคาศาลา(เทียบได้กับศาลากลางบ้านหรือศาลากลางชุมชน)ซึ่งมีความหมายว่า ศาลาของประชาชน

 

รายละเอียด การปกครองในเมืองจำลองดุสิตธานี

เมืองจำลองดุสิตธานีมีข้อกำหนดเพื่อใช้ในการควบคุมและปกครองทวยนาครในดุสิตธานี ชื่อ ธรรมนูญดุสิตธานี ลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล ธรรมนูญนี้ได้ทดลองใช้ที่ดุสิตธานีก่อนจะนำไปใช้ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีพระยาบุรีนวราษฐ์ (ชวน สิงหเสนี) เป็นผู้อ่านประกาศธรรมนูญลักษณะปกครอง เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้วโปรดให้มีการเลือกตั้งเชษฐบุรุษ และนคราภิบาล ตามรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารับผิดชอบดำเนินงานการปกครองในดุสิตธานี ทรงตั้งและสังกัดคณะแพรแถบสีน้ำเงิน ให้ทำหน้าที่คล้ายกับพรรคฝ่ายค้าน เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๒ ขณะเดียวกันก็ทรงสนับสนุนมหาดเล็กอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือพิมพ์ให้ตั้งคณะแพรแถบสีแดงขึ้นมาต่อสู้กัน ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๖๕ จึงได้ออกกฏธานิโยปการ เพื่อวางระเบียบและอัตราพิกัดภาษีสำหรับดุสิตธานี เพื่อฝึกราษฎรให้รู้จักปกครองตนเองด้วยเสรีภาพหรือประชาธิปไตยในสมัยปัจจุบัน

 

 

นอกจากนี้ภายในเมืองจำลองดุสิตธานียังมีการออกหนังสือพิมพ์สำหรับทวยนาครแห่งนี้ ๓ ฉบับ เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ๒ ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย และ หนังสือพิมพ์ดุสิตสักขีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ๑ ฉบับ ชื่อ หนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต หนังสือพิมพ์รายวันออกเพื่อนำเสนอข่าวสารความเป็นไปในดุสิตธานี ข่าวต่างธานี สุภาษิต คำสั่งสอน และเขียนโจมตีเรื่องส่วนบุคคลต่างๆ ซึ่งนับว่าผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นยังไม่มีทักษะเพียงพอ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสอนวิธีนำเสนอข่าวด้วยการตั้งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ ดุสิตสมิต ขึ้นแล้วทรงฝึกให้แสดงความคิดเห็น มีการประท้วงและติชมเพื่อตักเตือน โดยไม่เฉพาะเจาะจง จะได้ไม่เกิดความอับอายหรือเสียหน้า รวมทั้งยังทรงวาดภาพล้อตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ด้วยภาพเหล่านี้ สะท้อนพระอัจฉริภาพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงจดจำลักษณะเด่นของแต่บุคคลมาแสดงด้วยภาพได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันยังมีหนังสือพิมพ์เหล่านี้เหลือเป็นหลักฐานให้ศึกษาเรียนรู้ ณ ห้องสมุดภายในหอวชิราวุธานุสรณ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติด้วย

ที่มา : นิตยสารศิลปากร

 

ต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงตั้ง “สมาคมครึ” ซึ่งหมายถึง สมาคมว่าด้วยเรื่องที่ยากจะเข้าใจ
ชื่อสมาคมครึน่าจะแปลว่า สมาคมว่าด้วยเรื่องที่ยากจะเข้าใจ พระองค์ทรงก่อตั้งสมาคมนี้ด้วยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือมีพระราชประสงค์จะให้คนไทยเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ก่อนที่จะ จัดตั้งปาลิเมนต์

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กล่าวถึงสมาคมครึ ในหนังสือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า ว่า
“…ทรงนำวิธีการของประชาธิปไตยมาใช้ในกิจการของสมาคมซึ่งทรงตั้งขึ้นและมีนามแปลก ๆ ว่า “สมาคมครึ” อันที่จริงกล่าวว่าทรงยกสภาของอังกฤษมาตั้งที่กรุงเทพฯ ให้คนชมก็คงไม่ผิด การจัดที่นั่งของสมาชิกก็ดี วิธีโต้เถียงตลอดจนวิธีจดรายงานการประชุมลอกประชาธิปไตยแบบครูมาทั้งสิ้น”

ทั้งนี้ทรงมุ่งหมายจะให้คนไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีประชาธิปไตย
สมาชิกของสมาคมครึมีประมาณ ๓๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ
หม่อมหลวงปิ่นให้เหตุผลว่า
“เพราะสมัยนั้น คนไทยยังดำเนินการแบบประชาธิปไตยไม่เป็น จะต้องดูชาวต่างประเทศไปก่อน สมาชิกที่เป็นคนไทยมีอยู่บ้าง เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวาณีราชกัญญา พระยาประสิทธิ์ศัลการ หลวงสุนทรโกษา เป็นต้น”

 

ความน่ารักของการเรียนรู้ประชาธิปไตย

สมาชิกของสมาคมครึทุกคนจะต้องเป็นผู้แทนเมืองใดเมืองหนึ่ง จะเป็นเมืองในต่างประเทศก็ได้ และใช้นามแฝงแทนชื่อตัวเองก็ได้ เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง สมมุติพระนามของพระองค์ว่า เอ.แอล.เอม.เอ็ส. อ๊อกสฟอร์ด ผู้แทนอ๊อกสฟอร์ดตะวันออก นอกจากนั้นสมาชิกแต่ละคนต้องสังกัดพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งใน ๒ พรรค
คือ ๑. พรรคสุภาพบุรุษ และ ๒. พรรคแรงงาน

พรรคสุภาพบุรุษได้แบบอย่างจากพรรคอนุรักษ์นิยม ส่วนพรรคแรงงานได้แบบอย่างจากพรรคแรงงานของอังกฤษ

นันทคมสมาคมครึส่งเสริมการกีฬาเป็นส่วนใหญ่ มีการเลือกตั้งนายกสมาคมทุกเดือน เมื่อเลือกได้นายกสมาคมแล้ว นายกสมาคมก็แต่งตั้งบุคคลในพรรคเดียวกันให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ อีก
๙ ตำแหน่ง ได้แก่ เหรัญญิก ผู้ช่วยเหรัญญิก บรรณารักษ์ ผู้แทนชาวต่างประเทศ เลขานุการชมรมคริกเก็ต เลขานุการชมรมฟุตบอล เลขานุการชมรมละคร ผู้แทนสมาชิกสตรี และเลขาธิการสภา

ฤกษ์เปิดสมาคมครึ เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ ๑๐.๓๒ น. ของวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดงาน ๓ วัน เสร็จกิจกรรมแล้วแจกเหรียญที่ระลึก

(ข้อมูล สมาคมครึ อ้างอิงจากเอกสารโบราณ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา และ รายการวิทยุ “เพลินภาษา ๕ นาที” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ พฤจิกายน ๒๕๖๑ )

 

ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้น
คือเยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์ สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี…
พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ความมั่นคงมาพร้อมการศึกษาและจิตอาสา

ทรงจัดตั้งกองเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้น เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ จัดตั้งขึ้นในลักษณะกองอาสาสมัครรักษาดินแดนหน่วยงานแรกในประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร เพื่อเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง รู้จักระเบียบวินัย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ต่อจากนั้นอีก ๒ เดือน ก็ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ และ ทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียน ต่าง ๆ ให้กำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น รวมทั้งพระราชทาน คำขวัญให้ลูกเสือว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์”

 

 

“กระดุมเม็ดแรกของประชาธิปไตย”
“กระดุมเม็ดแรกต้องติดให้ดี …ติดผิด ทุกอย่างจะผิดหมด”

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ภายหลังการเถลิงถวัลยราชสมบัติ สองปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงจัดตั้ง สโมสรสามเหลี่ยมขึ้นภายในสวนจิตรลดา และมีชื่อเป็นทางการว่า จิตรลดาสโมสร โดยเป็นการรวบรวม ข้าราชบริพาร ทั้งในและนอกราชสำนัก รวมไปถึง ทหาร และ พลเรือนผู้จงรักภักดี ที่สุด…เป็นต้น

 

 

ทรงตั้งสโมสรนี้ขึ้นเพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาสพบปะกันและเฝ้าแหนพระองค์อย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุที่บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่อยู่ ‘วงใน’ จึงทรงนำวิธีการบางอย่างของพวกฟรีเมซัน (Free Mason) ซึ่งเป็นสมาคมลับของอังกฤษ-อเมริกัน มาใช้ เช่นให้มีเสื้อครุยสำหรับสมาชิก มีผู้ถือไม้อาญาสิทธิสำหรับลงโทษสมาชิกที่ประพฤติผิดวินัย และมีนายทะเบียนเป็นต้น ตราของสมาคมนี้เป็นรูปสามเหลี่ยม และสมาชิกมีสิทธิใช้กระดุมสามเหลี่ยมเป็นกระดุมเม็ดแรกของเสื้อแบบราชการ

 


 

โดยปกติมักนัดพบกันอาทิตย์ละครั้ง ซึ่งมีการรับประทานอาหารค่ำพร้อมกัน และบางทีก็มีการแสดงต่างๆ เช่น โขน ละคร ลำตัด ฯลฯ ต่อจากการรับประทานอาหารด้วย เมื่อดูโดยผิวเผินจึงเห็นเป็นแต่สมาคมสำหรับการรื่นเริง ผู้ใหญ่ท่านเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเข้มงวดเรื่องผู้ที่จะเชิญเป็นสมาชิกมาก แม้แต่พระอนุบาลชั้นเจ้าฟ้าบางพระองค์แสดงพระประสงค์จะใคร่เป็นสมาชิกบ้าง ก็ยังไม่โปรดให้รับ

 


ภาพกระดุมสามเหลี่ยม (ไม่ปรากฏแหล่งที่มา)

 ปรากฏ อักษรจีน “ต้า ( 大 )” คือ ความยิ่งใหญ่ ฟ้า แยกออกเป็นฝั่งซ้าย ขวา
ส่วนส่วนปริศนาคือ สามพยางค์รอบทั้งสามด้าน

 

และจากคำบอกเล่าของ เจ้าพระยามหิธร การจัดตั้งจิตรลดาสโมสรได้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สำคัญ นั่นคือเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ซึ่งนั่นน่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งสมาคมลับนี้ขึ้น เพื่อหาทางป้องกันและต่อต้านการคิดร้ายต่อพระองค์

อ้างอิง: เรื่องของเจ้าพระยามหิธร (ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยามหิธร ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙)
และ หนังสือสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ ๖ เขียนโดย ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล

———————————

ตลอดพระชนม์ชีพของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นแบบอย่างในเรื่องการแสดงออกทางประชาธิปไตย พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ บทความในหนังสือพิมพ์และบทความอื่นๆ เพื่ออธิบายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินมาโดยตลอด และยังติดต่อสื่อสารกับประชาชนของพระองค์เพื่อฟังเสียงและความต้องการของประชาชนด้วยพระองค์เอง อันเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ประชาธิปไตยเหล่านี้ เกิดขึ้นเสียก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ อยู่หลายขุม มีเพียงทหารกบฎ ร.ศ.๑๓๐ ที่หลงผิดคิดเชื่อการโกหกคำโตของ ก.ศ.ร.กุหลาบ นักเสี้ยม จนคิดลอบปลงพระชนม์เพียงเพราะหวังจะเลียนแบบปฎิวัติฝรั่งเศส แต่สุดท้ายก็เกรงบารมีจนสารภาพสิ้น ตั้งแต่ยังไม่ได้วางแผน…

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://genonline.co/2019/01/17/the-origin-of-siam-democracy/