วันพฤหัสบดี 10 ตุลาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

84 ปีที่สาบสูญ คณะราษฎรสั่งทุบ “วังวินด์เซอร์” สร้างสนามกีฬาชื่อตัวเอง

84 ปีที่สาบสูญ คณะราษฎรสั่งทุบ “วังวินด์เซอร์” สร้างสนามกีฬาชื่อตัวเอง
ไทยรัฐออนไลน์

“ลองหลับตาลง” แล้ววาดฝันถึงสถาปัตยกรรมที่สวยสดงดงาม ประหนึ่งวังเจ้าหญิงเจ้าชายในเทพนิยายที่คุณจินตนาการ เชื่อได้ว่าหลายคนต้องพากันจดจ้องไปยังสถาปัตยกรรมในรูปแบบเดียวกัน ทว่าย้อนกลับไปเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ความหรูหราอลังการของ “วังวินด์เซอร์” ที่เคยตั้งตระหง่านกลางทุ่งปทุมวัน ทำเอาแขกบ้านแขกเมือง ฝรั่งมังค่า หรือแม้กระทั่งชาวไทยที่พบเห็น ถึงกับต้องตะลึงในความงดงามตระการตามานักต่อนัก

น่าเสียดาย ที่ทุกความทรงจำกลายเป็นอดีต เพราะ “วังวินด์เซอร์” ซึ่งมีประวัติความเป็นมาอันน่าจดจำระลึกถึง ได้ถูกทุบแล้วรื้อทิ้งเหลือเพียงเศษซากบางส่วนที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพอจะเก็บไว้ได้ ส่วนพื้นที่บริเวณวังวินเซอร์ ถูกสร้างเป็น “สนามศุภชลาศัย” ใจกลางเมือง ใกล้เคียงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และห้างสรรพสินค้าชั้นนำที่ตั้งอยู่ในยุคปัจจุบัน ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ เรียบเรียงเรื่องราวความเป็นมาของวังในตำนาน ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อรัชสมัยรัชกาลที่5 “ให้คนรุ่นใหม่” ที่ไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้หวนกลับไปเห็นความงดงามของวังวินด์เซอร์ ด้วย 2 ตาของตัวเอง


ภาพจากโบราณนานมา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร องค์แรกแห่งสยามประเทศ
เมื่อสมัยก่อน ชาวสยามมักจะเรียกวังวินด์เซอร์ว่า “วังประทุมวัน วังกลางทุ่ง หรือ วังใหม่” ซึ่งวังแห่งนี้ สร้างขึ้นโดยพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระราชทานเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร องค์แรกแห่งสยามประเทศ ตั้งอยู่บริเวณทุ่งประทุมวัน กรุงเทพมหานคร ถือเป็นการขยายขอบเขตวังออกนอกเขตพระนคร จึงเป็นเหตุให้เรียกชื่อ วังกลางทุ่ง ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2424 ได้การออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ ทว่าตัววังสร้างได้อย่างเทียบเคียงเสมือนกับพระราชวังวินด์เซอร์ ที่ประเทศอังกฤษ จึงเป็นเหตุให้เรียกว่า “วังวินด์เซอร์”

นายร้อยโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของประเทศไทย แต่หลังจากดำรงตำแหน่ง สยามมกุฎราชกุมารได้เพียง 8 ปี ก็เสด็จสวรรคต ขณะมีพระชนมายุ 15 พรรษา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เสด็จสวรรคตเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 9 ค่ำ ปีมะเมีย ฉศก จ.ศ. 1256 ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2438) ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา 191 วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และให้ราชการไว้ทุกข์ 1 เดือน


“วังวินด์เซอร์” สวยงามใครเห็นต้องตะลึงพรึงเพริด
อย่างที่เกริ่นไปแล้วข้างต้นว่า “วังวินด์เซอร์” ถูกถอดแบบมาจากพระราชวังวินด์เซอร์ ที่ประเทศอังกฤษ อีกทั้งยังตั้งตระหง่าใหญ่โตเป็นที่สะดุดตา และได้ชื่อว่า “สวยสดงดงามที่สุดในเวลานั้น โดยพระตำหนักหอวัง ได้รับการออกแบบเป็นอาคาร 3 ชั้น มีบันไดขึ้นลงตรงกลางอันเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมกอธิก ใช้วัสดุก่อสร้างเป็นหินอ่อนนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น หัวเสาได้รับการสลักศิลปะแบบโรมัน หากแต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มิได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ด้วยเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2437 วังดังกล่าวจึงตกเป็นสมบัติของแผ่นดินในเวลาต่อมา

จากนั้นจึงได้ใช้เป็นอาคารเรียนของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ อาคารชั้น2 มีห้องเรียนสำหรับเรียนวิชาครู นอกจากนี้ยังใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนหอวังด้วย อาจารย์ที่เคยเข้าไปใช้วังวินด์เซอร์เพื่อการเรียนการสอน คืออาจารย์ เอส เอช โอนีล และหลวงปราโมทย์ จรรยาวิภาค นอกจากนั้นยังมีอาจารย์อีกหลายท่าน อาทิ หลวงวิจิตรวาทการ ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ส่วนด้านหลังของพระตำหนักวินเซอร์มีสนามเทนนิสอีก 3-4 สนามสำหรับนิสิต ด้านหน้าพระตำหนักเป็นสนามฟุตบอล ซึ่งกีฬาทั้งสองชนิดเป็นที่นิยมของนิสิตในสมัยนั้น

ทุบวังทิ้งบีบหัวใจผู้เป็นแม่
ข้อมูลจาก คลังประวัติศาสตร์ไทย ยังระบุไว้ว่า …หากมองเยื้องมาอีกฝั่งของวังวินด์เซอร์ ณ จุดนั้นเป็นที่ตั้งของ “วังสระปทุม” วังที่ประทับของ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ผู้เป็นพระชนนี ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารองค์แรกแห่งสยามประเทศ (แม่) ด้วยความอาลัยที่ต้องสูญเสียพระโอรสไป “วังวินด์เซอร์” ก็เปรียบเสมือนเป็นอนุสรณ์ลูกชาย เมื่อมองไปไกลๆ ได้เห็นยอดหลังคาวังก็ทำให้หายคิดถึงได้บ้าง แต่เมื่อรัฐยืนยันจะทำเช่นนั้น พระองค์ก็ทรงทำได้เพียงประทับอยู่ที่เฉลียงวังสระปทุม ฟังเสียงคนทุบวังลูกอยู่ทุกวัน ด้วยหัวอกคนเป็นแม่ พระองค์ถึงกับทรงตรัสกับนางข้าหลวงผู้ใกล้ชิดว่า “ได้ยินเสียงเขาทุบวังลูกฉันทีไร มันเหมือนกับกำลังทุบใจฉันอย่างนั้น” น้ำเสียงของพระองค์สั่นน้ำพระเนตรคลอด้วยความอัดอั้นตันใจ เล่ากันว่าถ้าไม่จำเป็นพระองค์จะไม่เสด็จผ่านไปทางที่ดินผืนนั้นเลย


ภาพจากโบราณนานมา
พระตำหนักวินเซอร์ ในความทรงจำของคนที่ผูกพัน 
ศ.ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ ปูชนียบุคคลทางด้านภาษาและวรรณคดีไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า เคยได้เรียนที่ตึกอักษรเก่า และตึกคณะวิทยาศาสตร์ (ตึกขาว) ห้อง 200 พอขึ้นปีที่ 3 จึงย้ายไปเรียนที่พระตำหนักวินด์เซอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นสนามศุภชลาศัย หรือสนามกีฬาแห่งชาติในปัจจุบัน วิชาเรียนชั้นปีที่ 3 เป็นวิชาครูเมื่อจบปีที่ 3 แล้วจะต้องออกฝึกสอน (ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ) 1ปี

โรงเรียนที่ทางมหาวิทยาลัยใช้เป็นโรงเรียนฝึกสอนคือ “โรงเรียนหอวัง” ซึ่งก็อยู่ในบริเวณพระตำหนักวินด์เซอร์ นั่นเอง นอกจากโรงเรียนหอวัง แล้วยังมีโรงเรียนอื่นๆ ภายนอกด้วย ท่านเป็นนักเรียนทุนได้เงินเดือน เดือนละ 15 บาท ได้อยู่หอพักฟรี ซึ่งหอพักมี 5 หลัง ตั้งอยู่หลังพระตำหนักวินด์เซอร์ เรียกว่า ก ข ค ง หอพักอาคาร ก และ ง เป็นอาคารเตี้ย อาคารหอพัก ข และ ค เป็นอาคารใต้ถุนสูง ชั้นล่างให้เป็นที่รับประทานอาหารและทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย

“ท่านอาจารย์” เล่าว่า รู้สึกประทับใจหอวังมาก มีอาคารหอพัก นิสิตอยู่สบายดี ห้องใหญ่ มีเตียงนอน ตู้เสื้อผ้า ชั้นหนังสือพร้อม แต่เวลานอนต้องกางมุ้งเพราะยุงชุมมาก ปกติจะอ่านหนังสือนอกห้องพัก แต่พอใกล้สอบนิสิตหลายคนก็จะเอาโต๊ะทำงานเข้าไปตั้งในมุ้ง ท่องหนังสือ และทำงานในมุ้ง พอง่วงมากๆ ก็จะมุดลงไปนอนใต้โต๊ะนั้น ตอนนั้น พระยาภะรตราชา เป็นผู้ดูแลหอพัก ซึ่งก็มีตำแหน่งเป็นอนุสาสกเช่นกัน พระยาภะรตราชา ท่านเป็นคนเข้มงวดมาก คอยกวดขันความประพฤติของนิสิต เช่นคอยเตือนไม่ให้นิสิตนั่งไขว่ห้างฟังคำบรรยาย เป็นต้น


พระตำหนักหอวังเมื่อครั้งใช้เป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนเกษตราธิการ
ในปี พ.ศ.2478 นับเป็นอักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ 1 บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ในตอนนั้นเป็นป่าจามจุรี ร่มครึ้ม ส่วนบริเวณพระตำหนักวังวินเซอร์ เต็มไปด้วยป่าไม้ประดู่ลำต้นสูงใหญ่ ถ้าเดินผ่านตอนกลางคืนก็น่ากลัวอยู่เหมือนกัน ต่อมาอาคารพระตำหนักวินด์เซอร์ก็ถูกรื้อไป เมื่อทางราชการจะเอาสถานที่นี้ไปสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ ทำให้บรรดาผู้ที่เคยร่ำเรียนที่พระตำหนักวินด์เซอร์โกรธมากโดยเฉพาะผู้ที่เป็นต้นคิดถูกโกรธเป็นอันดับหนึ่ง…”

(ข้อมูลส่วนหนึ่งจากบทความของ ร.ศ.รุจิระ สุภรณ์ไพบูลย์. “รำลึกประวัติศาสตร์จุฬาฯ กับ “พระตำหนักวินด์เซอร์” “หนังสือจามจุรี สื่อเชื่อมสายใย น้ำใจน้องพี่ กรกฎาคม-ตุลาคม ๒๕๔๐)

พระราชวงศ์ถูกยึดอำนาจจากคณะราษฎร วังวินด์เซอร์ถูกทุบทิ้ง 
ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 หลังจากพระราชวงศ์ถูกยึดอำนาจจากคณะราษฎร เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระราชวงศ์อยู่ในช่วงถูกลดพระราชอำนาจลงอย่างมาก “หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษา” ในรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีแนวคิดที่จะหาพื้นที่ก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้น และได้พิจารณาว่าที่ดินบริเวณวังประทุมวันเหมาะแก่การสร้างที่สุด ขณะนั้นบริเวณโดยรอบๆ วังเป็นทุ่งนาว่างเปล่า และพื้นที่วังวินด์เซอร์ เพียงแค่เสี้ยวเดียว ได้ไปทับแปลนของสนามกีฬาที่หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษา อยากจะสร้างขึ้นมา

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุไว้ชัดเจนว่า หลวงศุภชลาศัย ได้นับคนมานับร้อยชีวิต เพื่อรื้อถอนพระตำหนักรวมถึงสิ่งปลูกสร้างโดยรอบออกจากที่ดินแห่งนี้จนหมดสิ้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสนามศุภชลาศัย ตามชื่อของ “หลวงศุภชลาศัย”


ภาพจากหอประวัติ
ประวัติ หลวงศุภชลาศัย หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร ผู้สั่งทุบวัง 
หลวงศุภชลาศัย เป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงมีอำนาจสั่งทุบวังวินด์เซอร์ ? “นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย” ร.น. มีชื่อจริงว่า “บุง ศุภชลาศัย” รองผู้บัญชาการทหารเรือ อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก และเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2481 “บุง ศุภชลาศัย” เริ่มต้นชีวิตราชการทหารเรือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2461 ประจำการบนเรือรบหลวง “สุครีพครองเมือง” ตำแหน่งสุดท้ายก่อนออกจากกองทัพเรือ คือรองผู้บัญชาการทหารเรือ ต่อมาในรัฐบาล พระยาพหลพลพยุหเสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้สถาปนากรมใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เพื่อจัดการงานด้านพลศึกษาของชาติ

หลวงศุภชลาศัย เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยถือเป็นนายทหารเรือที่มีอาวุโสสูงสุดของคณะราษฎร ด้วยอายุ 37 ปี ซึ่งในขณะนั้น หลวงศุภชลาศัย มียศเป็น นาวาตรี (น.ต.) ในยุคสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อีกทั้งยัง เคยได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดพระนคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 อีกด้วย


หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษา

เศษซากที่หลงเหลือ ถูกวางเก็บไว้ที่ คณะวิทยศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สร้างสนามกีฬาแห่งชาติ ดำเนินการของบประมาณแผ่นดิน 
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2478 กรมพลศึกษา ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน เนื้อที่ 114 ไร่ 1 งาน 25.12 ตารางวา ตรงบริเวณที่เดิมเป็นวังวินด์เซอร์ ซึ่งเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อจัดสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ และได้ดำเนินการของบประมาณแผ่นดิน เพื่อใช้การจัดสร้างสนามกีฬา ใช้ชื่อว่า สนามกรีฑาสถาน (National Stadium) และโรงเรียนพลศึกษากลาง เริ่มงานตั้งแต่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 จวบจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2484

ในขณะที่สนามกรีฑาสถานยังสร้างไม่เสร็จ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดการแข่งขันกีฬาประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2481 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขัน ณ สนามกรีฑาสถาน เป็นครั้งแรก เมื่อ

กระทั่งเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 กรมพลศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อสนามกรีฑาสถาน เป็น “สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ” เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงศุภชลาศัย ปัจจุบัน นิยมเรียกสั้นๆ เพียงว่า สนามศุภชลาศัย หรือ สนามกีฬาแห่งชาติ

ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2485-2487 นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ร.น. ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลวงศุภชลาศัย ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 กรมพลศึกษา ได้ยกย่องและเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็น บุคคลพลศึกษาของชาติ สาขาการบริหารการพลศึกษา

https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1614158