วันศุกร์ 20 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

Bangkok mean time เวลามาตรฐานชาติแรกของโลก ณ พระที่นั่งภูวดลทัศไนย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ทีมีพระอัจฉริยภาพในด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งซึ่งทำให้เราชาวไทยและชาวต่างประเทศได้ประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ นั่นก็คือ การที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวของสยามที่สามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ ได้อย่างแม่นยำเร็วกว่านักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสถึง 2 วินาที

แต่พระราชกรณียกิจอีกอย่างหนึ่งของพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจแก่ประเทศของเรา แต่คนไทยอีกหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ ก็คือ การที่ทรงสถาปนาเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศสยาม หรือที่เราเรียกกันว่า Bangkok mean time ก่อนชาติใดๆ ในโลก

ปี พ.ศ. 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้างพระราชมณเฑียรที่ประทับขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ณ บริเวณสวนขวา แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ถึงแก่พิราลัย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้างต่อมา โดยมีกรมหมื่นราชสีหวิกรม (พระยศในขณะนั้น) เจ้ากรมช่างสิบหมู่ เป็นนายช่างก่อสร้าง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2400 พระราชทานนามหมู่พระราชมณเฑียรนั้นว่า “พระอภิเนานิเวศน์” ทรงประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรและขึ้นประทับเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 4 ค่ำ พ.ศ. 2402 (กำลังตรวจสอบปี พ.ศ.)

ภาพ: หมู่พระที่นั่งและหอนาฬิกาบนพระที่นั่งภูวดลทัศไนยในพระอภิเนาว์นิเวศน์

 

ภาพ:ซ้ายสุด คือ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ถัดมา คือ ประตูเทวาพิทักษ์และพระที่นั่งภูวดลทัศไนย ซึ่งด้านบนมีนาฬิกาติดอยู่ทั้ง 4 ด้าน ส่วนขวาสุด คือ ป้อมสิงขรขัณฑ์

พระอภิเนานิเวศน์ ประกอบด้วยพระที่นั่งต่างๆ หลายองค์ องค์หนึ่งคือ “พระที่นั่งภูวดลทัศไนย” ตั้งอยู่ด้านเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม(เดิม) ตรงพุทธนิเวศน์ ซึ่งเป็นพระที่นั่งตึกสูง 5 ชั้น ชั้นบนสุดติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่ทั้ง 4 ด้าน มีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวง เพื่อทำหน้าที่บอกและรักษาเวลามาตรฐาน ดังปรากฏในประกาศรัชกาลที่ 4 ฉบับที่ 306, พ.ศ. 2411

“…จะเป็นเหตุให้เขาหัวเราะเยาะเย้ยได้ว่าเมืองเรา ใช้เครื่องมือนับทุ่มโมง เวลาหยาบคายนักไม่สมควรเลย เพราะเหตุฉะนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพินิจพิจารณาตรวจตราคำนวณความดำเนินพระอาทิตย์ ให้ฤดูทั้งปวงสอบกับนาฬิกา ที่ดีมาหลายปีทรงทราบถ้วนถี่ทุกประการ แจ้งในพระราชหฤทัยแล้ว…”

ภาพ: ภายใน พระที่นั่งภูวดลทัศไนย

และด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ได้ทรงกำหนดให้เส้นแวง 100 องศา 29 ลิปดา 50 ฟิลิปดา ตะวันออก เป็นเส้นแวงหลักผ่านพระที่นั่งภูวดลทัศไนย และได้โปรดฯ ให้มีเจ้าหน้าที่รักษาเวลามาตรฐาน ประจำหอนาฬิกาหลวง ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งงานทางวิทยาศาสตร์ไทยชุดแรก คือตำแหน่งพันทิวาทิตย์ มีหน้าที่เทียบเวลากลางวันจากดวงอาทิตย์ และตำแหน่งพันพินิตจันทรา ทำหน้าที่เทียบเวลากลางคืนจากดวงจันทร์ โดยสังเกตจากดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ที่เคลื่อนผ่านเมอริเดียนของสถานที่สังเกตการณ์ของบุคคลทั้งสอง ซึ่งก็คือ พระที่นั่งภูวดลทัศไนย และจากการที่ทรงได้สังเกตดวงอาทิตย์บนท้องฟ้ามานานหลายปี ทรงพบว่าการขึ้น ตก และแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในเดือนต่างๆ นั้น แตกต่างกัน ที่หอนาฬิกาหลวงจึงมีการคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นรายวันทุกๆ วัน เพื่อตั้งปรับเวลาที่หอนาฬิกาหลวงตามที่ได้คำนวณไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เป็นเวลามาตรฐานกรุงเทพปานกลาง หรือที่เรียกว่า Bangkok mean time ซึ่งเป็นเวลาที่เร็วกว่าที่กรีนิช 6 ชั่วโมง 42 นาที ดังนั้นประเทศไทยของเราจึงมีเวลามาตรฐานเป็นของตัวเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2400 และได้มีการออกพระราชกำหนดเรื่องนาฬิกา ในปี พ.ศ. 2411 อันเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาล จึงนับได้ว่าประเทศไทยมีเวลามาตรฐานอย่างถูกต้องตามหลักดาราศาสตร์เป็นชนชาติแรกของโลก เพราะ ณ เวลานั้นแม้แต่หอดูดาว ที่ตำบลกรีนิช ประเทศอังกฤษก็ยังไม่มีการกำหนดเวลามาตรฐาน รัฐสภาอังกฤษเพิ่งจะมีการออกพระราชบัญญัติเวลามาตรฐานเมื่อปี ค.ศ. 1880 (พ.ศ. 2423) และในปี ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) นักดาราศาสตร์จึงได้ตกลงกันกำหนดเส้นแวงที่ผ่านเมืองกรีนิชเป็นเส้น 0 องศา เพื่อใช้เทียบเวลาโลก

นอกจากหอนาฬิกาหลวงที่พระที่นั่งภูวดลทัศไนยแล้ว ยังปรากฏหลักฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนราชสีหวิกรมทรงออกแบบสร้างหอนาฬิกา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณมุขเด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในปัจจุบัน เชื่อกันว่ามีพระราชประสงค์จะให้ชาวเรือขึ้นล่องแม่น้ำเจ้าพระยามองเห็น และเทียบเวลาเดินเรือได้สะดวก สำหรับพระที่นั่งภูวดลทัศไนยนั้นได้ถูกรื้อลงในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อสร้างทิมดาบใหม่

ภายหลังในปี พ.ศ. 2462 ได้มีการประชุมสภาสากลอุทกนิยม ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อแบ่งภาคเวลา โดยกำหนดให้ตำบลกรีนิช เป็นจุดแรกของการกำเนิดเวลา ประเทศไทยจึงได้มีการกำหนดเวลามาตรฐานใหม่ จากเส้นแวงที่ 100 ตะวันออก ซึ่งพาดผ่านพระบรมมหาราชวัง มาเป็นเส้นแวงที่ 105 องศาตะวันออก จังหวัดอุบลราชธานี โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้ใช้อัตราเวลาทั่วราชอาณาจักรไทย เป็น 7 ชั่วโมงก่อนเวลาที่ตำบลกรีนิช กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2463 นับตั้งแต่นั้นมา

 

นาฬิกา Greenwich อันเป็น นาฬิกาที่ใช้ วัดมาตรฐานเวลาโลกในปัจจุบัน

 

ภาพ: “เห็นหอนาฬิกา” ซึ่ง เอนก นาวิกมูล (นักวิชาการ นักเขียนสารคดี นักสะสมของเก่า และ ยังเป็นผู้ก่อตั้ง บ้านพิพิธภัณฑ์) ตีความจากเรื่องนาฬิกาได้ว่า ตั้งอยู่หน้าหอคองคอเดีย (ศาลาสหทัยสมาคม ตรงสนามหญ้าหน้าวัดพระแก้ว) อยู่ระหว่างทิมดาบกับโรงทอง ข้างบนทำอย่างหลังคาตัด มีลูกกรง ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 25 กล่าวว่า รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนราชสีหวิกรม (ต้นสกุล ชุมสาย) คิดแบบ เป็นหอสูง 10 วา มีนาฬิกาทั้ง 4 ด้าน รื้อเสียเมื่อจะสร้างทิมดาบใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพจากหนังสือ Ein Welt-und Forschungsreisender mit der Kamera 1844-1920 ภาษาเยอรมัน รวบรวมผลงานถ่ายภาพของ วิลเฮล์ม เบอร์เกอร์ (Wilhelm Burger) ซึ่งเข้ามาเมืองไทยพร้อมคณะฑูตเมื่อ พ.ศ.2412

ภายในภาพยนตร์ ทวิภพ ในปี พ.ศ. 2547  อธิบาย เรื่อง Bangkok Meantime ไว้อย่างน่าสนใจมากครับ
“มันก็แค่เรื่องของเวลา หนูมณี ชาวสยามเนี่ย เรากำหนดเวลามาตรฐานของเราเองมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 แล้ว มันเป็นเวลาส่วนตัวของเราจริง ๆ ก่อนเวลามาตรฐานของกรีนิชในลอนดอน ตั้ง 10 กว่าปี แล้วนี่หมู่พระที่นั่งอภิเนานิเวศน์ ตรงนี้เค้าเรียกพระที่นั่งภูวดลทัศไนยมันก็หอนาฬิกานั่นแหละ ตรงนี้เป็นเหมือนศูนย์กลางเวลาของสยามในตอนนั้น สร้างเสร็จก่อนหอนาฬิกา Big Ben ในลอนดอนเกือบ 2 ปี Bangkok Mean Time เท่มั้ยหละ คนเดียวที่ทำอย่างนี้ได้ เอ๊ ไม่ใช่คนเดียวสิ พระองค์เดียวที่ทำอย่างนี้ได้ เท่มั้ยหละ”