วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

Blockchain…ปฏิวัติเงียบ – ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

Blockchain...ปฏิวัติเงียบ โดย ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

 

ภาพจากปกหนังสือ ‘Blockchain Revolution’ Examines Impacts of Bitcoin

Last updated: 28 มกราคม 2561 | 19:52

ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการ กสทช.ได้วิเคราะห์การปฏิวัติเงียบของ Blockchain ไว้อย่างมีประเด็นสำคัญว่า Blockchain ถึงจะค่อยๆมา แต่มาแน่นอน และกำลังเข้าถึงแก่นขององค์กร คล้ายกับมันกำลังทำการปฏิวัติเงียบ… The quiet revolution อย่างที่ Harvard Business Review ได้เคยกล่าวไว้

Blockchain ได้ถูกออกแบบขึ้นให้ทำหน้าที่บันทึกรายการ (บัญชี) แบบกระจายศูนย์เพื่อให้สมาชิกในเครือข่ายสามารถที่จะรับทราบการเปลี่ยนแปลงรายการร่วมกันตลอดเวลา โดยปราศจากคนทำบัญชีที่เป็นตัวกลางคนเดียวด้วยการเขียนโปรแกรมซอฟท์แวร์ให้ระบบทำงานอัตโนมัติบนอินเทอร์เน็ต ซึ่ง Blockchain ได้ถูกประยุกต์ใช้กับ Bitcoin เป็นครั้งแรกในปี 2008 ซึ่งได้มีการเติบโตขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการผลิต Cryptocurrency ในสกุลต่างๆ อย่างไรก็ตามในขณะที่ความสนใจใน Bitcoin กำลังจะลดลง แต่กลับพบว่า Blockchain มีการประยุกต์ใช้มากขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมการเงินเท่านั้น

ความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและความเสี่ยงจะลดลงได้ด้วย Blockchain ที่มักจะถูกอธิบายว่าเป็นบัญชีแยกประเภทดิจิทัล โดยเป็นฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ที่สนับสนุนการบันทึกรายการหรือที่เรียกว่า block ที่กำลังถูกนำมาใช้และเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละ block จะมีสาระสำคัญของข้อมูลธุรกรรมและทำการบันทึก timestamp และเชื่อมต่อกับ block ก่อนหน้านี้ให้เชื่อมต่อกันทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมใหม่เกิดขึ้น โดยทุก block จะเชื่อมโยงกันและเข้ารหัสโดยใช้ระบบการเข้ารหัสข้อมูล (cryptography) และกระจายข้อมูล (คล้ายๆ การ broadcast) ในการทำให้ธุรกรรมทุก block ไปให้ผู้ที่เป็นสมาชิกทุกคนใน Blockchain นั้นๆ รับทราบเพื่อเป็นพยานร่วมกัน ดังนั้นจึงยากที่จะเกิดความล้มเหลวจากศูนย์กลาง (central point of failure) ที่ควบคุมโดยรวมศูนย์อยู่ที่เดียว

หนึ่งในประโยชน์ที่สำคัญของ Blockchain คือโครงสร้างที่มีการป้องกันการโจมตีจากสงครามไซเบอร์ที่มีมากขึ้น เนื่องจาก Blockchain ที่เชื่อมโยงกันผ่านอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์พกพา เช่น คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน จึงช่วยให้สามารถบันทึกธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีคนใดคนหนึ่งควบคุม แต่อาศัยการช่วยกันของสมาชิกในเครือข่ายเป็นพยานให้แก่กันและกัน สามารถตรวจสอบได้ และเป็นการบันทึกรายการแบบถาวร สำหรับการใช้งานในบริการทางการเงินจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดความซับซ้อนที่สำคัญที่สุด ซึ่ง Blockchain สามารถทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ด้วยการพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ โดยไม่ใช่เพียงแค่การไว้ใจหรือเชื่อใจเท่านั้น

ปัจจุบันนี้มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่า Blockchain อาจถูกนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะภาคส่วน SME หรือในธุรกิจเล็กๆ เช่น startup ที่เกิดขึ้นใหม่ โดยมันจะลุกลามไปถึงองค์กรใหญ่ๆ ภายในช่วงเวลา 5-10 ปี จากนี้

Blockchain จะทำให้ต้นทุนลดลงมากในกระบวนการการทำธุรกรรมทางการเงิน จึงทำให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ในการเปลี่ยนทรัพย์สินทางปัญญาที่จับต้องไม่ได้ ให้เป็นสิ่งที่มีมูลค่า เช่น ชื่อเสียง, งานศิลปะ, ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ เป็นต้น โดยสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่จะเกิดจากการกระจายศูนย์ (Decentralized) ทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถสร้างคุณค่า (Value) ของตัวเองบนเครือข่าย Blockchain ที่สามารถสร้างขึ้นโดยง่ายผ่านสมาร์ทโฟน

ข้อได้เปรียบที่เป็นไปได้เหล่านี้ ก่อให้เกิดเสียงแจ้งเตือนและเกิดสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจหลายประเภท รวมถึงการจัดการด้านบัญชี การเงินและสินเชื่อ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความสำคัญต่อการดำเนินงานของธุรกิจเล็กๆ เช่น SME และ Startup

ผู้จัดการด้านสินเชื่อ เริ่มมีความกังวลว่าโครงสร้างของเทคโนโลยี Blockchain จะมีความสามารถในการรักษาความปลอดภัยที่จำเป็นทั้งหมดที่ธุรกรรมสินเชื่อแบบดังเดิมทำมาก่อน ซึ่งจะทำให้ลดบทบาทของพวกเขาลง ส่วนนักบัญชีและหัวหน้าแผนกการเงินจะถูกเปลี่ยนแปลงวิธีทางการบัญชีแบบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง ทั้งในเรื่องของการทำธุรกรรม การออกใบแจ้งหนี้ และกระบวนการชำระเงินจนจะทำให้อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารเปลี่ยนไปในระบบนิเวศทั้งหมดภายในปี 2030

ความจริงแล้วเทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มเข้ามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงบทบาทของธุรกิจ SME แบบดั้งเดิมแล้ว ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการเติบโตของ SME ก็คือ ความสามารถในการเข้าถึงการระดมทุน อย่างไรก็ตามขั้นตอนทางธนาคารที่เป็นไปอย่างยากลำบากและมีอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้ SME บางรายไม่สามารถจัดหาสินทรัพย์ที่จำเป็นในการใช้เป็นหลักประกันสำหรับการกู้ยืมเงินได้ ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามที่จะหาแหล่งเงินทุนให้พอเพียงตามที่พวกเขาต้องการมากที่สุดด้วยวิธีการระดมทุนแบบ Initial Coin Offering (ICO) จึงทำให้การระดมทุนแบบดั้งเดิมที่ต้องผ่านสถาบันทางการเงินถูกคุกคาม

เทคโนโลยี Blockchain จะสร้างโอกาสในการจัดหาเงินทุนผ่านการกู้ยืมแบบผสมผสาน โดยเงินกู้สามารถถูกทำให้เป็นรูปแบบ Token (Tokenized) และทำการซื้อขายได้ ซึ่งทำให้เกิดสภาพคล่องกับสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่อง และลดความเสี่ยงของผู้ให้กู้ โดยการแบ่งเงินกู้เป็นส่วนเล็กๆ ตัวอย่างเช่น การเกิดการร่วมทุนระหว่าง fintech และบริษัทผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ และบริษัทเทคโนโลยีบัญชีแยกประเภทแบบกระจายศูนย์ ซึ่งได้สร้างและทดสอบโซลูชั่นบน Blockchain ที่ทำงานเพื่อให้บริการเงินกู้ยืมแบบผสมผสาน ได้เกิดขึ้นแล้วในธุรกิจรูปแบบใหม่

ความก้าวหน้าและการปฏิวัติดิจิทัลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และเทคโนโลยี Blockchain จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนทางด้านการเงินไปสู่อนาคตเนื่องจาก Blockchain เป็นการปฏิวัติเงียบ ดังนั้นมันจะคืบคลานเข้ามาเปลี่ยนอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารอย่างแน่นอน แต่จะเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปซึ่งจะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างการบัญชี การตรวจสอบ การจัดการสินเชื่อ และผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลสามารถดำเนินการได้ และธุรกิจ SME และ startup จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี

ดิจิทัลและเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

Blockchain ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างแท้จริงในระดับอุตสาหกรรมหรือทั้งองค์กรซึ่งต้องใช้เวลาเป็นทศวรรษ โดยมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านคาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2030 จะมีผลกระทบในวงกว้างจากเทคโนโลยี Blockchain ซึ่ง Blockchain อาจจะไม่ใช่เทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันในทันทีทันใด ที่สามารถโจมตีแบบจำลองทางธุรกิจแบบดั้งเดิมด้วยต้นทุนต่ำกว่าและแซงหน้าบริษัทผู้นำตลาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ Blockchain จะเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน ที่มีศักยภาพในการสร้างรากฐานใหม่สำหรับระบบเศรษฐกิจและสังคม แต่จะส่งผลกระทบที่ใหญ่มาก ที่จะแพร่เข้าไปในโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นกระบวนการนำ Blockchain ไปใช้จะต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมั่นคง ไม่ใช่อย่างฉับพลัน

Reference

https://hbr.org/2017/02/a-brief-history-of-blockchain

https://realbusiness.co.uk/accounts-and-tax/2017/08/29/blockchainquiet-

revolution-next-generation-sme-businesses/

——————

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ประวัติ: http://www.xn--42cf0a8cxa3ai5ple.com/?p=165

26 มกราคม 2560