วันศุกร์ 20 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

New Theory : ทฤษฎีใหม่

New Theory : ทฤษฎีใหม่ โดยคุณปัณฑา

จริงๆแล้ว ตอนแรกตั้งใจจะเขียนเรื่องสมเด็จย่า แต่เห็นช่อง๙ฉายสารคดีทฤษฎีใหม่ที่เคยทำ เลยอิน
ขอเขียนเรื่องนี้ก่อน เพราะสำคัญมาก ถึงมากที่สุด

ทฤษฎีใหม่ จัดว่าเป็นแนวพระราชดำริที่ทรงตกผลึก
ประมวลผลจากประสบการณ์การทำงานของพระองค์
และประสบการณ์ของประเทศก็ว่าได้

ท่านพระราชทานทฤษฎีใหม่ตอนท่านอายุราว๖๐ พรรษา หลังทรงงานมาราว ๒๐-๓๐ ปี

คือเกษตรกรบ้านเรา มีความผกผัน ผ่านนโยบายรัฐบาลมาตลอด ว่างั้นเถอะ
จากรุ่นทวด ทวดของทวดที่เราเคยปลูกพืชผลแบบบ้านๆหลายอย่างผสมกัน
เหลือขาย ก็เปลี่ยนมาปลูกพืชเดี่ยว เพื่อขายและส่งออกอย่างเดียว
ตามนโยบายรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัย

แบบที่มีเพลงล้อเลียนว่า ผู้ใหญ่ลี ลุกขึ้นตอบทันใด สุกรนั้นไซร้คือหมาน้อยธรรมดา
(ใครเกิดไม่ทันลองถามอากู๋ เพลงผู้ใหญ่ลีกับนางมา) ประมาณนั้น

หลักๆคือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยาง คนอายุเยอะหน่อยจะจำได้
ตั๋วเวียนมาทุกปี เดี๋ยวม๊อบชาวนา ม๊อบสวนยาง ม๊อบอ้อย ม๊อบมัน ราคาตก

แล้วก็ย้อนไปก่อนปี๒๕๐๐ ปุ๋ยเคมีเข้ามา ซึ่งสะดวกโต สะดวกเก็บขาย กว่าปุ๋ยธรรมชาติเยอะ
ปุ๋ยเคมีมา ตามด้วยยาฆ่าแมลง ยาฆ่าแมลงนี่ยิ่งใช้ยิ่งเปลือง เพราะแมลงมันดื้อยาและกลายพันธ์
ผลก็คือ หนี้

ต้นทุนผลิตก็เพิ่ม ถ้าปีไหนราคาตก ขาดทุนทันที
และจะจนไปทั้งปี หรือรอบสามเดือน หกเดือนแล้วแต่พืชที่ปลูก

เกษตรกรก็ต้องกู้ สมัยก่อนระบบธนาคารไม่ง่ายแบบสมัยนี้ นอกระบบลูกเดียว
ชาวนาบางคนอ่านหนังสือไม่ออก แปะโป้งกระดาษเปล่า
นายทุนส่วนใหญ่ก็โรงสีนั่นแหละ กรอกตัวเลขเอง

กู้ห้าพันหมื่น แต่เสียนาทั้งผืน
บางคนทิ้งเลย ไปหักร้างถางพง รุกป่า หาที่ทำกินใหม่
บางคนกลายเป็นผู้เช่าที่นาของตนเอง

อันนี้เป็นคำตอบส่วนหนึ่ง ทำไมเกษตรกรจน

ยังมีพืชพิเศษอีกอย่างคือ มันสำปะหลัง พวกนี้ยิ่งปลูกดินยิ่งจืด และแข็ง
ต้องเพิ่มปุ๋ยเคมี เพิ่มไปเพิ่มมา ดินแข็งจนเป็นดินดาล
เมื่อก่อนศูนย์ศึกษาเขาหินซ้อน ก็คือดินดาลดีๆนี่เอง

เจ้าของถวายให้ทรงสร้างพระตำหนัก รับสั่งติดตลกว่า ดูเขาเอาที่มาถวายชั้น
แต่ท่านไม่สร้างตำหนัก ท่านใช้ทดลองแก้ปัญหาดินดาลจนสำเร็จ
ควบคู่กันไป เริ่มศึกษาทดลองปุ๋ยอินทรีย์ด้วย กลิ่นอมตะมาก ขอบอก
………………………………………………………………………

กลับมาต่อ ยุคส่งแรงงานไปซาอุเฟื่องฟู ชาวนาชาวไร่ที่ยังหนุ่มๆไปกันเยอะ
จนมีเพลงน้ำตาเมียซาอุของจินตะหราออกมาหรือไงเนี่ยแหละ

ทีนี้การจะไปทำงานซาอุก็ต้องผ่านนายหน้า ใช้เงินหลักหมื่น หลักแสนยังมี
บางคนก็ให้พ่อแม่ขายไร่ขายนาส่งลูกไปทำงาน ที่ได้เงินมาร่ำรวยก็มี ที่ถูกหลอกหมดเนื้อหมดตัวก็มาก
เจอคดีฆ่าคนของซาอุเข้าไป เจ๊งเลย (เน้นว่าคดีนี้ ไม่ใช่คดีเกรียงไกรที่เขาตัดความสัมพันธ์)

คนที่จ่ายค่านายหน้าไปแล้ว ก็ไม่ได้คืน จบลงด้วยหนี้กับดอกเบี้ย
คนที่ไปแล้วยังไม่ทุนคืนกลับมาก็ หนี้สินกับดอกเบี้ย

…………………………………………………………………

เอาแค่สองเหตุการณ์ใหญ่ๆนี่ก็แปรสภาพเกษตรกรพออยู่ได้ ให้เป็นเกษตรกรมีหนี้ไปเรียบร้อย
หลังๆมา เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ยังยากจนเฉลี่ยแล้วจะเหลือที่ทำกินราว ๑๕-๒๕ไร่เท่านั้น

จะทำยังไงให้เขาพอกิน พออยู่ให้ได้เสียก่อน
นี่คือโจทย์ของพระองค์

ถ้าลำพังทำแบบเก่าๆปลูกพืชเดี่ยวขาย ยังไงๆก็ไม่พอกินทั้งครอบครัวและผันผวนมาก
ไม่มีภูมิคุ้มกันเลย

พระองค์ท่านเก่งวิทย์ ท่านก็คำนวณออกมา
โอเค โซนหลักๆควรมีอะไร

๑ โซนที่เป็นบ้าน ถนนทางเดิน และเลี้ยงสัตว์ (ที่ควรจะมีอึใช้เป็นปุ๋ยหรือเลี้ยงสัตว์น้ำได้ เช่น วัว ไก่ เป็ด)

๒ โซนเกษตรแบ่งเป็นข้าว และพืชอื่นๆ (แต่ต้องมีข้าว)

๓ สระน้ำ

สามโซนหลักๆ

ครอบครัวนึงมี๕-๖ คน ข้าวกี่ไร่พอกินทั้งครอบครัวและทั้งปี ก็ตกราว ๕ไร่

ที่เหลือสัก๕-๖ ไร่ ปลูกอย่างอื่น กินด้วยขายด้วย พอเป็นค่าเสื้อผ้าของจำเป็น

พืชต้องใช้น้ำ เอาละบ้านเรามันมีช่วงแล้งฝน ต้องมีสระ น้ำแค่ไหนถึงจะพอ
ท่านคำนวณออกมา ราวพันลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ถ้าปลูกพืช๑๐-๑๕ไร่ก็ราวหมื่นนึงหมื่นเศษ

ถ้าขุดบ่อ๓ไร่ ลึก๔เมตร ระเหยราวปีละเท่าไหร่
จะลดการระเหยยังไง ก็ให้ปลูกไม้บังเงารอบสระ อะไรทำนองนี้

วิธีขุดสระ ท่านก็แนะให้ขุดหน้าดินแยกออกมา เอาไปโปะโซนเกษตร เพราะหน้าดินอุดมสมบูรณ์
ดินขุดสระที่ลึกลงไป เอาไปโปะทางเดิน โซนบ้านเรือนให้สูงขึ้น
ถ้าออกแบบที่ดิน เป็นแบบร่องสวน ก็เอาไปยกร่องสวน

ขอบสระก็ขยักขอบไว้ ไม่ใช่สูงชันแบบขอบสระว่ายน้ำ เพราะถ้าเลี้ยงปลามันจะได้มีที่พักนอนบ้าง
แล้วสัดส่วนที่ดินก็ไม่ต้อง๓๐-๓๐-๔๐ เป๊ะๆ คำนวณตามสภาพ
ถ้าที่ไหนน้ำมาก อย่างภาคกลาง ไม่ต้องถึง๓๐%ก็ได้
แต่อย่างอิสาน สระน้ำอาจต้องมากหน่อยอาจจะถึง๔๐-๕๐%ด้วยซ้ำ

สระน้ำนี้มีประโยชน์อีกอย่าง ปกติ เวลาน้ำท่วมแล้วลด สิ่งที่ตามคือแล้ง
เพราะน้ำลงทะเลหมดแล้ว รถขนน้ำขายดี ซื้อน้ำมาปลูกพืชรอบใหม่
แต่ถ้าขุดสระไว้ พอน้ำลด ก็ยังเอาน้ำในสระมาใช้ปลูกพืชต่อได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ท่านย้ำ ๓ อย่าง

๑ งานขุดสระเป็นเรื่องใหญ่ รัฐต้องเข้ามาช่วย
(หลักขาดทุนคือกำไร our loss is our gain คำนี้ท่านรับสั่งกับตัวแทนเกาหลีใต้ ตามที่เขาขอคำแนะนำ )

สภาพดิน ถ้าดินเก็บน้ำไม่ได้ ทำทฤษฎีใหม่จะไม่ได้ผล

ไม่ใช่ให้เกษตรกรทั้งประเทศต้องหันมาทำทฤษฎีใหม่ ขีดเส้นใต้สามเส้นเลย

เรื่องน้ำนี่เรื่องใหญ่ นอกจากสระในไร่นาแล้ว ท่านก็สร้างภูมิคุ้มกันให้ชั้นที่ ๒ คือ อ่างเก็บน้ำ
ชั้นที่ ๓ คือเขื่อน และ ชั้นที่ ๔ คือ ป่า

ยกตัวอย่าง แปลงทดลองทฤษฎีใหม่ผืนแรกที่วัดมงคลชัยพัฒนา
มีอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาวสำรอง ส่งน้ำไปตามท่อใต้ดินไปยังแปลงเกษตร
(ลงใต้ดินเพราะเกษตรกรมีที่ดินน้อย แปลงส่งน้ำปกติกินที่ดินพื้นผิวมากไป)
และมีเขื่อนป่าสักอีกชั้นหนึ่ง

ส่วนที่กาฬสินธ์ เดิมมีอ่างเก็บน้ำลำพะยัง แต่ที่ดินทฤษฎีใหม่เพิ่มมากขึ้น ลำพะยังเอาไม่อยู่
ทรงออกไอเดียให้เจาะเขา ทำอุโมงค์แบบในหนังฝรั่งเลย ที่เขาเจาะถนนผ่านเขาน่ะ
แต่นี่เป็นอุโมงค์ส่งน้ำ ป่ายังอยู่นะ ไม่ได้ถางเตียน
เพื่อดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่มาช่วยทางกาฬสินธุ์

โครงการ อุโมงค์ผันน้ำ”ลำพะยังภูมิพัฒน์”

……………………………………….

สรุปแล้วหลักทฤษฎีใหม่ คือ มีข้าวกิน มีผัก มีโปรตีนกิน พออยู่พอกินก่อน
หมายความว่ายังไงๆ ปีนั้นเกี่ยวข้าวแล้ว มีกินแน่นอน
ไม่ต้องก่ายหน้าผาก ลุ้นราคาข้าวหลังเก็บเกี่ยว เพื่อจะขายข้าวเปลือกไปซื้อข้าวสาร

ทีนี้ข้าวไม่ได้ปลูกรอบเดียว ยังมีนาปรังอีก รอบนั้นละขายเน็ตๆ (หรือแบ่งไว้กิน2รอบก็ได้)
ไม่รวมผลพลอยได้อื่น เช่น ปลาในสระ และแปลงพืชอื่นๆ
(รายละเอียดยังมีเรื่องยุ้งฉาง ธนาคารข้าวด้วย)

แปลงพืชอื่นๆที่นอกจากแปลงข้าวนี้ by design ได้เลย
นอกจากพืชผักสวนครัวแล้ว จะปลูกมะลิ ผักหวาน ไม้ยืนต้นสลับ
ไม้เก็บรอบอาทิตย์ สลับสามเดือนหกเดือน
จะปลูกไม้ใหญ่แซม รอไว้สิบปีข้างหน้าตัดมาสร้างบ้านใหม่
หรืออะไรก็แล้วแต่ความสะดวกของครอบครัวเลย

……………………………….

สเต็ปต่อไป เอาละพออยู่ พอกินแล้ว ก็ควรจะไต่ขึ้นมา กินดี อยู่ดี

ท่านเอาระบบสหกรณ์เข้ามาจับ เรียกว่าทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง
คือเกษตรกรขายของเอง ต่างคนต่างขาย โดนโกงตาชั่ง โดนกดราคาประจำ

อันนี้นอกเรื่องนิดนึง ที่เขาชะโงก ที่ไปฝึกรด.กันนั่นแหละ ก็มีโครงการทฤษฎีใหม่
เกษตรกรหัวใส เขาจะไปชั่งข้าวที่โครงการฯก่อน
ได้ค่าความชื้นค่าอะไรต่างๆ จะได้มีข้อมูล ไม่ถูกพ่อค้ากดราคา
แต่เวลาขายเขาขายพ่อค้า เพราะได้เงินเร็วกว่า ก็ขำๆดี

ถ้าเอาข้าวมารวมกันเป็นระบบสหกรณ์ ก็จะมีกำลังต่อรอง
และไม่ถูกโกง ถูกกดราคา มียุ้งฉางเก็บ รอราคาได้อะไรประมาณนี้

เมืองสหกรณ์นี่ก็จะมีโรงเรียนเด็กเล็ก มีสถานพยาบาล มีร้านค้าสหกรณ์
มีการรวมกลุ่มทำอาชีพเสริมขายของ เช่น แชมพู อาหาร
คล้ายๆที่เดี๋ยวนี้รู้จักกันในนาม สินค้าโอทอปนั่นแหละ แต่อันนั้นทำเดี่ยว
อันนี้ทำกันเป็นกลุ่มอาชีพเสริม

อย่างนมหนองโพ ท่านก็ให้ใช้ระบบสหกรณ์ เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่ได้ยินมาว่าทรงดีใจมาก
แต่ที่แถวเพชรบุรี(หุบกะพง) หลังๆซาๆไป ไม่บูมเหมือนหลายสิบปีก่อน เพราะเกษตรกรมีเงินส่งลูกเรียน
จบมาเป็นไวท์คอลลาร์กันซะส่วนใหญ่ ไม่ค่อยสนการเกษตรแล้ว

…………………………………….

ทีนี้ พอรวมกลุ่มกันได้ ก็ค่อยขยายออกไป

มีโรงสีของตัวเอง มีการแปรรูป อย่างเช่น ข้าว เอามาแพคถุงติดยี่ห้อ ทำขนมจากข้าว
แชมพูทำแล้วดันขายดี ปรับสูตรเพิ่มสูตรกันดีมั้ย เป็นต้น

หาที่ปรึกษา เช่น มหาวิทยาลัย ศึกษางานวิจัยเรื่องอาหาร การแปรรูป
หรือปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯต่างๆของพระองค์ก็ได้

มาวางแผนกันดูซิ โซนข้าวต้องคงไว้ โซนเกษตรจะยังไงกันดี จะทำอะไรได้
สินค้าที่แปรรูปลงห้างสรรพสินค้าได้มั้ย หรือ เทรนอาหารเกษตรแบบไหนจะดี
ผักอินทรีย์ ผักสลัดส่งภัตตาคาร อันนี้สุดแท้แต่การบริหารจัดการเลย

คราวนี้ติดต่อธนาคารได้ละถ้าต้องกู้ (จะกู้ยังไง ให้มีภูมิคุ้มกันด้วย)

stepนี้คือ ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม ซึ่งสามารถเติบโตต่อไปเป็นการส่งออกได้ (แบบโครงการหลวง)

จะสำเร็จแบบมั่งมีศรีสุข หรือมั่งคั่งร่ำรวย ก็แล้วแต่ความสามารถกันแล้ว

…………………………………………..

เพราะฉะนั้น ทฤษฎีใหม่ เป็นsub set ของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแค่สาขาหนึ่ง

ไม่ใช่พอเพียง คือ ต้องมาปลูกผัก หรือใช้แต่โลเทค
ไฮเทคแบบทำอุโมงค์เจาะเขา

เอานวัตกรรมมาแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นอาหารเสริม อาหารกล่อง ก็ทำได้
แต่ให้มันมีเหตุมีผล เป็นขั้นเป็นตอน และมีภูมิคุ้มกัน (คือ ถ้าไม่สำเร็จ จะแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร)
และก็ต้องมีคุณธรรมสำคัญๆ เช่น ซื่อสัตย์(ต่อลูกค้า ผลิตของคุณภาพ) มีสติใช้ปัญญา(ไม่ใช่โลภ) เป็นต้น

………………………………………………..

แต่ทั้งหมดทั้งมวลมีพระราชดำรัสไว้ว่า จะสำเร็จได้ ต้องอดทน ไม่พูดมาก ไม่ทะเลาะกัน.

ปัณฑา ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๙