วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

กงสุลฝรั่งเศสเคยฟ้องหมอบรัดเลย์ฐานหมิ่นประมาท

ในช่วงนี้หมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอ อีก ครั้งหนึ่ง โดยเริ่มออกฉบับภาษาอังกฤษก่อน เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๘ ส่วนฉบับภาษาไทยออกเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๘ วัตถุประสงค์ในครั้งนี้ก็เหมือนเมื่อครั้งก่อน คือเพื่อเสนอข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ แจ้งราคาสินค้าพืชผลต่างๆ แจ้งกำหนดเวลาเรือกำปั่นเข้ามายังกรุงเทพฯ และออกจากกรุงเทพฯ รวมทั้งบทความที่ให้ความรู้ทางวิชาการทั่วๆไป เช่น วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ที่สำคัญ ผู้เป็นบรรณาธิการคือหมอบรัดเลย์เองนั้นได้ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้แก่ ประชาชนระดับล่าง โดยการบอกกล่าวให้ทางราชการทราบถึงการปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรมของข้าราชการบาง คน หรือแม้แต่เจ้านายบางพระองค์ รวมถึงการเขียนบทความต่อต้านชาวต่างประเทศบางคนที่เป็นภัยแก่ประเทศไทยด้วย การทำหน้าที่อย่างหลังสุดนี้เป็นที่มาของการที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ถูก ฟ้องร้องด้วยข้อหาหมิ่นประมาทเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

 

มูลเหตุของการฟ้องร้องมาจากการที่หมอบรัดเลย์ตีพิมพ์รายละเอียดของสนธิสัญญกลับที่มองซิเออร์ โอบาเร (Monsieur Aubaret) กงสุลฝรั่งเศส กับเจ้าพระยาพระคลังของ ไทย ร่างขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๘ เกี่ยวกับการปกครองประเทศกัมพูชา โดยที่สนธิสัญญานี้มีข้อความที่ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ นอกจากนี้ หมอบรัดเลย์ยังตีพิมพ์สัญญาอีกฉบับหนึ่งที่กงสุลฝรั่งเศสแอบทำกับนายอากร สุราของไทย เพื่อให้ขายสุราของฝรั่งเศสในกรุงเทพฯได้ โดยที่กงสุลฝรั่งเศส และนายอากรสุราร่วมกันออกใบอนุญาตและควบคุมดูแล ซึ่งก็ขัดกับสัญญาที่ทำไว้กับชาติมหาอำนาจชาติอื่นๆ การตีพิมพ์ทั้งสองครั้งนี้ทำให้กงสุลฝรั่งเศสโกรธมาก และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปิดหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอเสีย แต่ฝ่ายไทยไม่ยอมตาม ต่อมา มองซิเออร์ โอบาเร ได้ กระทำสิ่งที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้ส่งบันทึกกราบบังคมทูลเชิงบังคับให้พระองค์ทรงถอดถอนข้าราชการไทยผู้ หนึ่งที่ท่านกงสุลรังเกียจ ออกจากตำแหน่ง และเมื่อทางรัฐบาลไทยส่งหม่อมราโชทัย ใน ฐานะของผู้พิพากษาศาลระหว่างประเทศของไทยไปชี้แจง โอบาเรก็กลับทำร้ายท่านเสียอีก ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๐๙ กงสุลโอบาเรบังอาจกราบทูลเชิงบังคับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้เพื่อให้พระองค์ทรงถอดถอนข้าราชการไทยอีกคนหนึ่งที่โอบาเรไม่ชอบ ออกจากตำแหน่ง เมื่อหมอบรัดเลย์ตีพิมพ์เรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอ กงสุลโอบาเรก็ฟ้องร้องท่านต่อศาลกงสุลอเมริกันด้วยข้อหาหมิ่นประมาท

ศาลกงสุลอเมริกันได้นัดไต่สวนพยานในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๐ และได้ตัดสินในอีก ๓ วันต่อมา ให้หมอบรัดเลย์แพ้ความ และให้เสียค่าปรับเป็นเงิน ๑๐๗ ดอลลาร์ ๗๕ เซ็นต์ เงินค่าปรับนี้ บรรดาเพื่อนๆของหมอบรัดเลย์ได้เรี่ยไรกันช่วยจ่ายให้ นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้พระราชทานเงินอีกจำนวนหนึ่งช่วยหมอบรัดเลย์ด้วย เมื่อจบคดีความกับกงสุลฝรั่งเศสแล้ว หมอบรัดเลย์ก็ได้ประกาศเลิกพิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอไว้ ในเล่มที่ ๒ ใบที่ ๒๔ (วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๐) ของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเพราะขาดทุน และรัฐบาลไทยไม่สนับสนุนอย่างแต่ก่อน

หลังจากปิดหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอแล้ว หมอบรัดเลย์ยังคงเลี้ยงชีพด้วยการทำงานพิมพ์ และขายสิ่งพิมพ์อื่นๆ ต่อมา จนกระทั่งถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ ช่วยงานฝังศพและทำรั้วล้อมหลุมศพของหมอบรัดเลย์ที่สุสานโปรเตสแตนต์ใน กรุงเทพฯ

6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404 นิราศลอนดอน วรรณคดีผลงานของหม่อมราโชไทย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา) ออกจำหน่ายครั้งแรก
นิราศเรื่องนี้แต่งขึ้นเมื่อครั้งเดินทางไปอังกฤษในฐานะล่ามของคณะราชฑูตไทย ใน พ.ศ. 2400 (สมัย ร. 4) นับเป็นนิราศเรื่องแรกที่กล่าวถึงบ้านเมืองในประเทศตะวันตก ผู้แต่งประสงค์จะพรรณารายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางไปอังกฤษเป็นสำคัญ นับเป็นหนังสือบทกลอนเล่มแรกที่พิมพ์ขาย

โดยหม่อมราโชไทยขายลิขสิทธิ์ให้แก่หมอบรัดเลย์ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เมื่อปี 2404 ในราคา 400 บาท
ซึ่งนับเป็นการขายกรรมสิทธิหนังสือครั้งแรกในเมืองไทย