วันเสาร์ 20 เมษายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม’ จากเด็กถีบสามล้อสู่ผู้ว่าฯ ผ่านชีวิตลำบาก-ไม่สร้างภาพ

 

 

เปิดปูมหลังผู้ว่าฯ เมืองเลย ดูกันชัดๆ สร้างภาพหรือของจริง เผยครอบครัวยากจน สู้ชีวิตตั้งแต่เด็ก รับจ้างปั้นอิฐ ถีบสามล้อ กระเป๋ารถก็ทำมาแล้ว จนกลายเป็นคนสมถะ-ประหยัด-ติดดิน

เป็นที่ฮือฮาในโลกโซเชียลฯ กับภาพข่าว “ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม” อายุ 50 ปี ผวจ.เลย ขณะปั่นจักรยานอยู่กลางถนน ด้วยชุดเครื่องแบบราชการเพื่อไปทำงาน หลายคนชื่นชมว่าเป็นต้นแบบที่ดี ในทางกลับกันมีคนอีกกลุ่มมองเป็นการสร้างภาพ พร้อมตั้งคำถามว่า “จะปั่นได้กี่วัน –ทำไมไม่ไปทำอย่างอื่น-ดีจริงหรือป่าว” ว่าไปแล้วก็เป็นสิทธิที่เขาจะคิด-เขาจะสงสัยได้ไม่ผิด…เพื่อความกระจ่างวีคนี้เลยขอนำเรื่องราวประวัติ-ปูมหลังของผู้ชายที่ชื่อว่า“ชัยวัฒน์ ” มาให้ท่านๆ ที่มองโลกแคบได้เข้าใจว่าจริงแล้วสิ่งที่เขาทำมันคือการ “สร้างภาพ” หรือ “ของจริง”

“ชัยวัฒน์” หรือ “ติ๊ก” ผวจ.เลยคนที่ 49 เล่าว่า บ้านเกิดอยู่ที่บ้านบุงคล้า หมู่ 5 ต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย ครอบครัวเป็นชาวบ้านธรรมดา ๆ ทำไร่-ทำนา จบการศึกษาชั้น ป. 4 โรงเรียนบ้านวังสะพุง ในใบสุทธิหลังจบครูประจำชั้นระบุความประพฤติเรียบร้อย สุขภาพแข็งแรง ความรู้ความสามารถพิเศษไม่มี ผลการเรียนพอใช้ จนไปเรียนต่อ ป. 5,ป.6 ที่ โรงเรียนชุมชนวังสะพุง ห่างจากที่เดิม 2 ก.ม. แต่ไม่ได้เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษา เนื่องจากฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน ต้องดิ้นรนขวนขวายไปสมัครสอบเทียบชั้น ม. 3 ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเลย ขณะเดียวกันกับไปเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ภาคค่ำ ได้วุฒิ ม.3 มาพร้อมกัน 2 ใบ ระหว่างเรียนต้องทำงานทุกอย่างเพื่อให้สามารถเรียนหนังสือ รับจ้างทุกอย่างไม่ว่าจะปั้นอิฐ ถีบสามล้อรับจ้าง แม้แต่กระเป๋ารถก็ยังทำมาแล้ว

ผวจ.เลย เล่าต่อว่า พอช่วงเรียนต่อมัธยมไม่มีทุนเรียนต้องเข้ามาในตัวเมืองเลย ไปขออาศัยวัดศรีสุธาวาส หรือวัดเลยหลง วัดอารามหลวง ได้รับความเมตตาจากหลวงปู่คำดี วัณณาโก ท่านเจ้าอาวาส เมตตาให้ที่พัก ให้ข้าวก้นบาตร และให้โอกาสได้เรียนการศึกษาผู้ใหญ่ที่ โรงเรียนเลยพิทยาคม ภาคค่ำ คล้ายกับการเรียน กศน.ในปัจจุบัน จนจบชั้น ม.4, ม.5.ม.6 และใน ปี พ.ศ.2529 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีฐานะยากจนมีผลการเรียนดีพอสมควรทั่วประเทศ สมัครสอบตรงทุกคณะ ซึ่งสอบได้คณะรัฐศาสตร์ และจบการศึกษาเกียรตินิยมอันดับ 2 ไม่ได้เป็นคนเรียนเก่ง แต่มีการวางแผนการเรียนที่เหมาะสม และหาทุนเรียนระหว่างเรียนไปด้วย

โดยตั้งแนวทางการหารายได้ 2 ประเภท ประเภทแรก สมัครเป็นผู้ช่วยวิจัย ให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัดเกือบทุกจังหวัด ได้รับรู้ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ ความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของผู้คนหลายระดับหลายท้องถิ่น ประเภทที่ 2 รับจ้างเก็บหนังสือในห้องสมุด มีโอกาสได้อ่านหนังสือทุกประเภททำให้ได้รับรู้จากการอ่าน นอกจากนี้ระหว่างปิดเทอมก็ไปรับงานจากรุ่นพี่ ที่เรียนปริญญาโท เก็บข้อมูล ผลงานวิทยานิพนธ์ เลยได้ทั้งเงินและรับรู้ข้อมูลอีกมากมาย

หลังจบปริญญาตรี ไปสมัครเป็นพนักงานบริษัทในเครือ เอส.ซี.จี. หรือปูนซิเมนต์ไทยเดิม ซึ่งเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลแห่งหนึ่ง ไม่เอาเปรียบพนักงาน จนสอบได้ทุนปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์การปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้สิทธิ์ยกเว้นค่าหน่วยกิต และทุนค่าใช้จ่ายส่วนตัว ยังไม่ทันจบ ไปสอบของกรมพัฒนาชุมชนได้จนไปรับราชการเป็นพัฒนากรชุมชน ที่อำเภอปากชม และสอบปลัดอำเภอได้เป็นปลัดอำเภอครั้งแรกที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ซึ่ีงรู้สึกชอบมาก เนื่องจากเรียนมาทางสาขานี้

จนมาสอบเข้า โรงเรียนนายอำเภอ รุ่นที่ 49 ไม่ทันได้เป็นนายอำเภอมีการปฏิรูปการปกครอง มีการตั้งกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น เลยมาสมัครเป็นผู้ตรวจการณ์ท้องถิ่น รับผิดชอบ เทศบาล อบต. เพราะเห็นว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด จะได้ช่วยส่งเสริมให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง สามารถพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบริหารงบประมาณด้วยตนเอง จนสุดท้ายมาเป็นผู้อำนวยการและผู้อำนวยการพัฒนาบุคคลากรท้องถิ่น ได้รู้จักกับผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นเกือบทั่วประเทศที่เข้ามารับการเรียนและอบรม

ประวัติการทำงาน ระหว่างปี 2535-2546 เป็นปลัดอำเภอ จ.หนองคาย อุดรธานี เลย ขอนแก่น นครราชสีมา ต่อมาปี 2547-2551 เป็นผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.บุรีรัมย์ จากนั้นปี 2551-2555 เป็นท้องถิ่นจังหวัด บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ระหว่างปี 2555-2557 เป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระหว่างปี 2557-2558 เป็นหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย ในปี 2558 เป็นรองผวจ.นครราชสีมา ระหว่างปี 2558-2559 เป็นรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระหว่างปี 2559-2560 เป็นที่ปรึกษาด้านการปกครองสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และปี 2560 เป็น ผวจ.ราชบุรี ก่อนย้ายมาเป็น ผวจ.เลย ในปัจจุบัน

“ผมเป็นชาวเลยโดยกำเนิด ส่งเสริมใช้ภาษาไทเลยท้องถิ่นสื่อสาร ไม่ว่าจะไปราชการ เปิดงาน ปาถกฐา ประธานพิธีในวาระต่างๆ ขอความร่วมมือ ข้าราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น พ่อค้าและชาวบ้านเข้า โครงการ “สวมผ้าฝ้าย ใส่ผ้าซิ่น เว้าภาษาถิ่น ภาษาเลย” เพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอันดีงาม ใส่ทุกวันศุกร์ หรือจะใส่ทุกวันยิ่งดี ผมไม่ได้เป็นนายอำเภอ-ปลัดจังหวัดมาก่อนหน้า แต่การที่ได้เป็นผู้ช่วยนักวิจัย รับจ้างเก็บหนังสือในห้องสมุดประสบการณ์ ได้เห็นพฤติกรรมเรียนแบบ ฟุ้งเฟ้อ ขาดความรอบคอบ สุรุ่ยสุร่าย ผิดไปจากในอดีตที่เคยเห็นมาจึงคิดโครงการหลายอย่างที่ยังไม่เคยมีคนคิดมาก่อน”

จะเริ่มโครงการในปีใหม่นี้คือ 1.เปิดจวนผู้ว่า จัดแต่งงาน โดยผู้ว่าฯ รับเป็นเจ้าภาพ ใช้จวนผู้ว่าฯ เป็นสถานที่ประกอบพิธีจัดเลี้ยงฟรีไม่คิดมูลค่า เนื่องจาก จวนผู้ว่าฯ สร้างจากภาษีของประชาชน ควรมีส่วนร่วมในกิจกรรมของประชาชนเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ต้องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ของกิน-ของชำร่วยต้องใช้ของที่ผลิตในจังหวัดเพื่อส่งเสริมผลิภัณฑ์ชุมชน 2.งานศพรณรงค์งดแอลกอฮอล์ต้อนรับแขก ซึ่งปัจจุบัน มีค่านิยมผิดๆ ที่ต้องจัดเลี้ยงโต๊ะจีนเลี้ยงสุรา ในงานศพ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองไม่มีประโยชน์

“ผู้ว่าฯติ๊ก” กล่าวปิดท้ายว่า ระบบราชการเขาให้สามารถปฏิบัติราชการได้คราวละ เพียง 4 ปี ถ้าเกินกว่านั้นต้องให้คณะรับมนตรีพิจารณา ซึ่งก็แล้วแต่ผู้บังคับบัญชา แต่โดยส่วนตัวจะขอทำงานให้ดีที่สุดในระหว่างที่ยังอยู่ จ.เลย ในฐานะที่เป็นคน ไทเลยคนหนึ่ง

สุมาลี โคลส์ กำนันตำบลนาพึง เจ้าของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.นาแห้ว จ.เลย บอกว่าดีใจที่สุดที่ได้ผู้ว่าฯ ที่เป็นคนเลยโดยกำเนิด เคยสัมผัสช่วงที่ท่านเดินทางมาแนะนำตัวมอบนโยบายที่อำเภอนาแห้ว ท่านพูด
“ภาษาไทเลย” เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจง่าย ทำตัวติดดินไม่เหมือนกับข้าราชการทั่วไป ท่านมาโดยไม่ให้จัดอาหารเลี้ยง เก้าอี้ก็ให้จัดที่นั่งเสมอชาวบ้าน อาหารให้จัดเพียงน้ำเปล่า นอกจากนั้นยังให้สวมผ้าฝ้ายพื้นเมืองใส่ผ้าซิ่นแทนกางเกง และกระโปรงด้วย

ทราบมาว่าตอนมารับตำแหน่งผู้ว่าฯ คนนี้ประกาศว่า ให้ข้าราชการทุกพื้นที่ไม่ให้มีรถนำ, ไม่ต้องตั้งขบวนต้อนรับ,งดกระเช้าของขวัญ และไม่ต้องจัดเลี้ยง…จากการที่ผ่านความยากจน-ยากลำบาก การดำเนินชีวิตมุมานะ-อุสาหะจนประสบความสำเร็จเป็นถึงผู้ว่าราชการ ไม่แปลกใจเลยที่ท่านยังคงดำเนินชีวิตอย่าง
สมถะ-ประหยัด-ติดดิน ใช้ชีวิตเยี่ยงคนธรรมดาจับต้องได้…ที่หลายคนสงสัยว่าปั่นจักรยาน “สร้างภาพ” จึงเป็นข้อกล่าวหาที่เกินความจริง…พวกโลกแคบเข้าใจกระจ่างแท้แน่นอนกันแล้วนะ.
………………………………………
คอลัมน์ : “คนดีของสังคม”
โดย “เหยี่ยวขาว”
ขอบคุณข้อมูล-ภาพ…ดำรงค์ รักษ์จรรยาวงศ์ ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ จ.เลย

ที่มา:เดลินิวส์ออนไลน์