วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

รู้ไหม? พระมหาพิชัยมงกุฎฯ ถูกโจรกรรมที่ฝรั่งเศส เมื่อปี ๒๕๕๘ที่ผ่านมา

การโจรกรรมครั้งใหญ่ที่ทั่วโลกจับตามอง กรณี ‘พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง’ ของไทยถูกโจรกรรมไปจากพิพิธภัณฑ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หายไปพร้อมงานศิลปะรวม15 ชิ้น พระมหาพิชัยมงกุฎจำลองนั้นทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ปี 2558 เหตุโจรกรรมโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์จีน ในพระราชวังฟงแตนโบล กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แพร่สพัดไปทั่วโลก กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่ามีโบราณวัตถุถูกโจรกรรมทั้งสิ้น 15 ชิ้น หนึ่งในนั้นคือ ‘พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง’ ของไทยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) มอบให้กับกษัตริย์นโปเลียนที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2404

ด้าน วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวหลังทราบเหตุดังกล่าว “เป็นที่น่าเสียดายเพราะพระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง ถือเป็นเครื่องมงคลราชบรรณาการ อันเป็นโบราณวัตถุที่ประเมินค่ามิได้ ทำจากทองคำแท้ เป็นมงกุฎทองประดับเพชร 233 เม็ด ทับทิม 2,298 เม็ด มรกต 46 เม็ด และไข่มุก 9 เม็ด ส่วนเรื่องของการติดตามและดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น ถือเป็นเรื่องของทางการฝรั่งเศส”

‘พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง’ ถือเป็น ‘เครื่องมงคลราชบรรณาการ’ วีระ อธิบายว่าคำนี้มีความหมายต่างจาก ‘ เครื่องราชบรรณาการ’ การเติมคำว่า ‘มงคล’ แทรกลงไปในคำว่าเครื่องราชบรรณาการ มีนัยแฝงว่าพระเจ้ากรุงสยาม มีสถานะเทียบเท่ากับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เท่ากับว่า ‘เครื่องมงคลราชบรรณาการ’ เป็นของขวัญแก่มิตรประเทศ แสดงเกียรติยศเปรียบเสมอกับระหว่างราชสำนักตะวันตกกับตะวันออก ไม่ใช่การโอนอ่อนยอมรับอำนาจเป็นเมืองขึ้นเหมือนการส่งเครื่องบรรณาการ เปรียบได้กับการแสดงเกียรติยศของกษัตริย์ทั้งสองซีกโลก ซึ่งถือเป็นทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าระดับมรดกศิลป์ของชาติ หรืออาจจะของโลกที่ยากเกินการประเมินค่า

นาย ไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ อธิบายถึงห้องพิพิธภัณฑ์จีนภายในพิพิธภัณฑ์ฟงแตนโบลว่า เป็นห้องจัดแสดงของจากจีนถึง 90% อีก 10% เป็นเครื่องราชมงคลบรรณาการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ถวายแด่พระเจ้านโปเลียนที่ 3 จำนวน 21 หีบ

นายไกรฤกษ์ ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุโจรกรรมครั้งนี้ว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ฟงแตนโบลนั้นมีระบบรักษาความ ปลอดภัยเต็มร้อย โดยเฉพาะห้องพิพิธภัณฑ์จีน ที่โดยปกติจะไม่เปิดให้เข้าชม ผู้ที่จะเข้าชมต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ล่วงหน้านาน 3-7 วัน

“หนังสือ พิมพ์เลอ มง (Le Monde) เช้านี้ลงข่าวการโจรกรรมสิ่งของมีค่าในพิพิธภัณฑ์ฟงแตนโบลว่า ผู้ที่เข้าไปขโมยน่าจะมีมากกว่า 1 คน แต่ไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใด เพราะของที่ถูกขโมยไปนั้นมี 15 ชิ้น แต่ใช้เวลาลงมือเพียง 7 นาทีเท่านั้น จึงต้องเป็นคนระดับมืออาชีพ” นักวิชาการคนดังกล่าว

นายไกรฤกษ์กล่าว ว่า ที่น่าสังเกตคือ เวลาเกิดเหตุนั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ ก่อนเปิดพิพิธภัณฑ์ด้วยซ้ำ และระบบรักษาความปลอดภัยที่เป็นระบบเสียงตรวจจับด้วยเลเซอร์ไม่มีการส่ง เสียงเตือน รวมทั้งกล้องซีซีทีวีที่แม้จะจับภาพได้ แต่เห็นภาพไม่ชัดคล้ายถูกพ่นสี นอกจากนี้ยังไม่มีร่องรอยการรื้อค้น เหมือนมีใบสั่งที่กำหนดชิ้นไว้ล่วงหน้า เพราะในพิพิธภัณฑ์ฟงแตนโบลเต็มไปด้วยของมีค่ามากมาย แต่ถูกขโมยจำเพาะที่ห้องพิพิธภัณฑ์จีน เฉพาะชิ้นที่มีค่า มีราคา และมีความหมาย

นายไกรฤกษ์อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับพระมหามงกุฎองค์ดังกล่าวไม่ได้มีเพียงองค์เดียว เมื่อ ค.ศ.1855 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสั่งให้จำลองพระมหามงกุฎไว้ 2 องค์ เพื่อถวายแด่พระราชินีนาถวิคตอเรียแห่งอังกฤษ และถวายพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส แต่ถวายทางประเทศอังกฤษก่อน เพราะอังกฤษมีความพร้อมกว่า ส่งเรือมารับพระมหามงกุฎ พร้อมกับคณะราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรี ขณะที่ทางประเทศฝรั่งเศสยังติดพันกับการสงครามกับประเทศรัสเซีย กระทั่ง 6 ปีต่อมา คือ ค.ศ.1861 เมื่อสงครามสงบลง จึงส่งเรือมารับ โดยมีพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดีเป็นคณะราชทูตนำเครื่องราชมงคล บรรณาการไปถวาระเจ้านโปเลียนที่ 3 เป็นจำนวน 21 หีบ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทรงให้ฌอง-เลออง เจอโรม จิตรกรเอกชาวฝรั่งเศสวาดเป็นภาพสีน้ำมันไว้ ซึ่งแขวนอยู่ในห้องพิพิธภัณฑ์จีน ภายในพิพิธภัณฑ์ฟงแตนโบล คู่กับพระมหามงกุฎ ก่อนจะถูกจารกรรม

“เรื่องภาพอันเป็นพยาน”
กระทรวงวัง ได้ว่าจ้าง ฌอง-เลอ็ง เฌโฮม (Jean-Léon Gérôme) จิตรกรลือชื่อในยุคนั้นให้วาดภาพที่ระลึก “การต้อนรับคณะราชทูตสยามโดยพระเจ้านโปเลียนที่ 3” (Réception des ambassadeurs siamois par l’empereur Napoléon III ) ณ ท้องพระโรงใหญ่ แห่งพระราชวังฟงแตนโบล เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2404 เฌโฮม ใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะวาดภาพนี้แล้วเสร็จ โดยจุดเด่นของภาพนี้อยู่ที่การปะทะสังสรรค์ระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก ขณะที่คณะราชทูตสยามหมอบกราบตามธรรมเนียมตนยามเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนบรรดาข้าราชบริพารฝรั่งเศสกลับยืนเข้าเฝ้าอย่างลำลองตามปกติวิสัยของตน ภาพนี้ยังสอดคล้องกับแนวการทำงานของ เฌโฮม ที่นิยมวาดภาพในแนวบูรพาคดีนิยม (Orientalism) หรือภาพที่แสดงความลึกลับ น่าค้นหาของโลกตะวันออก ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมกันมากในยุคก่อนศิลปะโมเดิร์น

 

 

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามกันต่อไปว่าทางฝรั่งเศสจะสามารถนำ พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง และโบราณวัตถุที่ถูกโจรกรรมกว่า15 ชิ้น กลับคืนมาได้หรือไม่? หรือจะหลงเหลือไว้เพียงภาพจิตรกรรมอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์