วันอาทิตย์ 8 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

‘เครื่องสังคโลกสุโขทัย’ยุค 4.0ความงามผ่านยุคสมัย

‘เครื่องสังคโลกสุโขทัย’ยุค 4.0ที่นำนวตกรรมเทคโนโลยีพัฒนาสร้างสรรค์สู่ความงามเป็นเลิศข้ามเวลา

'เครื่องสังคโลกสุโขทัย'ยุค 4.0ที่นำนวตกรรมเทคโนโลยีพัฒนาสร้างสรรค์สู่ความงามเป็นเลิศข้ามเวลา

เครื่องสังคโลกที่วัสดุและกระบวนพัฒนาด้วยนวตกรรมเทคโนโลยีสร้างความงามข้ามเวลาและทรงคุณค่า (ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)
เครื่องสังคโลกสุโขทัย’ซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมโบราณที่ทรงคุณค่าของหัตถศิลป์ระดับสูงของไทย ได้รับการพัฒนาคุณภาพวัสดุและกระบวนการผลิตด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี สู่ความงดงามยั่งยืนได้สำเร็จโดย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.)

13 กันยายน 2561- รายงานพิเศษ’ผู้จัดการออนไลน์’เขียนถึงความงามข้ามเวลาของเครื่องสังคโลกสุโขทัย ที่เป็นมรดกวัฒนธรรมโบราณที่ยังคงอยู่ไว้ว่า กว่า 700 ปี ที่ศิลปะและภูมิปัญญาการทำเครื่องสังคโลก “ของดี” จังหวัดสุโขทัย ได้สืบทอดกันมานานจากรุ่นสู่รุ่น และยังคงเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้าไปชื่นชม ซื้อหา เป็นของฝากของที่ระลึก

หากแต่ว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีการทำเครื่องปั้นดินเผาอื่นๆ ได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการผลิตทำให้ผู้บริโภคมีสินค้าทดแทนที่สามารถเลือกซื้อได้หลากหลายและมีราคาถูกกว่าเครื่องสังคโลกมาก ส่งผลกรรมวิธีในการทำเครื่องสังคโลกแบบดั้งเดิมที่เกิดจากภูมิปัญญาในท้องถิ่นเริ่มค่อยๆ สูญหายไป ผู้ประกอบการทยอยปิดตัวหันไปทำอาชีพอื่น

ภาพเครื่องสังคโลกแบบดั้งเดิม

ทั้งที่ความสำคัญของเครื่องสังคโลกเป็นมากกว่าวัตถุสิ่งของ แต่คือตัวแทนของการบอกเล่าเรื่องราวในอดีต ความเจริญ และความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักรสุโขทัย “สังคโลก” คือสิ่งที่ชาวเมืองสุโขทัยภาคภูมิใจ เพราะงานทุกชิ้นที่ผลิตถือเป็นหัตถศิลป์ที่มีชิ้นเดียวไม่ซ้ำกัน ช่างแต่ละคนมีความคิดสร้างสรรค์เป็นของตนเอง มีความภูมิใจในงานที่ตนเองผลิตขึ้น โดยออกแบบผลิตเครื่องสังคโลกเป็นถ้วยชาม ของที่ระลึกที่สวยงามและมีความงดงามประณีตมาก ผลงานแต่ละชิ้นจะต้องใช้ช่างถึง 3 คนในการทำงาน คือ ช่างปั้น ช่างเขียนลาย ลงสีจากธรรมชาติและช่างเก็บรายละเอียด ใช้เวลาตั้งแต่ 2 ชั่วโมงขึ้นไปจนถึงหลายเดือน ตามขนาดและความยากง่ายของผลิตภัณฑ์

ดังนั้นเมื่อ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เข้าไปพัฒนาสุโขทัย ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เป็นต้นแบบเมืองมรดกโลก จึงต้องพัฒนาทั้งคน ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม โดย พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. ได้วางแนวคิดของการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ในแบบฉบับของ อพท. ไว้ว่า ต้องไม่ใช่เพียงแค่การอนุรักษ์ และต้องสร้างให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน บางอย่างจึงต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เข้ามาเกี่ยวข้อง

เป้าหมายสำคัญคือให้เครื่องสังคโลกยังคงอยู่และสืบสานต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น อพท. จึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) ในการพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สังคโลกเพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการปรับปรุงทั้งกระบวนการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ เช่นการเตรียมดินสำหรับปั้น เนื้อดินต้องเนียนละเอียดสม่ำเสมอเป็นเนื้อเดียวกัน มีคุณภาพคงที่ แนะนำวิธีการควบคุมความชื้น โดยต้องมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ทั้งกระบวนการผลิต เพราะการเปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบจะส่งผลให้การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบทำได้ยาก มีผลต่อคุณภาพของชิ้นงานที่ได้ภายหลังเผา

ภายหลังที่ได้ควบคุมคุณภาพการผลิต พบว่าคุณภาพชิ้นงานดีขึ้นร้อยละ 19 ลดการแตกร้าวจากกระบวนการผลิตได้ร้อยละ 20-30 สามารถลดความหนาของชิ้นงานช่วยลดเวลาการเผาได้ร้อยละ 30-50 จึงประหยัดแก๊สได้ร้อยละ 30 และเมื่อผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเบาขึ้นจึงช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งในการจัดจำหน่าย อีกทั้งยังพบว่าผลิตภัณฑ์มีจุดสีดำลดลง เนื้อดินเนียนและมีความสม่ำเสมอมากขึ้น

“การพัฒนาครั้งนี้ อพท. ได้เชิญผู้เชียวชาญจากเชียงใหม่ศิลาดล มาร่วมออกแบบ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ในเบื้องต้นทำ 3 แบบ คือ ชามสลัด ถ้วยซุป และจาน เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำ ปรับรูปแบบให้มีความร่วมสมัย สวยงาม สะดวกต่อการใช้งาน และปรับลวดลายให้มีความปราณีต แต่ยังคงเอกลักษณ์ของสังคโลกสุโขทัยเอาไว้โดยรวม และยังเพิ่มเทคนิคการเขียนลายและการเคลือบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์”

การสร้างมูลค่าเพิ่ม อพท. ยังร่วมมือกับ วว. ออกแบบและจัดทำบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามและแข็งแรงทนทานต่อการขนส่งระยะไกล ช่วยเพิ่มมูลค่าและช่วยป้องกันการเกิดความเสียหายแก่ผลิตภัณฑ์ในการขนส่งจัดจำหน่าย และร่วมมือกับสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย พัฒนาศักยภาพด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบออนไลน์ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สังคโลก เน้นการเรียนรู้เทคนิคการตลาดออนไลน์สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ในระบบออนไลน์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการถ่ายภาพ การเขียนเนื้อหาที่จะนำเสนอ และการใช้แพลตฟอร์มที่เป็นนวัตกรรมทางการตลาดออนไลน์ โดยหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับการตลาดและช่องทางการขายของการท่องเที่ยวไทย ทำให้ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวของชุมชนที่เป็น offline สามารถเข้าสู่โลก online ได้ตามนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล

ภาพเครื่องสังคโลกแบบร่วมสมัย

จากความร่วมมือกันหลายฝ่ายในครั้งนี้ นับเป็นการพลิกฟื้นเครื่องสังคโลก ศิลปะโบราณ ที่มีคุณค่าสู่การค้าสากล สินค้าส่งออกอันเลื่องชื่อในอดีต ให้ได้รับการพัฒนาทางด้านการออกแบบ คุณภาพ และยังคงความงามด้วยวิธีการเขียนแบบโบราณ ผสานกับการทำตลาดยุคใหม่ จึงมั่นใจว่าเครื่องสังคโลกจะกลับมาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอีกครั้งในยุคปัจจุบัน