วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

เวเนซุเอลามาถึงจุดนี้ได้ไง!? จากเศรษฐีน้ำมัน เป็นแดนโกลาหล ผู้คนหิวโหย

ครั้งหนึ่ง เวเนซุเอลาเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา แต่ในปัจจุบันพวกเขากำลังจะหมดสิ้นซึ่งอาหาร โรงพยาบาลเต็มไปด้วยเด็กป่วยไข้ ในขณะที่หมอไม่มียาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอที่จะให้การรักษา แม้แต่ไฟฟ้าก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า จะมีให้ใช้ตลอดเวลา แต่ดูเหมือนจะมีเพียงสิ่งเดียวที่แน่นอนคือ ความวุ่นวาย

 

ปัจจุบัน เศรษฐกิจของเวเนซุเอลากำลังใกล้พังทลาย ปัญหาด้านมนุษยธรรมเลวร้ายลงด้วยประชาชนหิวโหย และเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น ภาคการเมืองที่ควรเป็นผู้แก้ปัญหาก็กำลังเผชิญวิกฤติ เมื่อรัฐบาลถูกประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านไม่เว้นแต่ละวัน ขณะที่ผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร กลับกำลังหาทางรักษาอำนาจของตัวเองด้วยวิธีล่าสุดคือ จัดการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อล้มรัฐบาลที่ถูกฝ่ายค้านครองเสียงส่วนใหญ่ไปเสียแล้ว

 

หลายคนที่เห็น เวเนซุเอลา มีสภาพลุกเป็นไฟเช่นนี้ คงเกิดคำถามเดียวกันว่า เหตุใดประเทศซึ่งมีธรรมชาติอันสวยงาน และมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก จึงมีสภาพเป็นเช่นนี้

 

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ฮูโก ชาเวซ

  ฮูโก ชาเวซ อดีตประธานาธิบดีแห่งเวเนซุเอลา ฮีโร่ของคนจน
การมาของฮูโก ชาเวซ กับนโยบายประชานิยม

 

อย่างที่ระบุในข้างต้นว่า เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก พวกเขาน่าจะมีแหล่งทำเงินอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตอนนี้งบประมาณของรัฐบาลเวเนซุเอลากำลังจะหมดลง และราคาสินค้าต่างๆ ก็พุ่งกระฉูด ขณะที่ความโกรธาของคนชั้นล่าง ซึ่งไม่พอใจที่คนชั้นสูงจำนวนน้อยควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศนี้เอาไว้ สะสมพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

 

เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศสังคมนิยม ในปี พ.ศ.2542 และประชาชนเลือกนาย ฮูโก ชาเวซ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาปกครองประเทศด้วยนโยบายประชานิยม ตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา หันหน้าเข้าหาจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่ให้เวเนซุเอลากู้เงินไปหลายพันล้านดอลลาร์ จนกระทั่งชาเวซถึงแก่อสัญกรรมในปี 2556 และจนถึงทุกวันนี้ ในสายตาคนยากจนยังยกย่องให้เขาเป็นวีรบุรุษของประเทศ

 

แต่รัฐบาลของชาเวซใช้จ่ายงบประมาณของประเทศไปกับโครงการด้านสังคมสงเคราะห์มากเกินไป รวมทั้งจ่ายเงินอุดหนุนกำหนดราคาสินค้าแทบทุกอย่าง พวกเขาเปลี่ยนเวเนซุเอลาจากประเทศที่พึ่งพารายได้จากการเกษตร ไปเป็นประเทศผู้ค้าน้ำมันให้ต่างชาติ ซึ่งทำรายได้มหาศาลแทน

 

ก่อนที่นายชาเวซจะถึงแก่อสัญกรรม เขาได้เลือกนายมาดูโร เป็นผู้สืบทอดของเขา และมาดูโรก็เจริญรอยตามการปกครองของชาเวซ รัฐบาลของเขายังหยุดการเปิดเผยสถิติเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือต่างๆ รวมทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ รับสินบนเพื่ออนุมัติโครงการก่อสร้างต่างๆ เพิ่มหนี้สินที่พวกเขายังต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินมาจ่ายให้มากขึ้นไปอีก

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ราคาน้ำมันโลกตกต่ำ

ราคาน้ำมันโลกตกต่ำ

 

และแล้วหายนะของเวเนซุเอลาก็มาถึง เมื่อน้ำมันดิบซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักแหล่งเดียวของพวกเขา มีมูลค่าตกต่ำลง โดยในปี 2557 ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในตอนนั้นหลายประเทศขุดเจาะน้ำมันดิบได้มากขึ้นด้วยเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันแบบใหม่ แต่ในตอนนั้นเอง ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกกลับลดประมาณความต้องการซื้อน้ำมันลงเหมือนนัดกันไว้ และเมื่อมีน้ำมันมากเกินไป ราคาจึงตกต่ำลงเหลือเพียง 26 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 2559 และทุกวันนี้อยู่ที่ราว 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งหมายความว่า รายได้ของเวเนซุเอลาน้อยลงจากช่วงสูงสุดครึ่งหนึ่ง

 

รายได้จากน้ำมันที่หดหาย ทำให้งบประมาณของรัฐบาลเวเนซุเอลาลดลงไปด้วย การควบคุมราคาสินค้าเริ่มกลายเป็นปัญหา พวกเขายังคงอุดหนุนราคาอาหารให้ต่ำกว่าราคาปกติ เพื่อเอาใจคนยากจน มาดูโรยังสั่งให้พิมพ์ธนบัตรออกมาเพิ่มในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งการทำเช่นนั้นส่งผลให้ค่าเงิน โบลิวาร์ ดิ่งลงอย่างน่าใจหาย จนบริษัทในเวเนซุเอลาต้องปลดพนักงานจำนวนมาก มาดูโรยังเพิ่มความเป็นศัตรูกับบริษัทต่างชาติ จนหลายบริษัทต้องระงับหรือเลิกกิจการในเวเนซุเอลาไปเลย จนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า ตัวเลขคนว่างงานในเวเนซุเอลาในปี 2560 จะแตะระดับ 25% แล้ว

 

ค่าเงินตกต่ำ ซื้อของที ต้องพกเงินเป็นฟ่อน

ด้านอัตราเงินเฟ้อก็ยิ่งเลวร้ายขึ้นทุกทีว่า ในช่วงปี 2553 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 8 โบลิวาร์ แต่ตอนนี้ต้องใช้มากกว่า 8,000 โบลิวาร์จึงจะแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตราการแลกเปลี่ยนอย่างไม่เป็นทางการ ที่ชาวเวเนซุเอลาจำนวนมากใช้ เพราะอัตราและเปลี่ยนที่รัฐบาลกำหนดมีมูลค่าสูงเกินจริง และอัตราแลกเปลี่ยนอาจพุ่งขึ้นเป็น 2,000% ในปีหน้า

 

เพื่อเป็นการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น มาดูโรประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำถึง 3 ครั้งแล้วในปี 2560 แต่นี่เป็นวิธีที่ผู้เชี่ยวชาญอย่าง นายอัลเบร์โต รามอส นักเศรษฐศาสตร์หัวหน้าฝ่ายวิจัยของธนาคาร โกลด์แมน แซค ประจำภูมิภาคละตินอเมริการะบุว่า เป็นการบรรเทาทุกข์ให้คนจนเพียงเล็กน้อยในระยะสั้น แต่จะสร้างความเจ็บปวดในระยะยาว เพราะค่าเงินต่ำลง “เศรษฐกิจของเวเนซุเอลายุ่งเหยิงอย่างยิ่ง มันพังทลายโดยสิ้นเชิง และอยู่ในจุดที่กู่ไม่กลับแล้ว” ในขณะที่มาดูโรกล่าวโทษว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากฝ่ายต่อต้านเขาและการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ แต่ไม่ว่าใครจะเป็นคนผิด แต่ความลำบากก็ตกอยู่ที่ชาวเวเนซุเอลาเอง

 

 

ชาวบ้านซื้อสินค้ากักตุนเอาไว้ หลังรู้ข่าวสินค้าขาดแคลน

อาหาร ยา อุปกรณ์การแพทย์ขาดแคลนอย่างหนัก

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลมาดูโรมีทางเลือกในการใช้เงินไม่มากคือ ชดใช้หนี้แก่ประเทศจีน, รัสเซีย และนักลงทุนต่างชาติ หรือซื้ออาหารและยาจากต่างประเทศ ซึ่งพวกเขาเลือกที่จะจ่ายหนี้ ผลก็คือ ชาวเวเนซุเอลาต้องอดอยาก และอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนอาหารยังทำให้น้ำหนักตัวเฉลี่ยของชาวเวเนซุเอลาในพื้นที่ยากจนที่สุดลดลงถึง 19 ปอนด์เมื่อปีก่อน

 

เวเนซุเอลานำเข้าอาหารส่วนใหญ่มาจากประเทศบราซิล โคลอมเบีย และเม็กซิโก เพราะรัฐบาลหยุดการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน โดยตามข้อมูลของบริษัทวิจัย ‘Panjiva’ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 ปริมาณการนำเข้าอาหารจากทั้ง 3 ประเทศที่กล่าวมา ลดลงจากช่วงเดียวกันในปี 2558 ถึง 61%

 

ยาที่ขายในร้ายร่อยหรอ

ขณะที่การขาดแคลนยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ยิ่งเลวร้ายลง โดยรัฐบาลเปิดเผยสถิติซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมากระบุว่า ในปี 2559 มีผู้หญิง 756 คน ที่เสียชีวิตระหว่างหรือหลังจากคลอดลูก เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 76% ในปีเดียวกัน มีเด็กทารกตายเกือบ 11,500 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้น 30% จำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียก็มีมากถึง 240,000 คน สูงกว่าปี 2558 ราว 76%

 

“แม้แต่ที่โรงพยาบาลก็ยังไม่มีอาหารให้คนไข้เลย” ดร.ฮูเนียเดส อูร์บินา-เมดินา หัวหน้ากุมารแพทย์ของโรงพยาบาล ‘นินยอส เจ.เอ็ม. เด ลอส ริออส’ โรงพยาบาลเด็กในกรุงการากัส เมืองหลวงของเวเนซุเอลากล่าว “เรายังไม่มียา, เครื่องเอกซเรย์, เครื่องซีที สแกน ไม่มีเลย”

 

ความขาดแคลนที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลาไม่ได้หยุดที่อาหารและยา แต่รวมถึงไฟฟ้า ซึ่งดับเป็นประจำจนเป็นเรื่องปกติ และน้ำที่ขาดแคลนหนักมากโดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง

 

 

นิโคลัส มาดูโร ผู้สืบทอดของชาเวซ

เมื่อความตึงเครียดทางการเมืองสุกงอม

 

จุดเปลี่ยนในภาคการเมืองของเวเนซุเอลา เกิดขึ้นในปี 2558 เมื่อผู้นำฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งในการครองเสียงข้างมากในสภาสมัชชาแห่งชาติ นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของนายมาดูโร แต่เรื่องนี้ก็ทำให้เกิดภาวะชะงักงันทางการเมือง

 

กระทั่งในช่วงต้นปี 2560 ศาลสูงสุดเวเนซุเอลา ซึ่งสนับสนุนนายมาดูโร มีคำสั่งห้ามไม่ให้รัฐสภาถอดถอนนายมาดูโร จากนั้นในเดือนมีนาคม นายมาดูโรให้ศาลสูงสุดมีคำสั่งยุบสภาที่ฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากเมื่อเดือนมีนาคม รวมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่คณะรัฐมนตรีและศาลสูงสุด จนฝ่ายค้านต้องปลุกระดมมวลชนขึ้นมาประท้วงต่อต้าน นานหลายเดือน ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน จนสุดท้ายศาลสูงสุดก็ต้องยอมถอนคำสั่งดังกล่าว

 

ความตึงเครียดทางการเมืองลึกล้ำขึ้นอีก หลังจากวันอาทิตย์ที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา เวเนซุเอลาจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางการประท้วงและการบอยคอตต์จากสมาชิกฝ่ายค้าน ที่เชื่อว่ามาดูโรต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อยุบสภาและรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ ขณะที่ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน และเกิดการปะทะนองเลือดกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง

 

จนถึงตอนนี้ สถานการณ์ในเวเนซุเอลาก็ยังไม่สงบ เพราะไฟแห่งการต่อต้านมาดูโรถูกจุดติดแล้ว กอปรกับความทุกข์ยากที่พวกเขาต้องเผชิญ ทำให้ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง.
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thairath.co.th