วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

วีรบุรุษ “พระยาศรีสิทธิสงคราม” ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

พระยาศรีสิทธิสงคราม

 

  “กบฏบวรเดช” หรือการรบกันเองของทหารไทยที่เป็นสงครามกลางเมืองในการเมืองยุคใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 นั้นมีตัวละครเอกทางด้านฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลอยู่หลายคน แต่พระยาศรีสิทธิสงครามดูจะเป็นตัวละครเอกมากกว่าใคร แม้ท่านจะไม่ได้เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารที่ออกมารบรัฐบาลในครั้งนั้น และเมื่อแพ้จึงได้ชื่อว่ากบฏ พระยาศรีสิทธิสงครามเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมก่อการและเสียชีวิตในสนามรบ ไม่ได้หนีไปไหน ไม่ได้ถูกจับและถูกลงโทษประหารชีวิตแต่อย่างใด การเสียชีวิตของท่านในการปฏิบัติการได้ทำให้ฝ่ายกบฏแพ้อย่างเห็นได้ชัด

          เหตุการณ์กบฎบวรเดชเกิดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม ปี 2476 กองกำลังของทหารหัวเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังทหารจากนครราชสีมา นำโดยอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พระองค์เจ้าบวรเดชยกกำลังกันเข้ามายึดดอนเมืองและส่งพระแสงสิทธิการนำจดหมายไปยื่นคำขาดให้รัฐบาลยอมแพ้ภายในหนึ่งชั่วโมง รัฐบาลของนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาไม่ยอมทำตามคำขาด และสั่งปราบฝ่ายกบฏ โดยมอบหมายให้นายพันโทหลวงพิบูลสงครามเป็นหัวหน้ากองกำลังผสมของรัฐบาลปราบปรามฝ่ายล้มล้างรัฐบาลอย่างเต็มที่ ตอนนั้นนายพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นนายทหารที่เข้าร่วมกับฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชด้วย

          พระยาศรีสิทธิสงครามเป็นคนต่างจังหวัด เกิดที่ตำบลท่าราบ อำเภอคลองกระแชง ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ปี 2434 มีชื่อเดิมว่า ดิ่น ในครอบครัวชาวสวนผู้มีอันจะกิน ท่านเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยจบการศึกษาได้คะแนนเป็นที่ 1 ได้ทุนรัฐบาลไปเรียนวิชาทหารต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกเยอรมัน ในเวลาใกล้เคียงกันกับพระยาพหลฯ ผู้เป็นรุ่นพี่และพระยาทรงสุรเดชเพื่อนร่วมรุ่น ท่านเองเรียนอยู่ที่เยอรมนีประมาณ 10 ปี สำเร็จกลับมารับราชการทหาร ด้วยความที่เป็นคนเก่งจึงเจริญก้าวหน้าในการรับราชการทหาร กล่าวกันว่าท่านได้เป็นนายพันเอกของกองทัพตั้งแต่อายุ 37 ปี เมื่อปี 2471 ถือได้ว่าได้เลื่อนยศเร็วมากและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาในปี 2474 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงปีเดียว สำหรับชีวิตสมรสของท่านนั้น ภรรยาของท่านคือ คุณหญิงตลับ

ที่ผู้คนแปลกใจกันก็คือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ที่มีพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าและมีพระยาทรงฯ เป็นเสนาธิการ ทำการสำเร็จนั้นไม่ได้มีชื่อพระยาศรีสิทธิสงครามเข้าร่วมแต่อย่างใด ทั้งๆที่ในกองทัพรู้กันดีว่า พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ และพระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนนายร้อยเยอรมันมาด้วยกัน เป็นเพื่อนที่รักและสนิทกัน ถึงขนาดผู้บังคับบัญชาขนานนามนายพันเอก 3 ท่านนี้ว่า “สามทหารเสือ” ตามเรื่องในนวนิยายดังของฝรั่งเศสที่รู้จักกันดีในเมืองไทยเวลานั้น กรณีนี้มีการเล่าขานกันว่า พระยาทรงฯ เคยหยั่งท่าทีพระยาศรีฯ ในเรื่องนี้แต่ท่านวางเฉย พระยาทรงฯ จึงไม่กล้าชวนร่วมงาน และในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 คือวันที่มีการยึดอำนาจนั้นได้มีการเล่ากันว่าพอพระยาศรีฯ ทราบข่าวก็ได้เดินทางไปที่บ้านพระยาพหลฯ และได้เก็บตัวอยู่ที่นั่นจนเย็นสถานการณ์คลี่คลายจึงได้กลับไป แต่เรื่องที่น่าจะทำให้ท่านเสียความรู้สึกมากก็คือ คณะผู้มีอำนาจชุดใหม่ได้ย้ายท่านออกจากกองทัพไปอยู่กระทรวงธรรมการ ที่มีหน้าที่ดูแลการศึกษาจึงเสมือนว่าเพื่อนรักสองคนที่มีอำนาจในกองทัพไม่ไว้วางใจท่าน

ครั้นเมื่อเริ่มต้นปี 2476 เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรี ประกาศปิดสภาฯ ในเดือนเมษายนและต่อมานายทหารคนสำคัญ 4 นายของคณะผู้ก่อการฯ คือ พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีในวันที่ 18 มิถุนายน และให้มีผลในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2476 เท่านั้นยังไม่น่าแปลกใจเท่ากับที่นายทหารทั้ง 4 ท่านนี้ยังได้รับการอนุมัติให้ลาออกจากตำแหน่งทางทหารทั้งหมด โดยให้มีผลในวันที่ 24 มิถุนายน เช่นเดียวกัน วันที่ 24 มิถุนายน ปี 2476 คือวันครบรอบปีของการยึดอำนาจ ไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริง และในวันที่ 18 มิถุนายน นั่นเองก็มีการตั้ง 3 นายทหารเข้ามารักษาการแทนที่ คือ ให้พระยาพิชัยสงครามเป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พระยาศรีฯ เป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารบก และหลวงพิบูลสงคราม รองผู้บังคับทหารปืนใหญ่ เป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ นับว่าเป็นการดึงเอาพระยาศรีฯ กลับคืนมากองทัพ แต่ผ่านไปเพียง 2 คืน นายทหารคนใหม่ยังไม่ทันรับหน้าที่ ก็มีคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ที่มีพระยาพหลฯ เป็นผู้นำ และมีหลวงพิบูลฯกับหลวงศุภชลาศัยนำกำลังเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลพระยามโนฯ และครั้งนี้เขาก็เล่ากันว่าหลวงพิบูลฯ ได้ให้ย้ายพระยาศรีฯ กลับไปทำงานที่กระทรวงธรรมการอีกครั้งจึงน่าจะทำให้เกิดความขัดเคืองใจได้

          ดังนั้นการที่พระยาศรีฯ เข้าร่วมงานกับคณะทหารที่จะล้มรัฐบาลพระยาพหลฯ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ที่ยังไม่กระจ่างอยู่บ้างก็เพราะมีเรื่องเล่ากันว่าตอนแรกนั้นหัวหน้าคณะนี้ คือ พระยาศรีฯ แต่เมื่อประกาศตัวจึงได้ทราบกันว่าเป็นพระองค์เจ้าบวรเดช โดยท่านได้มาปรากฏตัวบัญชาการรบเอง แต่แรกฝ่ายทหารหัวเมืองดูจะได้เปรียบ แต่รบกันไปได้สักสองวัน ทางรัฐบาลตั้งตัวได้ทหารหัวเมืองก็เริ่มถอย กะจะไปปักหลักสู้ที่นครราชสีมา ที่มั่นสำคัญจึงอยู่ที่บริเวณสถานีหินลับ ทหารรัฐบาลไล่ตามตีขึ้นไปตามทางรถไฟ และที่จุดนี้เองที่พระยาศรีสิทธิสงครามถูกยิงด้วยอาวุธปืนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ปี 2476 อีก 5 วันต่อมาพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีจึงรายงานการปราบปรามครั้งนั้นต่อสภาผู้แทนราษฎร


ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต