วันอาทิตย์ 19 พฤษภาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

Siam in Transition: การปฎิวัติ 2475 จากสายตาต่างชาติ

ทัศนะของผู้คนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นับวันจะยิ่งแตกแยกกันเหมือนการเมืองไทยในเวลานี้
ส่วนหนึ่งเพราะแต่ละฝ่ายใช้ “แว่น” ในการมองสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ยังไม่นับเจตนาที่จะใช้เหตุการณ์นี้เพื่อจุดประสงค์สวนตัวหรือเพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละคน ทำให้มุมมองของเหตุการณ์บิดเบี้ยวไปด้วย 
 
ผู้เขียนจึงขอหยิบยืมมุมมองของฝรั่งจากหนังสือ Siam in Transition (ปี พ.ศ. 2482) เพื่อสรุปย่อเรื่องมูลเหตุของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น จากปากคำของคนนอก คนใน กลุ่มอำนาจใหม่ กลุ่มอำนาจเก่า และสื่อมวลชน โดยเรียบเรียงจาก Kenneth Perry Landon นักวิชาการชาวอเมริกัน
 
 
Landon มีพื้นเพการศึกษาด้านเทววิทยา เขาเดินทางมายังสยามในฐานะผู้เผยแพร่ศาสนาเมื่อปี พ.ศ. 2470 เขาเรียนภาษาไทยเพื่อเตรียมสอนศาสนานานถึง 3 ปี กระนั้นครั้งแรกที่เขาเทศนามีชายชราชาวสยามคนหนึ่งมาชมเขาว่ารู้สึกดีใจที่ได้ยินคำสอนใหม่ว่า “พระเยซูคริสต์ทรงถูกตรึงกางเกง” (แทนที่จะเป็นกางเขน)  
 
หลังจากนั้น Landon และภรรยาที่ครรภ์แก่รวมถึงลูกชายที่เกิดในสยามก็ตะลอนไปปักษ์ใต้เพื่อทำงานศาสนา ทำให้เขาคุ้นเคยกับคนไทยและประเทศสยามอย่างมาก แม้ภาษาไทยของเขาจะปัญหาในครั้งแรกแต่มันคงไม่มีปัญหาในการสัมภาษณ์และอ่านงานเขียนของชาวสยามบางคนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 
 
Siam in Transition (สยามในการเปลี่ยนผ่าน) เป็นหนังสือเล่มแรกของ Landon และเขาบอกว่ามันเกือบจะทำให้เขาตายเลยทีเดียว แต่มันมีคุณค่ามหาศาลต่อการทำความเข้าในสยามในเวลานั้น 
 
ต่อไปนี้คือแง่มุมการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากบุคคลฝ่ายต่างๆ 
๏ จากหนังสือการเมืองการปกครองของกรุงสยาม ของหลวงวิจิตรวาทการ จากมุมมองของผู้ก่อการ
 
1. รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้งานเจ้านายมากกว่าสามัญชน จากเดิมที่ในรัชกาลก่อนใช้งานขุนนางและสามัญชนมาก อีกทั้งเจ้านายยังเกือบจะอยู่เหนือกฎหมาย ขณะที่สามัญชนอยู่ภายใต้กฎหมายโดยเบ็ดเสร็จ
 
2. รัฐบาลไม่มีความโปร่งใส ไม่ชี้แจงต่อประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย เช่นกรณีที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเสด็จไปทรงทอดพระเนตรสถานการณ์เศรษฐกิจในต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในสยาม แต่ไม่ได้อะไรกลับมาเป็นชิ้นเป็นอัน ตรงกันข้ามมีการใช้เงินฟุ่มเฟือยไปกับการถ่ายภาพยนต์งานสังสรรค์
 
3. รัฐบาลไม่แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชน ปล่อยให้สื่อคาดเดากันเองว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ จนต้องรายงานข่าว ซุบซิบ พิมพ์หนังสือแบบกล้าๆ กลัวๆ ทั้งยังมีการเซ็นเซอร์อย่างกว้างขวาง
4. มีการปลดข้าราชการชั้นผู้น้อยพร้อมกับมีการเก็บภาษีระบบใหม่ คนตกงานหางานไม่ได้ คนมีงานก็ถูกเก็บ ภาษีเพิ่ม
 
๏ ผู้เขียนสัมภาษณ์เชื้อพระวงศ์ท่านหนึ่งให้เหตุผลว่า

1. นักเรียนในพระนครบางกลุ่มอ่านหนังสือต่างประเทศเรื่องการโค่นล้มระบอบราชาธิปไตย แล้วเข้าใจผิดๆ ว่าระบบราชาธิปไตยนั้นชั่วร้าย ประเทศอื่นๆ เขาเปลี่ยนแปลงแล้ว สยามควรจะเปลี่ยนด้วย

2. นักเรียนสยามในฝรั่งเศสและเยอรมนีใช้มุมมองของชาวยุโรปที่เห็นว่าราชาธิปไตยนั้นกดขี่ประชาชน แล้วคิดว่าสังคมสยามเป็นแบบเดียวกัน อีกทั้งพวกเขายังอยู่ในยุคที่ยุโรป “โค่นล้ม” พระมหากษัตริย์ จึงรวมกลุ่มคน ที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน

3. ข้าราชการทหารและพลเรือนที่มีหนี้สินรุงรัง อยากจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยรู้มาว่ามีนโยบายการคลังแบบขาดดุล เน้นยืมเงินก้อนใหญ่ จึงอยากจะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นกู้ยืม ทั้ง 3 กลุ่มนี้มีหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี พนมยงค์) เข้ากันได้ทุกกลุ่ม จนถือเป็นแกนหลักในการวมกลุ่มเข้าด้วยกัน

๏ ต่อไปนี้เป็นสรุปจากหนังสือพิมพ์ Bangkok Times วันที่ 8 กรกฎาคม 2475 หรือ 15 วันหลังการอภิวัฒน์

1. ไม่มีหลักฐานว่ามวลชนมีส่วนร่วมกับการยึดอำนาจ ไม่มีการเคลื่อนไหวรุนแรงจากระดับล่าง เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนผู้บริหารประเทศเท่านั้น ผู้ก่อการเข้ามาทำหน้าที่แทนเจ้านาย ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้ดู แต่ไม่มีการกวาดล้างเจ้านายอย่างรุนแรง เพราะผู้ก่อการรู้ว่าประชาชนยังรักในหลวง ภายนอกรัฐบาลใหม่เป็นประชาธิปไตย แต่ในทางปฏิบัติเป็นฟาสชิสต์แบบอ่อนๆ

2. ฝ่ายที่มีส่วนร่วมมากที่สุดคือชนชนชั้นคนทำงานรับเงินเดือน ผลจากการส่งเสริมการศึกษาทำให้คนสยามได้สร้างชนชั้นที่มีการศึกษา แต่ไม่มีการสร้างงานให้ชนชั้นนี้ กอปรกับเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกจนมีการไล่คนออกจากราชการพอดี มีข้าราชการทีมีการศึกษาคนหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่ามีเงื่อนไขให้ชนชั้นนี้เรียกร้องการมีส่วนร่วมในการปกครอง ขึ้นอยู่โอกาสเท่านั้นที่จะเอื้อหรือไม่

3. แนวคิดประชาธิปไตยเติบโตขึ้นมากจากการเข้าถึงความรู้แบบตะวันตก และจากการแพร่แนวคิดโดยแกนนำคณะราษฎรจากฝรั่งเศสและเยอรมนี คนของคณะราษฎรแพร่กระจายไปทั่วทุกกระทรวงกรม เมื่อมีสัญญาณให้เปลี่ยนความจงรักภักดีจากพระมหากษัตริย์มาเป็นคณะราษฎร จึงมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีข้อกังขา

จากหนังสือเรื่อง Siam in Transition: A Brief Survey of Cultural Trends in the Five Years Since the Revolution of 1932 โดย Kenneth Perry Landon (University of Chicago Press, 1939) 

เนื้อหา โดย กรกิจ ดิษฐาน