วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

“เศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก” (Sufficiency Economy in Global View)

สถาบันไทยพัฒน์ และสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยการสนับสนุนของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) และ บจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดบทสัมภาษณ์ “เศรษฐกิจพอเพียงในทัศนะโลก” เพื่อเผยแพร่มุมมองของนักคิด นักวิชาการ และบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวต่างประเทศ จำนวน 13 ท่าน ที่มีต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยเปรียบเทียบกับแนวคิดและมุมมองสากล

ความเป็นมา

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ทำให้ต้องหันกลับมาพิจารณาทบทวนกันใหม่ทั้งในประเด็นการลงทุนใช้จ่ายเกินตัวของภาคประชาชน ที่ก่อให้เกิดหนี้สินที่ไม่สามารถชำระคืนได้ ประเด็นความละโมบของภาคธุรกิจที่ต้องการตัวเลขรายได้อย่างไม่พอประมาณและไม่สมเหตุสมผล ก่อให้เกิดการล่มสลายของกิจการ และประเด็นความหละหลวมในการกำกับดูแลของภาครัฐ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ภูมิคุ้มกันในระบบเศรษฐกิจอ่อนแอ เกิดความเสียหายที่มีมูลค่าจำนวนมากมายมหาศาลภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันได้เข้าสู่ภาวะวิกฤตที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบศตวรรษ เริ่มต้นจากวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายน 2551 ซึ่งได้ส่งผลเชื่อมโยงถึงระบบการเงินของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ความเสียหายต่อระบบการเงินอย่างรุนแรงได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในยุโรป เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และขณะนี้หลายอุตสาหกรรมใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว กำลังประสบปัญหาทางการเงินถึงขั้นปิดโรงงานหลายแห่งและได้มีการปลดคนงานออกแล้วเป็นจำนวนหลายล้านคน ขณะที่เศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น มีความเกี่ยวเนื่องกับหลักความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเอ่ยอ้างถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกันอีกคำรบหนึ่ง แต่ในหนนี้ จะเป็นการกล่าวถึงเศรษฐกิจพอเพียงจากปากของนักคิด นักวิชาการ และบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวต่างประเทศ ที่ได้แสดงทัศนะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไว้ในโอกาสต่างๆ ต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมอยู่ในที่เดียวกันเป็นครั้งแรก

ปฐมบท

คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไม่มีในตำรา ไม่เคยมีระบบเศรษฐกิจพอเพียง มีอย่างอื่นแต่ไม่ใช้คำนี้ 1

แนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงปรากฏอยู่ในการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาช้านาน ในรูปของหลักการสร้างความ “พออยู่-พอกิน” และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวคิดนี้เพื่อใช้ปรับทิศทางการพัฒนาประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยมีข้อความที่สำคัญตอนหนึ่งว่า

การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด 2

พระบรมราโชวาทองค์นี้ชี้ให้เห็นว่า แนวทางการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีความสอดคล้องกับสภาวะของประเทศและของประชาชน อาจทำให้เกิดปัญหาได้ จึงทรงเน้นการพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ในเบื้องต้นก่อน เมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงค่อยสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าพระบรมราโชวาทนี้ แม้พระองค์ได้ทรงพระราชทานไว้นานกว่า 30 ปีแล้วก็ตาม ยังสามารถนำมาเป็นข้อเตือนสติที่ดีเลิศแก่ผู้บริหารบ้านเมืองในเวลานี้ ควรที่จะได้คิดพิจารณาอย่างละเอียดถ่องแท้และหนักแน่น ให้เห็นถึงหลักการและวิธีการอันควรที่จะปฏิบัติในเบื้องหน้า เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของชาติและการครองชีพของประชาชนดำเนินไปด้วยดี ไม่ให้เกิดความยุ่งยากล้มเหลวในที่สุด

ภายหลังจากที่คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เริ่มเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยที่ผู้พูดแต่ละคนจะตีความเอาเอง ทำให้ความหมายเศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละคน อาจจะแตกต่างกันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขบทความเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่นๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานไว้ในวโรกาสต่างๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2542 โดยมีใจความว่า

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

***

1 พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2541.
2 พระบรมราโชวาทเนื่องในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 18 กรกฎาคม 2517.
***
——————————————

 

กรอบแนวคิด

เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤต เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา

คุณลักษณะ

เศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติตนบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนความพอเพียงที่ประกอบกันขึ้นตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ พร้อมๆ กัน ดังนี้

(1) ความพอประมาณ หมายถึง ความเหมาะสมของการดำเนินงาน ทั้งในแง่ของขนาดที่ไม่เล็กเกินไปหรือไม่ใหญ่จนเกินตัว แต่เป็นไปตามอัตภาพและสภาพแวดล้อม และในแง่ของจังหวะเวลาที่ไม่เร็วเกินไปหรือไม่ช้าจนเกินไป แต่รู้จักทำเป็นขั้นตอนเพื่อให้การดำเนินงานมีความก้าวหน้า โดยที่ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน

(2) ความมีเหตุผล หมายถึง การพิจารณาที่จะดำเนินงานใดๆ ด้วยความถี่ถ้วนรอบคอบ ไม่ย่อท้อ ไร้อคติ คำนึงถึงเหตุและปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้องดีงาม เกิดประสิทธิผล เกิดประโยชน์และความสุข โดยปราศจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

(3) การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การจัดองค์ประกอบของการดำเนินงาน ให้มีสภาพพร้อมรองรับต่อผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในได้เป็นอย่างดี

เงื่อนไข

 

การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือเงื่อนไขความรู้ หมายถึง เครื่องอาศัยของการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ประกอบด้วย ความรอบรู้ คือ ความรู้ลึกในงานที่ทำและความรู้กว้างในสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับงานที่ทำ ความระลึกรู้ (สติ) คือ การยั้งคิดพิจารณาและรู้ทันสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะกระทำการใดๆ และความรู้ชัด (ปัญญา) คือ การเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างกระจ่างชัด ถูกต้องตามเหตุตามผลและตามจริง

เงื่อนไขคุณธรรม หมายถึง เครื่องอาศัยของการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปอย่างดีงาม ประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต คือ ความประพฤติชอบ มีการพูดและการกระทำซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ต่อตนเอง และต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง มีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง และไม่เอารัดเอาเปรียบ ความอดทน มีความเพียร คือ ความบากบั่น ความกล้าแข็ง มีความหนักแน่น ไม่ท้อถอย ทำให้การดำเนินงานรุดหน้าเรื่อยไปจนประสบผลสำเร็จ และความรอบคอบระมัดระวัง คือ การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในทุกแง่ทุกมุมก่อนที่จะดำเนินงาน เพื่อมิให้เกิดความเผอเรอและพลั้งพลาด

 

ระดับของเศรษฐกิจพอเพียง

 

จนถึงวันนี้ ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง ก็ยังเข้าใจว่า พอเพียง คือ การพึ่งตนเอง ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Self-sufficiency แต่คำว่า พอเพียง ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตรงกับคำว่า Sufficiency Economy นั้น มีความหมายกว้างกว่าแค่การพึ่งตนเองได้ เศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัดและการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงในระดับที่มีการรวมตัวกัน เพื่อร่วมกันดำเนินงานในเรื่องต่างๆ มีการสร้างเครือข่ายและการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ โดยประสานความร่วมมือกับภายนอก เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่แค่เพียงเรื่องของการพึ่งตนเองโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร และมิใช่แค่เรื่องของการประหยัด แต่ยังครอบคลุมถึงการข้องเกี่ยวกับผู้อื่น การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แท้จริงแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงสามารถจำแนกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้(1) เศรษฐกิจพอเพียงระดับที่หนึ่ง เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ที่เน้นความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว คือ การที่สมาชิกในครอบครัวมีความเป็นอยู่ในลักษณะที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น ความต้องการในปัจจัยสี่ของตนเองและครอบครัวได้ มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีกลมเกลียว และมีความพอเพียงในการดําเนินชีวิตด้วยการประหยัดและการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จําเป็น จนสามารถดํารงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขทั้งทางกายและใจ

(2) เศรษฐกิจพอเพียงระดับที่สอง เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ที่เน้นความพอเพียงในระดับกลุ่มหรือองค์กร คือ เมื่อบุคคล/ครอบครัว มีความพอเพียงในระดับที่หนึ่งแล้ว ก็จะรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อร่วมกันดำเนินงานในด้านต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยราชการ มูลนิธิ และเอกชน

(3) เศรษฐกิจพอเพียงระดับที่สาม เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ที่เน้นความพอเพียงในระดับเครือข่าย คือ เมื่อกลุ่มหรือองค์กร มีความพอเพียงในระดับที่สองแล้ว ก็จะร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อการสร้างเครือข่าย มีการติดต่อร่วมมือกับธนาคารและบริษัทต่างๆ ทั้งในด้านการลงทุน การผลิต การตลาด การจำหน่าย และการบริหารจัดการ เพื่อการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งในด้านสวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา ให้สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย

ระดับของเศรษฐกิจพอเพียง
การจำแนกเศรษฐกิจพอเพียงใน 3 ระดับข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่เริ่มต้นจากหลักของการพึ่งตนเอง โดยเปลี่ยนจากการพึ่งพาตนเองไม่ได้หรือต้องคอยอาศัยผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา (Dependent) เป็นการพัฒนาตนเองให้มีความเข้มแข็ง เป็นอิสระ (Independent) แล้วจึงค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นการแลกเปลี่ยน การรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน จนนำไปสู่การพึ่งพิงอิงกัน (Inter-dependent) สงเคราะห์เกื้อกูล ร่วมมือกัน และประสานกับโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

จุดมุ่งหมาย

 

จากการสังเคราะห์จุดหมายในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป พบว่า มีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน ในส่วนที่หนึ่ง ปรากฏอยู่ 2 แห่งซึ่งมีความหมายไปในทิศทางเดียวกัน คือ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ และเพื่อให้พร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี สำหรับในส่วนที่สอง คือ เพื่อให้สมดุล (ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม)จุดหมายส่วนที่หนึ่งในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่า “เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์” กับ “เพื่อให้พร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลง” นั้น หากพินิจพิจารณาให้ถ่องแท้ จะพบความเกี่ยวโยงสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยในแห่งแรกเป็นการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายในเพื่อให้ทันและเข้ากับสิ่งภายนอก ในแห่งที่สองเป็นการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งภายในได้รับความกระทบกระเทือนเสียหาย

จุดหมายของเศรษฐกิจพอเพียง ตามการสังเคราะห์ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบด้วย คือ ความสมดุล การพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และการก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั้น มิได้ปฏิเสธกระแสโลกาภิวัตน์ ตรงกันข้ามการดำเนินตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความมุ่งหมายเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์อีกด้วย

คุณลักษณะ เงื่อนไข และจุดหมายในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า โลกาภิวัตน์นั้น ก่อให้เกิดผลกระทบได้ทั้งในแง่ดีและในแง่ร้าย คือ มิได้ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในแง่เดียว แต่ในอีกแง่หนึ่งยังทำให้เกิดความเสื่อมถอยตกต่ำทั้งทางด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรรมจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงมุ่งเน้นให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบด้าน มีความรอบคอบระมัดระวังในการดำเนินงาน โดยเลือกรับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบในแง่ดี ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ไม่ดีและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ เพื่อจำกัดผลกระทบให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อความเสียหายหรือไม่เป็นอันตรายร้ายแรง ทำให้กิจการยังคงดำเนินต่อไปได้

 

 

“Sufficiency Economy comes in when we wonder what kind of objectives we should follow. What should we expect from an economy, expect from technology?”

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับทุกประเทศในเวลานี้
ศ.ดร.วูล์ฟกัง ซัคส์ (Wolfgang Sachs)
ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันวุพเพิลทอล เพื่อสภาวะอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ประเทศเยอรมนี

“Thailand is really in a coherent way, articulating this concept of Sufficiency Economy in each and every walk of life. I consider this to be the basic way to bring ideas and behaviours to the people of Thailand.”

สังคมต้องมีทางเลือกใหม่ สำหรับเมืองไทย คือเศรษฐกิจพอเพียง
ศ.ดร.ฟรานซ์ ธีโอกอตวอลล์ (Franz-Theo Gottwald)
ผู้อำนวยการมูลนิธิชไวเฟิร์ท เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเทศเยอรมนี

“Sufficient does not mean that there is no use anymore, but you have to have enough of that Sufficiency to get by to give you, a decent living. That is the way I would interpret it.”

ความพอเพียง ไม่ได้หมายถึงไม่ต้องการอีกแล้ว แต่ต้องมีพอที่จะอยู่ได้ พอที่จะมีชีวิตที่ดี
ศ.ดร.อมาตยา เซน (Amartya Sen)
ศาสตราจารย์ชาวอินเดีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 1998

 

“Thailand would be able to inspire a new world order, for an economic order, for a new social order, and the more sustainable way of life- not only for the Thai people, but for the world at large.”

ประเทศไทยจะสามารถสร้างโลกใบใหม่ จากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ฯพณฯ จิกมี ทินเลย์ (Jigme Y. Thinley)
นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศภูฏาน

“I would like to see these ideas become accessible to the people outside Thailand- because they are relevant for the people who happen not to be Thai, as they are for the Thai people. The basic wisdom is just as applicable.”

เศรษฐศาสตร์สีเขียว-เศรษฐกิจพอเพียง สองแนวคิด ยึดหลักไม่เบียดเบียนโลก
ศ.ดร.ปีเตอร์ วอรร์ (Peter George Warr)
ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

“I think the common similar between Thailand and Bhutan is the wisdom of the Majesties, in the sense that they care for the people of the country, and therefore they really care on the long-term future of the country.”

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหนทางในการรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของประเทศ
ดร.ดอจี คินเล่ย์ (Dorjee Kinley)
นักเศรษฐศาสตร์ชาวภูฏาน ประจำองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ

“Sustainable development and growth should not happen in such a way that it destroys society…so it brings a lot of this way of ideas on care, wisdom, prudence, judgment, participations…it brings a lot of this way of thinking—and I suppose Sufficiency Economy does the same.”

โลกาภิวัตน์ ต้องไม่ทำลายสังคม
ดร.ทาริก บานุรี (Tariq Banuri)
ผู้อำนวยการหลักสูตรความยั่งยืนแห่งอนาคต สถาบันสิ่งแวดล้อมสต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดน

“It could be nice if in the international organized capitalist system could have the solidarity, sufficiency and other kind of organized Buddhist economy working together”

จากเศรษฐกิจสมานฉันท์ ถึงเศรษฐกิจพอเพียง
คุณเฟอร์นันโด ไคลแมน (Fernando Kleiman)
หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการเศรษฐกิจสมานฉันท์แห่งชาติ กระทรวงแรงงานและการจัดหางาน ประเทศบราซิล

“We have to get people thinking about system, one of the ways of doing that is by enabling them to get engaged with their own problems in their own society.”

เศรษฐกิจพอเพียง หาใช่แนวทางที่ทำให้ถอยหลัง หากแต่นำทางให้โลกได้เห็นอนาคต
ศ.ปีเตอร์ บูทรอยด์ (Peter Boothroyd)
ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา

“We see that the sufficiency economy is a concept that is an alternative strategy. That could be fit for them to face the current situation.”

ติมอร์-เลสเต เชื่อมั่น เศรษฐกิจพอเพียงสกัดบริโภคนิยม
ดร.ฟาสติโน คอร์โดโซ (Faustino Cardoso)
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติติมอร์-เลสเต (ติมอร์ตะวันออก)

“One important thing that we can notice from them is the change in mind, and by working together we can do something better, if we work along. And I guess that is one of the principles of the sufficiency economy.”

เศรษฐกิจพอเพียงเริ่มต้นจากการพึ่งพาตนเอง
คุณโยฮันเนส อัสโบโก้ (Yohanes Usboko)
อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติติมอร์-เลสเต (ติมอร์ตะวันออก)

 

“There is a moral dimension to economics, which western economists have forgotten about.”

เศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่บนเงื่อนไขของคุณธรรม
ศ.ปีเตอร์ คัลกิ้น (Peter H. Calkins)
อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรและวิทยาการผู้บริโภค มหาวิทยาลัยลาวาล ประเทศแคนาดา

“If people feel that they have enough, people would think about giving something to others.”

การเข้าถึงเศรษฐกิจพอเพียง ต้องเกิดจากภายใน
ศ.ดร.วิมาลา วีระรัควาน (Vimala Veeraraghavan)
ผู้อำนวยการสถาบันอมิตี้แห่งพฤติกรรมสุขภาพและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ประเทศอินเดีย

 

เศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ

ปัญหาสำคัญของความพยายามที่จะนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ คือ การขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คนส่วนใหญ่มักนึกว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องเกษตรกรรม เป็นเรื่องของคนชนบท และเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนเมือง จึงไม่ใช่เรื่องที่ตนเองต้องทำความเข้าใจมากนัก ส่วนผู้ที่อยู่ในภาคธุรกิจส่วนใหญ่ ก็มีความสงสัยว่า ปรัชญาของการดำเนินธุรกิจคือการมุ่งหวังกำไรสูงสุด แล้วเศรษฐกิจพอเพียงจะนำมาใช้กับธุรกิจได้จริงหรือไม่

เศรษฐกิจพอเพียง มิได้หมายถึงเศรษฐกิจระบบปิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่ค้าขาย ไม่ส่งออก ไม่ผลิตเพื่อคนอื่น ไม่ได้สนับสนุนการปิดประเทศ หรือหันหลังให้กับกระแสโลกาภิวัตน์ แต่เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันขณะที่ยังมีความไม่พร้อมหรือยังไม่แข็งแรง พร้อมๆ กับการไม่ประมาทและไม่โลภมากเกินไป จนเมื่อแข็งแรงพอ ก็สามารถเข้าสู่การแข่งขันในแบบที่ไม่ใช่มุ่งแพ้ชนะอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ คือเพื่อเสริมสมรรถภาพและความเข้มแข็ง ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจพอเพียงก็มิใช่เศรษฐกิจที่ส่งเสริมลัทธิบริโภคนิยมอย่างไร้ขอบเขต แต่ให้พิจารณาและใช้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์อย่างชาญฉลาด รู้เท่าทัน สามารถเลือกรับเฉพาะสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ โดยไม่ขัดกับหลักการของการแสวงหากำไร แต่การได้มาซึ่งกำไรของธุรกิจ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น หรือแสวงหาผลกำไรจนเกินควรจากการเบียดเบียนประโยชน์ของสังคมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะก่อให้เกิดวิกฤตตามมา ตลอดจนให้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรในธุรกิจอย่างประหยัดและอย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยังมิได้ปฏิเสธการเป็นหนี้ หรือการกู้ยืมเงินในภาคธุรกิจ แต่เน้นการบริหารความเสี่ยงต่ำ หมายความว่า ถึงแม้จะกู้ยืมเงินมาลงทุนก็เพื่อดำเนินกิจการชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากนัก สามารถจัดการได้แม้ในภาวะที่โอกาสจะเกิดขึ้นจริงมีไม่มากนักก็ตาม

หลักความพอประมาณทางธุรกิจ
ความพอเพียงตามนัยของเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี โดยความหมายของความพอประมาณนั้น หมายถึง ความเหมาะสมของการดำเนินงาน ทั้งในแง่ของขนาดที่ไม่เล็กเกินไปหรือไม่ใหญ่จนเกินตัว แต่เป็นไปตามอัตภาพและสภาพแวดล้อม และในแง่ของจังหวะเวลาที่ไม่เร็วเกินไปหรือไม่ช้าจนเกินไป แต่รู้จักทำเป็นขั้นตอนเพื่อให้การดำเนินงานมีความก้าวหน้า โดยที่ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน โดยในที่นี้ จะพิจารณาธุรกิจในฐานะที่เป็นหน่วยการผลิตในทางเศรษฐศาสตร์

การดำเนินธุรกิจที่แสวงหาเพียงกำไรสูงสุด (Maximize Profit) ในทางบัญชี หรือที่เรียกว่ากำไรทางธุรกิจ (Business Profit) นั้น มิใช่เป้าหมายที่ดีที่สุดเสมอไป เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่มิได้คำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาส โดยเฉพาะต้นทุนทางการเงินในส่วนของเจ้าของ ด้วยเหตุนี้ การดำเนินธุรกิจจึงควรคำนึงถึงกำไรทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Profit) อันเป็นส่วนเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรอย่างแท้จริง มากกว่าการแสวงหาเพียงกำไรสูงสุดในทางบัญชี


ความพอประมาณกับกำไรทางเศรษฐศาสตร์
ธุรกิจที่สามารถดำเนินกิจการจนมีกำไรคุ้มกับค่าเสียโอกาส หรือเรียกว่า กำไรปกติ (Normal Profit) ในทางเศรษฐศาสตร์มีโอกาสเกิดขึ้น 2 ช่วง โดยช่วงแรกเป็นภาวะที่ตัดสินว่าธุรกิจนั้นสามารถดำรงอยู่ได้ ยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ พัฒนาบ่มเพาะกิจการจนสามารถพึ่งตนเองได้ ในขณะที่ยังมีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตเพื่อสร้างกำไรต่อได้อีก กระทั่งเมื่อธุรกิจขยายกำลังการผลิตหรือการบริการมากจนเข้าสู่ช่วงที่สองซึ่งเป็นภาวะที่คุ้มเพียงค่าเสียโอกาสในทางเศรษฐศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง แม้ตัวเลขกำไรทางธุรกิจหรือกำไรในทางบัญชีจะยังเพิ่มขึ้น แต่กำไรทางเศรษฐศาสตร์มีค่าเท่ากับศูนย์ ตามกฎว่าด้วยผลตอบแทนที่ลดน้อยถอยลง (Law of Diminishing Returns) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ธุรกิจหมดศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตเพื่อสร้างกำไรต่อได้อีก ภายใต้ปัจจัยหรือกำลังการผลิตหรือการบริการเดิมที่มีอยู่

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจจึงควรดำเนินกิจกรรมการผลิตหรือการบริการที่ไม่น้อยเกินไป จนต่ำกว่าจุดกำไรปกติจุดที่หนึ่ง เพื่อให้กิจการสามารถอยู่รอดได้ และไม่มากเกินไปจนสูงกว่าจุดกำไรปกติจุดที่สอง เพื่อไม่ให้กิจการต้องประสบภาวะเสี่ยงหรือขาดภูมิคุ้มกันในธุรกิจ โดยจุดที่เหมาะสมที่สุด คือ บริเวณประมาณกึ่งกลางของจุดกำไรปกติทั้งสอง ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณที่ก่อให้เกิดกำไรทางเศรษฐศาสตร์ โดยที่ธุรกิจไม่จำเป็นต้องลดศักยภาพหรือออมความสามารถในการผลิตหรือการบริการ หรือเพิ่มศักยภาพหรือขยายกำลังในการผลิตหรือการบริการ จนทำให้กำไรทางเศรษฐศาสตร์ลดน้อยถอยลงไปสู่จุดกำไรปกติ

นอกจากการสร้างกำไรทางเศรษฐศาสตร์โดยคำนึงถึงศักยภาพที่ธุรกิจสามารถได้ประโยชน์เต็มตามความสามารถที่พึงได้แล้ว ตามนัยของความพอประมาณในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ธุรกิจยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตหรือการบริการที่ต้องไม่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนทั้งต่อผู้มีส่วนได้เสียในกิจการและผู้มีส่วนได้เสียนอกกิจการกลุ่มต่างๆ ตัวอย่างเช่น การหลีกเลี่ยงการใช้แรงงานมนุษย์เสมือนชิ้นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรในระบบโรงงานที่ขาดซึ่งคุณภาพชีวิต การละเว้นการผลิตหรือการบริการที่ไม่มีการจัดการของเสียจนสร้างมลภาวะให้แก่ระบบนิเวศ การดูแลกิจการมิให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันด้วยวิธีการทุ่มตลาดหรือใช้วิธีผูกขาด เป็นต้น

การคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมทางธุรกิจอย่างรอบคอบในตัวกิจการเอง และระหว่างตัวกิจการกับหน่วยอื่นๆ ในสังคม มีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับหลักความมีเหตุผลในธุรกิจ ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญอีกด้านหนึ่งในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

หลักความมีเหตุผลในธุรกิจ
ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกเหนือจากคุณลักษณะด้านความพอประมาณ ยังมีคุณลักษณะด้านความมีเหตุผล ที่หมายถึง การพิจารณาที่จะดำเนินงานใดๆ ด้วยความถี่ถ้วนรอบคอบ ไม่ย่อท้อ ไร้อคติ คำนึงถึงเหตุและปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้องดีงาม เกิดประสิทธิผล เกิดประโยชน์และความสุข โดยปราศจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นนั้น สามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับการดำเนินธุรกิจได้อย่างไร

เมื่อพิจารณาหน่วยธุรกิจหนึ่งๆ ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นหน่วยการผลิตหรือหน่วยการบริการ ทำหน้าที่แปลงปัจจัยการผลิตหรือการบริการให้กลายเป็นผลผลิต เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยการบริโภคที่เป็นครัวเรือนและผู้บริโภคลำดับสุดท้าย หรือไปยังหน่วยการผลิตอื่นตามสายอุปทาน (Supply Chain) การพิจารณาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลที่เกิดขึ้นจากหน่วยการผลิต จะแยกเป็น 2 ระดับ คือ ความมีเหตุผลในหน่วยการผลิตหรือภายในตัวกิจการเอง กับความมีเหตุผลระหว่างตัวกิจการกับหน่วยอื่นๆ ในสังคม

การพิจารณาผลลัพธ์ทางธุรกิจตามวิถีของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ปฏิเสธไม่ได้ว่า จำเป็นต้องวัดผลประกอบการด้วยตัวเลขทางการเงิน เครื่องมือการบริหารจัดการทางธุรกิจส่วนใหญ่ จึงเน้นหน่วยวัดในรูปตัวเงิน เช่น ยอดขาย กำไรสุทธิ ฯลฯ ประกอบกับตัวเลขทางการเงินดังกล่าวเป็นหน่วยวัดที่สามารถนับได้ง่าย เมื่อเทียบกับหน่วยวัดอื่น เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า หรือประสิทธิภาพในการให้บริการ เป็นต้น แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีในระดับหนึ่งว่า ธุรกิจในปัจจุบันได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีตหลายครั้งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การใช้ตัววัดทางด้านการเงินเป็นหลักเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถรอดพ้นจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาหรือวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคม แม้ว่าหลายกิจการได้แสดงตัวเลขผลประกอบการทางการเงินที่ดีเลิศเพียงใดก็ตาม

จากเหตุผลดังกล่าว ธุรกิจที่ต้องการค้นหาแนวทางในการเติบโตอย่างยั่งยืน จึงพยายามให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่นในธุรกิจ นอกเหนือจากตัวชี้วัดทางการเงิน ยกตัวอย่างเช่น การให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดด้านลูกค้า เนื่องจากลูกค้าเป็นผู้ที่สร้างรายได้และผลกำไรทางธุรกิจให้แก่กิจการโดยตรง การให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดด้านกระบวนการทางธุรกิจ เนื่องจากหากกิจการไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างทันท่วงที ก็ไม่สามารถรักษายอดรายได้หรือกำไรที่เกิดขึ้นจากลูกค้าของธุรกิจได้ การให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดด้านพนักงาน ที่เป็นทรัพยากรสำคัญขององค์กร ซึ่งหากไม่มีการพัฒนาทักษะของพนักงาน การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน โอกาสที่กิจการจะขยายตัวและเติบโตก็เกิดขึ้นได้ยาก

การที่ธุรกิจให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดในมุมมองที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองต่างๆ ในเชิงเหตุและผล (Cause and Effect) ตัวอย่างเช่น กำไรของกิจการที่ผู้ถือหุ้นพึงได้รับ (มุมมองด้านผู้ถือหุ้น) จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อองค์กรธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือมีต้นทุนที่ลดลง (มุมมองด้านการเงิน) และการที่องค์กรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ต่อเมื่อองค์กรสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดโดยการนำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ (มุมมองด้านผลิตภัณฑ์) ซึ่งเป็นที่ต้องการของลูกค้าหรือทำให้ลูกค้าพึงพอใจ (มุมมองด้านลูกค้า) และการที่องค์กรจะสามารถนำเสนอสินค้าและบริการตามที่ลูกค้าต้องการได้ องค์กรจะต้องมีกระบวนการในการดำเนินงานที่เหมาะสมในการนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ (มุมมองด้านกระบวนการทางธุรกิจ) จากพนักงานที่มีทักษะและความสามารถ มีขวัญและกำลังใจในการทำงานที่ดี (มุมมองด้านพนักงาน) และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยสนับสนุนให้องค์กรมีกระบวนการสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้าได้ (มุมมองด้านระบบงานสนับสนุน) โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคมโดยรวม (มุมมองด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม) เป็นต้น

มุมมองต่างๆ ที่นำเสนอข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงเหตุปัจจัยแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์ส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ ในแต่ละมุมมอง องค์กรธุรกิจหนึ่งๆ อาจจำแนกมุมมองและการจัดลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการ แต่จุดร่วมหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ธุรกิจต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองในแบบองค์รวมที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ไม่สามารถบริหารจัดการในแบบแยกเป็นส่วนๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกันได้

ในระดับของความมีเหตุผลในตัวกิจการเอง จะเกี่ยวข้องกับ การจัดการความสัมพันธ์ของมุมมองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกิจการ อาทิ ด้านผู้ถือหุ้น ด้านการเงิน ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านกระบวนการภายในธุรกิจ ด้านพนักงาน ด้านระบบงานสนับสนุน เพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโต (Growth) ของกิจการ โดยอาจเทียบได้ว่าเป็นการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นฐาน

ในระดับของความมีเหตุผลระหว่างตัวกิจการกับหน่วยอื่นๆ ในสังคมทั้งในระดับใกล้ คือ การบริหารความสัมพันธ์ต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับองค์กรโดยตรง ได้แก่ ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ และในระดับไกล คือ การบริหารความสัมพันธ์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยอ้อม ได้แก่ คู่แข่งขันทางธุรกิจ ประชาชนทั่วไป รวมไปถึง การจัดการด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ของกิจการ โดยอาจเทียบได้ว่าเป็นการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในระดับก้าวหน้า

สภาพที่ปรากฏของกิจการที่มีเป้าหมายเน้นกำไรในระยะสั้น คำนึงถึงประโยชน์แต่ผู้ถือหุ้น ขายผลิตภัณฑ์ที่แม้จะมีคุณภาพตามระดับของความมีเหตุผลภายในตัวกิจการ แต่หากมิได้คำนึงถึงสภาวะตลาด ความต้องการของลูกค้า ความเป็นธรรมกับคู่ค้า หรือการยอมรับของสังคมตามระดับของความมีเหตุผลระหว่างตัวกิจการกับหน่วยอื่นๆ ในสังคม กิจการนั้นอาจสามารถเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่ง แต่จะไม่มีความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว

ในความเป็นจริง กิจการต้องพยายามสร้างความสมดุลของประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม โดยใช้หลักความมีเหตุผลในทั้งสองระดับผสมผสานกันไป มิอาจเน้นที่ระดับใดระดับหนึ่งเพียงระดับเดียว ในขณะเดียวกันกิจการก็ต้องมีการบริหารจัดการองค์กรให้เกิดความสมดุลของประโยชน์ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อการพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับคุณลักษณะด้านการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในธุรกิจ


การมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เป็นคุณลักษณะที่สามในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกเหนือจากคุณลักษณะด้านความพอประมาณและด้านความมีเหตุผล การมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การจัดองค์ประกอบของการดำเนินงาน ให้มีสภาพพร้อมรองรับต่อผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในได้เป็นอย่างดี

จากหลักความมีเหตุผลในธุรกิจที่คำนึงถึงการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองต่างๆ ในแบบองค์รวมที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันนั้น สมควรที่จะพิจารณาต่อไปว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละมุมมองนั้น มีกิจกรรมใดที่เป็นเหตุและปรากฏการณ์ใดที่เป็นผล ตัวอย่างเช่น ระดับความยั่งยืนของกิจการหนึ่งๆ จะปรากฏเป็นผลให้เห็นได้ อาจต้องรอให้เวลาผ่านพ้นไปแล้วระยะหนึ่ง ในขณะที่กิจกรรมหรือตัวบ่งชี้ที่เป็นเหตุของความยั่งยืน เช่น การผลิตที่เหมาะสม การลงทุนที่ไม่เกินตัว การใช้เทคโนโลยีที่ประหยัด การไม่เน้นกำไรระยะสั้น เป็นกิจกรรมหรือวัตถุประสงค์ที่กำลังดำเนินอยู่ในกิจการ ทั้งนี้ การพิจารณาตัวบ่งชี้ที่เป็นเหตุ จะทำให้ทราบถึงผลการดำเนินงานในปัจจุบันและปัจจัยที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานในระยะยาว ส่วนการพิจารณาตัวบ่งชี้ที่เป็นผล จะทำให้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตหรือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว

ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาแยกแยะความสัมพันธ์ของตัวบ่งชี้ทั้งที่เป็นเหตุและเป็นผล จะทำให้สามารถคาดการณ์ได้ถึงโอกาสและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และส่งผลให้กิจการสามารถวางแผนรับมือกับผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ด้วยการประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนภายในองค์กรเป็นข้อพิจารณาประกอบ ถือเป็นการสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดีในธุรกิจนั่นเอง

ผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกซึ่งควบคุมไม่ได้ เช่น ในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ความผันผวนของตลาด ฯลฯ ในด้านสังคมหรือรัฐ ได้แก่ นโยบายสาธารณะต่อธุรกิจที่ดำเนินอยู่ (หรือที่ธุรกิจมักเรียกว่า License to Operate) ฯลฯ ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ภัยธรรมชาติ พลังงานในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิต ฯลฯ และในด้านวัฒนธรรม ได้แก่ วิถีชีวิตของแต่ละภูมิสังคม ฯลฯ ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในซึ่งสามารถควบคุมและแก้ไขได้ อาทิ ปัจจัยด้านทุน ด้านเทคโนโลยี และด้านการบริหารจัดการ เป็นต้น

โดยธรรมชาติองค์กรจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายใน เช่น การโยกย้ายผู้บริหาร การเปลี่ยนผู้ถือหุ้น การปรับโครงสร้างทางธุรกิจ จะส่งผลต่อความก้าวหน้าของกิจการ ความได้เปรียบในการแข่งขัน ตลอดจนความสามารถในการปรับตัวให้ทันและเข้ากับสภาวการณ์ภายนอก การสร้างภูมิคุ้มกันในส่วนแรกนี้ จึงเป็นการจัดองค์ประกอบของการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายในเพื่อให้ทันและเข้ากับสิ่งภายนอก ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น การเปลี่ยนรัฐบาล การเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจ การเกิดขึ้นของตลาดใหม่ จะส่งผลให้เกิดทั้งโอกาสและความเสี่ยงหรือความผันผวนทางธุรกิจ การสร้างภูมิคุ้มกันในส่วนที่สองนี้ จึงเป็นการจัดองค์ประกอบของการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งภายในได้รับความกระทบกระเทือนเสียหาย

การสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี จึงสามารถแบ่งได้เป็นสองกรณี คือ การสร้างจากภายในและการสร้างที่ภายนอก การสร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน ได้แก่ การพิจารณาและจัดองค์ประกอบต่างๆ ในองค์กรให้เอื้อต่อการปรับตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เช่น โรงงานไม่ควรสร้างภาระหนี้มากจนเกินทุน เมื่อเวลาที่เจ้าหนี้ทวงถาม กิจการก็สามารถจะชำระหนี้ได้ ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในด้านการเงิน หรือโรงงานควรเลือกใช้เทคโนโลยีที่สามารถบริหารจัดการได้เอง เมื่อเวลาที่มีปัญหากับเทคโนโลยี กิจการก็สามารถจะซ่อมแซมแก้ไขได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเจ้าของเทคโนโลยีทั้งหมด ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในด้านเทคโนโลยี หรือการที่กิจการมีโครงการถ่ายทอดทักษะและความรู้เกี่ยวกับงานที่ทำ ฝึกอบรมให้พนักงานอยู่อย่างสม่ำเสมอ และเปิดโอกาสให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมถึงการให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม กิจการก็จะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องมั่นคง ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในด้านทรัพยากรบุคคล

การสร้างภูมิคุ้มกันที่ภายนอก ได้แก่ การพิจารณาและจัดองค์ประกอบที่อยู่รายรอบองค์กรให้เอื้อต่อการดำเนินงาน เช่น การส่งเสริมและสนับสนุนคู่ค้าเพื่อให้สามารถจัดส่งวัตถุดิบและปัจจัยในการผลิตหรือการบริการที่มีคุณภาพให้แก่กิจการด้วยการให้ความรู้และทรัพยากรที่จำเป็นต่างๆ เพราะหากกิจการได้วัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพเข้าโรงงาน ผลผลิตแปรรูปที่ออกจากโรงงานก็จะไม่มีคุณภาพตามไปด้วย การช่วยเหลือผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแบบหนึ่งที่มักถูกละเลยหรือไม่ได้ให้ความสำคัญ กิจการส่วนใหญ่มัวแต่คิดถึงตนเอง คิดว่าทำแล้วจะได้อะไร กำไรปีนี้จะได้เท่าไร ค่าใช้จ่ายส่วนเกินตรงไหนที่ตัดออกได้อีก โดยที่ไม่ได้คิดถึงการให้หรือการช่วยเหลือผู้อื่นก่อน ในทางธรรมชาตินั้น การกระทำใดๆ ย่อมต้องได้รับการตอบสนองเป็นผลแห่งการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ ซึ่งในกรณีนี้ คือ “ได้ให้” ก็จะ “ได้รับ” ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีความเฉียบขาดอยู่ในตัวเอง ฉะนั้น การที่กิจการเอาใจใส่ดูแลชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือคู่ค้าของตนเอง ผลแห่งการกระทำนี้ก็จะหวนกลับมาจุนเจือกิจการในภายหลัง ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กร

กระบวนการปรับตัว (Adaptive Process) ในธุรกิจเป็นสิ่งจำเป็นต่อการตอบสนองภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ เห็นได้จากวัฏจักรของธุรกิจหรือรอบอายุของผลิตภัณฑ์โดยส่วนใหญ่ มีคาบเวลาที่สั้นลง ในขณะที่มีความผันผวนเพิ่มขึ้น ทำให้ความยืดหยุ่นและการปรับตัวอย่างรวดเร็วได้กลายเป็นคุณลักษณะที่กิจการต้องสร้างให้เกิดขึ้น สอดคล้องกับคุณลักษณะด้านการมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ประโยชน์ในระยะสั้นของกิจการ อาจมาจากการดำเนินธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์ด้านราคา เพื่อการกระตุ้นยอดขายหรือการเพิ่มผลกำไรเฉพาะหน้า ใช้วิธีการรณรงค์เรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน เพื่อการลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่สามารถประหยัดได้ตามวาระที่จำเป็น เช่นเมื่อเกิดวิกฤตด้านพลังงาน เป็นต้น

ประโยชน์ในระยะปานกลางของกิจการ อาจมาจากการดำเนินธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์ด้านลูกค้า เป็นการปลูกสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเป้าหมายและลูกค้า เพื่อหวังผลในการปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายให้กลายมาเป็นลูกค้าใหม่ของกิจการ ดูแลรักษาลูกค้าเดิมของกิจการให้คงอยู่ เพื่อหวังผลในการเพิ่มปริมาณการขาย (Up-Selling) หรือขยายสายผลิตภัณฑ์ (Cross-Selling) จำหน่ายให้แก่ลูกค้ารายเดิม และแม้กระทั่งการเปลี่ยนลูกค้าในอดีตที่ยุติการซื้อผลิตภัณฑ์ไปแล้ว ให้กลับมาเป็นลูกค้าของกิจการดังเดิม

ประโยชน์ในระยะยาวของกิจการ อาจมาจากการดำเนินธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์ด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อการสร้างนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ ทั้งการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการแก้ไขและปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม ให้มีคุณสมบัติเพิ่มขึ้น คุณภาพดีขึ้น คุณประโยชน์สูงขึ้น และแม้แต่การซื้อทรัพย์สินทางปัญญาหรือการซื้อกิจการอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมที่จะสร้างคุณค่าให้แก่กิจการในระยะยาว

จากที่กล่าวแล้วว่า องค์กรธุรกิจสามารถประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ในสองระดับ คือ เศรษฐกิจพอเพียงระดับพื้นฐาน และเศรษฐกิจพอเพียงระดับก้าวหน้า ซึ่งมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กรและภายนอกองค์กรตามลำดับ การดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงระดับพื้นฐาน มุ่งเน้นที่การสร้างกิจการเพื่อให้อยู่รอดในธุรกิจและการพัฒนาศักยภาพเพื่อการเจริญเติบโตของกิจการ เป็นบันไดขั้นที่หนึ่ง ในขณะที่การดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงระดับก้าวหน้า จะให้ความสำคัญกับการแบ่งปันหรือการใช้ทรัพยากรร่วมกันหรือการรวมกลุ่มในแนวดิ่งตามสายอุปทาน (Supply Chain) เป็นบันไดขั้นที่สอง จนพัฒนามาสู่ความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในแนวราบ ในลักษณะของเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster) เพื่อสร้างให้เกิดความยั่งยืนของกิจการ เป็นบันไดขั้นที่สาม

การประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสามขั้นข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาที่เริ่มต้นจากหลักของการพึ่งพาตนเองให้ได้ก่อน (Self-Reliance) แล้วจึงพัฒนาเป็นการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน (Cooperation) จนนำไปสู่การร่วมมือกัน (Collaboration) อย่างเป็นขั้นตอน

ความรู้และคุณธรรมในธุรกิจ
นอกเหนือจากคุณลักษณะสามประการ อันได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี การดำเนินธุรกิจตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังต้องถึงพร้อมด้วย ความรู้ที่เหมาะสมในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน ซึ่งประกอบด้วย ความรอบรู้ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีสติ หรือความระลึกรู้ ซึ่งเป็นเครื่องกำกับพฤติกรรมทางธุรกิจ การตลาด การสื่อสารประชาสัมพันธ์ หรือการวางแผนในเรื่องต่างๆ ว่าจะเป็นประโยชน์หรือมีผลเสียหายหรือไม่อย่างไรในระยะยาว มีปัญญา หรือความรู้ชัด ที่เกิดขึ้นจากความฉลาดสามารถคิดพิจารณาอย่างถูกต้องแยบคายด้วยเหตุผล ทำให้เห็นและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างกระจ่างชัด เป็นความรู้แจ้งในงานและวิธีที่จะปฏิบัติงานอย่างถูกต้องเที่ยงตรง

การที่จะนำเอาความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์แท้จริงได้นั้น จำต้องมีคุณธรรมเป็นเครื่องกลั่นกรอง อันประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต สำหรับรองรับสนับสนุนวิชาความรู้ เพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรง ความอดทน มีความเพียร ประกอบการงานด้วยความตั้งใจ ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้ง เป็นความเพียรที่มีลักษณะกล้าแข็งไม่ขาดสาย มีความหนักแน่นอดทน ไม่ท้อถอย ทำให้การดำเนินงานรุดหน้าเรื่อยไป และความรอบคอบระมัดระวัง ที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้กระจ่างแจ้งในทุกแง่ทุกมุม ก่อนที่จะจัดการให้ถูกจุด ถูกขั้นตอน ถูกเหตุผล และสามารถนำความรู้ต่างๆ มาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อนำไปสู่จุดหมายสามประการด้วยกัน คือ ความสมดุล การพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และการก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

เมื่อนำความสัมพันธ์ของคุณลักษณะ เงื่อนไข และจุดหมายในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาแสดงในเชิงเหตุและผล (Cause and Effect) จะปรากฏเป็นผังความสัมพันธ์แห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้

การแสดงผังความสัมพันธ์ในรูปแบบข้างต้น จะมีความคล้ายคลึงกับการแสดงความเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์ในองค์กรธุรกิจที่นำเสนอในรูปแบบของแผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Map) ทำให้เกิดแนวคิดที่จะประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านทางเครื่องมือทางการจัดการสมัยใหม่ ด้วยเหตุผลที่ภาคธุรกิจเอกชนในปัจจุบัน มีความคุ้นเคยกับแผนที่ยุทธศาสตร์ในเครื่องมือ Balanced Scorecard สำหรับใช้บริหารจัดการและการประเมินผลองค์กรอยู่แล้ว สามารถที่จะทำความเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเป็นระบบ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้ง่ายขึ้น จากการแปลงปรัชญาไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

การอธิบายถึงคุณลักษณะและเงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมดข้างต้น โดยการแยกแยะให้เห็นถึงคุณลักษณะและเงื่อนไขเป็นส่วนๆ ก็เพื่อให้เห็นความลึกซึ้งของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการวิเคราะห์แบบแยกส่วนเพื่อทำความเข้าใจในทางวิชาการ แต่การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัตินั้น ต้องคำนึงถึงความเกี่ยวข้องของแต่ละคุณลักษณะและเงื่อนไขต่างๆ ในแบบองค์รวม ทั้งคุณลักษณะด้านความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ควบคู่ไปกับเงื่อนไขด้านความรู้ และคุณธรรม มิอาจใช้วิธีแยกส่วนสำหรับการปฏิบัติได้ เป็นแต่เพียงว่าองค์กรธุรกิจหนึ่งๆ อาจมีความพร้อมหรือการให้น้ำหนักความเข้มข้นของคุณลักษณะและเงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนการให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันกับอีกองค์กรหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้นั้น มีระดับหรือขั้นของการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป

ความพอเพียงตามนัยของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละองค์กร จึงไม่จำเป็นต้องมีขีดระดับที่เท่ากัน มีรูปแบบเดียวกัน หรือนำไปสู่การเปรียบเทียบระดับความพอเพียงของแต่ละองค์กร ซึ่งในความเป็นจริงก็ทำไม่ได้ด้วยเหตุที่ความพร้อมหรือการให้น้ำหนักความเข้มข้นของคุณลักษณะและเงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนการให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

Sufficiency Strategy Map

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของความพยายามที่จะนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ คือ ความยากลำบากในการแปลงปรัชญาที่เป็นนามธรรม ให้ได้มาซึ่งวิธีการอย่างเป็นขั้นตอน และเครื่องมือสนับสนุนการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรม โดยมีตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งรูปแบบกิจกรรมที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ มีความเหมาะสมกับองค์กรธุรกิจที่คุ้นเคยกับการบริหารจัดการโดยมีผลลัพธ์ที่วัดได้ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการดำเนินงานและการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ด้วยคุณลักษณะสามประการ อันได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี พร้อมด้วยเงื่อนไขของความรู้ ที่ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ การใช้สติและปัญญาในการดำเนินชีวิต ควบคู่กับเงื่อนไขด้านคุณธรรม อันประกอบด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน มีความเพียร ความรอบคอบระมัดระวังที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน โดยนำไปสู่จุดหมายสามประการ คือ ความสมดุล การพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และการก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

คุณลักษณะ เงื่อนไข และจุดหมายในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อนำความสัมพันธ์ของคุณลักษณะ เงื่อนไข และจุดหมายในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงข้างต้น มาแสดงในเชิงเหตุและผล จะปรากฏเป็นผังความสัมพันธ์แห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้

ผังความสัมพันธ์แห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
จากผังความสัมพันธ์แห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะพบว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างคุณลักษณะและเงื่อนไขต่างๆ อย่างใกล้ชิด เช่น ความรอบรู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตกำกับจะเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความพอประมาณ ไม่โลภ ไม่เอารัดเอาเปรียบ การมีสติไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ด้วยความอุตสาหะพากเพียรจะเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หรือการใช้ปัญญาด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ปราศจากอคติ จะเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความมีเหตุมีผล

ผังความสัมพันธ์แห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า การนำความรู้ ซึ่งเปรียบเหมือนเครื่องยนต์ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคุณธรรม ซึ่งเปรียบเหมือนพวงมาลัย เป็นเครื่องกลั่นกรองหรือคอยกำกับทิศทางอยู่ตลอดเวลา

ด้วยเหตุนี้ การใช้ความรอบรู้โดยขาดความซื่อสัตย์สุจริต หรือการใช้สติโดยขาดความอดทน ความพากเพียร หรือการใช้ปัญญาโดยขาดความรอบคอบระมัดระวัง จึงไม่สามารถเข้าถึงคุณลักษณะด้านความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีได้ (จะข้ามเงื่อนไขคุณธรรมไปไม่ได้) และเป็นการดำเนินที่ผิดวิธีการไปจากทางสายกลาง ที่ก่อให้เกิดผลเสียหายทั้งแก่บุคคลนั้นๆ ตลอดจนส่วนรวมก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

ผังความสัมพันธ์นี้ อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แผนที่ยุทธศาสตร์ความพอเพียง” (Sufficiency Strategy Map) ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการแสดงความเชื่อมโยงของกลยุทธ์องค์กรที่นำเสนอในรูปแบบของแผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Map) ภายใต้เครื่องมือ Balanced Scorecard ทำให้องค์กรธุรกิจที่มีความคุ้นเคยกับการใช้แผนที่ยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการและการประเมินผลองค์กร สามารถทำความเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเป็นระบบ และสามารถแปลงปรัชญาไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

Sufficiency Alignment Map

การดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละองค์กรจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายและทิศทางที่ผู้บริหารเป็นผู้กำหนดขึ้น และขึ้นอยู่กับช่วงอายุของกิจการ โดยธรรมชาติของกิจการเกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่ต้องการดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ร่วมกัน ต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทำให้สามารถจำแนกระดับความพอเพียงขององค์กรออกเป็น 2 ระดับ คือ เศรษฐกิจพอเพียงระดับพื้นฐาน ที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร (Internal Stakeholder) เป็นหลัก และเศรษฐกิจพอเพียงระดับก้าวหน้า ที่ครอบคลุมไปถึงผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กร (External Stakeholder) การจัดวางองค์กรหรือการปรับแนว (Alignment) การดำเนินงานขององค์กร จึงมีส่วนสัมพันธ์กับการให้น้ำหนักความสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในระดับต่างๆ


แผนภาพที่ 1 ผังการปรับวางระดับความพอเพียง (Sufficiency Alignment Map) ขององค์กร
กิจการที่เข้าข่ายการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงระดับพื้นฐาน จะให้ความสำคัญเฉพาะประโยชน์ที่ผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรจะได้รับ โดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กรมากนัก เน้นถึงการดำรงอยู่ของกิจการหรือความอยู่รอดในธุรกิจ พัฒนาองค์กรให้มีความเข้มแข็ง เป็นอิสระ (Independent) ดำเนินกิจการโดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์กรเองได้ มีรายรับที่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ ปราศจากภาระหนี้สิน หรือมีความสามารถในการชำระหนี้ในระยะเวลาที่กำหนดหรือเมื่อเจ้าหนี้ทวงถามโดยชอบ ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance)


แผนภาพที่ 2 ผังการปรับวางระดับความพอเพียงขององค์กรที่เน้นเศรษฐกิจพอเพียงระดับพื้นฐาน
กิจการที่เข้าข่ายการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงระดับก้าวหน้า จะให้ความสนใจกับผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กรมากขึ้น เน้นถึงการรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆ การแบ่งปันหรือการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างคู่ค้าที่อยู่ต้นน้ำ (Upstream) เพื่อการสร้างประสิทธิภาพและการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในสายอุปทาน และคู่ค้าที่อยู่ปลายน้ำ (Downstream) เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในสายอุปสงค์ ภายใต้รูปแบบของการพึ่งพิงอิงกัน (Inter-dependent) สงเคราะห์เกื้อกูลชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมรอบข้าง มีจริยธรรม มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) และมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม


แผนภาพที่ 3 ผังการปรับวางระดับความพอเพียงขององค์กรที่ครอบคลุมเศรษฐกิจพอเพียงระดับก้าวหน้า
ผังการปรับวางระดับความพอเพียงสามารถนำไปใช้ได้กับองค์กรธุรกิจในทุกสาขาและในทุกระดับทั้งที่เป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เนื่องจากมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ตามค่าน้ำหนักของการให้ความสำคัญโดยคำนึงถึงความพร้อมในแต่ละองค์กร และรองรับการปรับขนาดได้ (Scalability) ตามช่วงเวลาที่เหมาะสมของแต่ละกิจการ