วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

“สยามประเทศ”เคยผลิตเครื่องบินรบใช้เอง กว่า ๒๐๐ ลำเพื่อใช้ในการ รบกับฝรั่งเศส – ปราชญ์ สามสี

“สยามประเทศ”เคยผลิตเครื่องบินรบใช้เอง กว่า ๒๐๐ ลำ จนเป็นชาติที่มีเครื่องบินรบมากที่สุด(ประเทศหนึ่ง)ในเอเชีย เพื่อใช้ในการ รบกับฝรั่งเศส

ประวัติศาสตร์การบินของไทยเริ่มตั้งแต่ปี ๒๔๕๒ (ร.ศ. ๑๒๘) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ภายหลังเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ เมื่อ นายแวน เดอบอร์น ชาวเบลเยี่ยม ได้นำเครื่องบินปีก ๒ ชั้นแบบเออร์วิลไรท์ มาบินโชว์ที่สนามม้าปทุมวัน ซึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และ สมเด็จเจ้าฟ้าจักพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ทรงสนพระทัย ทดลองขึ้นบินทั้งสองพระองค์


๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นวันแรกในประวัติศาสตร์การบินของประเทศไทยที่มีเครื่องบิน ที่ทำการสร้างขึ้นเองทำการบินเป็นครั้งแรกในวันนี้โดยเครื่องบินดังกล่าวถูกออกแบบและสร้างขึ้นตามแบบเครื่องบินเบรเกต์ ปีกสองชั้นรุ่นแรก ใช้ไม้ภายในประเทศมาสร้างโครงสร้างและใบพัด ซึ่งมีพันโท พระเฉลิมอากาศ ผู้บังคับการกองบินทหารบก เป็นผู้ทำการบินทดสอบด้วยตนเองเป็นผลสำเร็จสมดังปณิธานของ พระเฉลิมอากาศที่ว่า “เราต้องสร้างเครื่องบินของเราขึ้นใช้เองให้ได้”

———-

๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๑ จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ได้มีประกาศชมเชย นายพันโทหลวงอาวุธสิขิกร ผู้อำนวยการโรงงานในกองบินทหารบก และเจ้าหน้าที่โรงงานในกองบินทหารบกที่ได้ทำใบพัดเครื่องบินได้เอง โดยใช้ไม้ซึ่งเป็นไม้พื้นเมืองในประเทศ ความว่า
“ด้วยโรงงานในกองบินทหารบก ได้กระทำใบพัดสำหรับเครื่องบินขึ้น ได้ทดลองประกอบกับเครื่องบินและขึ้นบินจริงแล้ว ใช้ได้ดีทีเดียว นับว่าเราสามารถทำใบพัดได้เอง ใช้ของในพื้นเมืองทั้งสิ้น ทำให้เป็นทางประหยัดพระราชทรัพย์ได้อย่างดีอีกส่วนหนึ่ง
ที่โรงงานในกองบินทหารบกได้กระทำการเป็นผลสำเร็จดีเช่นนี้ ก็ด้วยอาศัยความมานะอุตสาหะพยายามของ นายพันโท หลวงอาวุธสิขิกร ผู้อำนวยการโรงงานนั้น เพราะฉะนั้นขอประกาศแสดงความชมเชยเป็นพิเศษ”

๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔ กองโรงงานอากาศยานได้สร้างเครื่องบินฝึกแบบ นิเออปอรต์ แบบ ๘๑ ขนาด ๒๓ ตรม. ขึ้นจำนวน ๓ เครื่อง เพื่อใช้ในการฝึกศิษย์การบิน

—————–

ต่อมาในปี ๒๔๗๐ นายพันโท หลวงเวชยันตร์รังสฤษฎ์ (มุนี มหาสันทนะ) ซึ่งเป็นผู้บังคับฝูงของโรงงาน กรมอากาศยาน ได้ออกแบบเครื่องบินเองแบบหนึ่ง แล้วสร้างขึ้น ใช้เครื่องจูปิเตอร์ ๔๕๐ แรงม้า ความเร็ว ๑๕๗ ไมล์ต่อชั่วโมง ได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ ๗ ว่า “บริพัตร” ตามพระนาม สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งนับเป็นเครื่องบินลำแรกที่ออกแบบโดยคนไทย และได้บินไปโชว์ตัวถึงเมืองเดลฮีในปี ๒๔๗๒ ตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย และบินไปไซ่ง่อนในปี ๒๔๗๓ ตามคำเชิญของรัฐบาลอินโดจีน ซึ่งตอนนี้ “บริพัตร” เครื่องนี้ก็ยังอยู่ในสภาพดีที่พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศเช่นกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๒ กรมอากาศยาน ส่งเครื่องบินแบบ บริพัตร รุ่นเครื่องยนต์ จูปิเตอร์ ๒ เครื่อง (หมายเลข ๒ และ ๓) และ รุ่นเครื่องยนต์ บีเอ็มดับบลิว ๑ เครื่อง (หมายเลข ๑) เดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับอินเดีย ในนามรัฐบาลไทย ตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย ในเส้นทาง ดอนเมือง – ย่างกุ้ง – อัคยับ – กัลกัตตา – อัลละฮาบัค – เดลี

เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ กรมอากาศยาน ส่งเครื่องบินแบบบริพัตร จำนวน ๓ เครื่อง ไปเยือนรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส ณ เมืองฮานอย เป็นครั้งที่สอง เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี ให้ทันวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๗๓ ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของฝรั่ง โดยใช้เส้นทางเดิมกับครั้งแรก คือ ดอนเมือง – นครราชสีมา – ร้อยเอ็ด – นครพนม – วินท์ – ฮานอย

—————

ในปี ๒๔๘๓ (ร.ศ. ๑๕๙) ไทยเกิดความขัดแย้งกับฝรั่งเศสในปัญหาดินแดนในอินโดจีน จนถึงทำสงครามกัน ไทยได้ส่งคอร์แซร์และฮอล์ค ๓ ที่สร้างเองนี้เข้าสู่สมรภูมิ ซึ่งนับเป็นการทำสงครามทางอากาศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ตอนนั้นถือกันว่าฝรั่งเศสเป็นจ้าวเวหาของยุโรป มีความเชี่ยวชาญในการรบทางอากาศมาก ทั้งสมรรถภาพเครื่องบินก็เหนือกว่าไทย ฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินขับไล่แบบโมรันและเครื่องบินทิ้งระเบิดฟาร์มัง ซึ่งเป็นทันสมัยทั้งคู่มาประจำในอินโดจีน แต่นักบินไทยก็สู้ด้วยหัวใจของนักรบ ที่ต้องปกป้องอธิปไตยและศักดิ์ศรีของชาติ จนได้สร้างวีรกรรมให้จดจำกันมากมายในสงครามครั้งนี้

หนึ่งในจำนวนนี้ที่คนไทยยุคนั้นรู้จักกันดี ก็คือ “ศานิต นวลมณี” ซึ่งเข้าสงครามครั้งนี้ในยศ เรืออากาศตรี และได้สร้างวีรกรรมประทับใจไว้หลายครั้ง จนได้เลื่อนยศเป็น เรืออากาศโท เรืออากาศเอก และนาวาอากาศตรี ภายในปีเดียว แต่แล้วในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๓ได้รับคำสั่งให้ไปโจมตีสนามบิน เวียงจันทน์ ถูกปืนกลจากพื้นดินยิงต่อต้านอย่างหนัก แต่ น.ต.ศานิต นวลมณี ก็ฝ่าห่ากระสุนเข้าไปโจมตีเป้าหมายจนสำเร็จ แม้จะถูกยิงถังน้ำมันทะลุไฟไหม้ ถูกไฟลวก และถูกกระสุนที่เข่า ก็ประคองเครื่องกลับเข้าเขตไทยได้ และกระโดดร่มชูชีพออกจากเครื่อง แต่ได้รับบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคมในขณะอายุเพิ่ง ๒๓ ปี

วีรกรรม น.ต.ศานิตในครั้งนั้นเป็นที่กล่าวขานและปลุกใจให้คนไทยรักชาติมาก

ในวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๔ ไทยได้ส่งฝูงบินคอร์แซร์และฮอล์ค ๓ รวม ๑๔ เครื่อง พร้อมลูกระเบิดเต็มท้อง เข้าไปถล่มฐานทัพของฝรั่งเศสที่ศรีโสภณเป็นการตอบโต้ฝรั่งเศสส่งฟาร์มังมามาบอมบ์อรัญประเทศ ฝรั่งเศสเตรียม ป.ต.อ.ไว้ต้อนรับเต็มที่ แต่เสืออากาศไทยก็หย่อนระเบิดใส่ ป.ต.อ.ฝรั่งเศสจนเงียบเสียง แล้วทำลายคลังอาวุธยับเยิน กลับมาได้ครบทั้ง ๑๔ ลำ

ฉากการรบครั้งนี้จะสนุกแค่ไหน ร.ต.ประเสริฐ สุดบรรทัด ซึ่งต่อมาเป็น ส.ส.จังหวัดสระบุรี ผู้เข้าสมรภูมิภาคพื้นดินและเห็นเหตุการณ์ด้านหนึ่ง ได้บันทึกไว้ว่า

“…ในตอนเย็น เสืออากาศไทยพาเครื่องบิน ๓ เครื่องพุ่งตรงไปศรีโสภณ พร้อมกับโปรยไข่เหล็กกระหน่ำเป้าหมายอย่างไม่หวั่นไหวในเสียงปืนต่อสู้ที่ยิงสนั่นฟ้า เครื่องบินของนักล่าเมืองขึ้นโผขึ้นเพื่อสกัดกั้น ๕ เครื่อง ๓ ต่อ ๕ พ่นกระสุนใส่กันอย่างใครดีใครอยู่ แต่ความกล้าที่เหนือกว่ากันแม้กำลังจะด้อยกว่า เครื่องหนึ่งของเราก็จิกหัวยิงในระยะต่ำเพียง ๕๐ เมตร ปล่อยระเบิดลงไปด้วย ๓ ลูก ตรงนั้นต้องเป็นคลังกระสุนของสัตรู เสียงระเบิดดังก้อง แผ่นดินสะเทือน กลุ่มควัน ป.ต.อ. ของฝรั่งเศสที่ระดมยิงนั้นรายล้อมเป็นวงๆ ราวกับถูกล้อมด้วยรัศมีระเบิด เครื่องบินของเราม้วนลงมาเหมือนนกปีกหัก เราสลดใจไปตามกันที่เห็นจุดจบของเสืออากาศ แต่ก็ยังเหลืออีก ๒ ที่ยังสู้อย่าทระนงองอาจสมชายชาตินักรบ

เครื่องบินที่เราคิดว่าต้องตกมาแหลกนั้น เมื่อร่วงลงมาจะถึงยอดไม้ กลับเบนหัวตั้งหลักได้อย่างประหลาด ยิ่งกว่านั้นยังเร่งเครื่องกระหึ่มอย่างแรง เชิดหัวโยนบอมบ์เข้าไปที่จุดหนึ่งจุดใดที่เสืออากาศของเราได้เห็นแล้ว ตูมเดียวควันดำก็คลุ้มเป็นกลุ่มขึ้นไปในอากาศ เครื่องบินที่คิดว่าจะตกของเรากลับมีลูกเล่นอย่างไม่มีใครคาดฝันสักคนเดียว เสียงร้องไชโยราวกับนัดกันไว้”

๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ และกรณีพิพาทจึงได้ยุติลงด้วยชัยชนะ ของประเทศไทยที่มีต่อชาติมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศส จนเกิดการการประนีประนอมของทั้งสองฝ่ายเพื่อสงบศึก
หลังสิ้นสุดกรณีพิพาท โดยมีญี่ปุ่นเป็นตัวกลางในการเจรจา ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ผลทำให้ไทยได้ดินแดนพิพาทมาอยู่ในปกครอง และจัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่ขึ้น 4 จังหวัด คือ จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ จังหวัดลานช้าง จังหวัดพิบูลสงครามและจังหวัดพระตะบอง รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๒๔,๐๓๙ตารางกิโลเมตร ซึ่งจังหวัดดังกล่าวนี้ ไทยได้ปกครองเรื่อยมาจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี ๒๔๘๘
—————————————————————-
ข้อมูลอ้างอิง บางส่วน จาก

“โรม บุนนาค” ,ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ!ไทยสร้างเครื่องบินรบเอง ๒๐๐ ลำ ทำสงครามเวหาครั้งแรกในประวัติศาสตร์!!, เขียนเมื่อ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๘

และ “พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์” ,๑๐๐ ปี กับผลงานการออกแบบและสร้างเครื่องบินของกองทัพอากาศ, เขียนเมื่อ ปี ๒๕๕๘