วันอาทิตย์ 8 กันยายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

24มิ.ย. ย้อนรอยคำสาปแช่ง ถึงคณะราษฎรผู้อกตัญญู “รอดจากอาญาแผ่นดิน ไม่ถูกตัดหัว แต่จะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่าตาย แกจำไว้”

 

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นเจ้านายพระองค์สำคัญที่ทางคณะราษฎร ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องควบคุมองค์ไว้เป็นองค์ประกันสำคัญสูงสุด เนื่องด้วยทรงเป็นผู้รักษาพระนคร อีกทั้งยังทรงควบคุมหน่วยงานความมั่นคงต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งทหาร และตำรวจ

เมื่อถึงเวลาประมาณ 04.00 น. ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ได้ดำเนินการตามแผนการในส่วนของตนเรียบร้อยแล้ว และได้รับมอบหมายให้พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) เป็นผู้นำในการบุกวังบางขุนพรหม เพื่อควบคุมพระองค์ ซึ่งทรงกำลังจะหนีทางท่าน้ำหลังวัง พร้อมกับครอบครัวและข้าราชบริพาร แต่ทว่ามีเรือตอร์ปิโดหาญทะเลของทางทหารเรือฝ่ายคณะราษฎรที่ควบคุมโดย เรือโท จิบ ศิริไพบูลย์ คอยดักอยู่ จึงยังทรงลังเล จนในที่สุดพระองค์จึงทรงยินยอมให้ทางคณะราษฎรควบคุมองค์ และเสด็จไปประทับยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมกับเจ้านายพระองค์อื่น ๆ และบุคคลสำคัญต่าง ๆ ซึ่งก่อนเสด็จมา ได้ทรงต่อรองขอเปลี่ยนเครื่องทรงจากชุดกุยเฮง ซึ่งเป็นชุดบรรทม ก็ได้รับการปฏิเสธ

ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงไม่กี่วันนั้น พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) อธิบดีกรมตำรวจได้ถวายรายงานต่อพระองค์ถึงรายชื่อของบุคคลต่าง ๆ ในคณะราษฎรว่ามีท่าทีจะกระทำการกระด้างกระเดื่องประการใดประการหนึ่งต่อบ้านเมือง แต่พระองค์ไม่ทรงเชื่อ ด้วยทรงเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ไม่น่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะกระทำการใด ๆ ได้ เนื่องจากทรงคุ้นเคยกับบุคคลเหล่านี้ดี ซ้ำบางคนยังทรงชุบเลี้ยงและรู้จักมาตั้งแต่ยังเด็กด้วยซ้ำ และคนผู้นั้นคือ พลโท ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ฝ่ายพลเรือน

แล้วบทสนทนาระหว่างกรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ได้เริ่มขึ้น… (เล่าโดย : พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี)

“เวลา 08.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. หลวงพิบูลสงครามและคณะ ได้นำจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์…มาในรถถัง ส่งให้ที่หน้าประตูพระที่นั่งอนันตสมาคม

ข้าพเจ้าถวายคำนับ เชิญเสด็จฯ ทรงจ้องข้าพเจ้าด้วยพระเนตรดุเดือด

ตรัสว่า “ตาประยูร แกเอากับเขาจริง ๆ พระยาอธิกรณ์ประกาศ บอกฉันไม่เชื่อ ฉันตั้งชื่อทำขวัญให้แกเมื่อเกิด ฉันเลี้ยงแกมาตั้งแต่เด็ก โกรธฉันที่ไม่ไปเผาศพพ่อแกใช่ไหม”

ข้าพเจ้าเร่งให้เสด็จลงจากรถถัง ทรงสำทับถาม “จะเอาฉันไปไหน อย่าเล่นสกปรกนะ” เมื่อเข้าไปประทับในที่ประทับด้านหน้า ข้าพเจ้าสำนึก วางปืนก้มกราบขอพระราชทานอภัย

ทรงรับสั่งถาม “ใครเป็นหัวหน้า พระองค์บวรเดชใช่ไหม?”

“ยังกราบทูลไม่ได้พ่ะย่ะค่ะ” ทรงกริ้ว รับสั่งหนักแน่นว่า “ตาประยูร แกเป็นกบถ โทษถึงต้องประหารชีวิต”

ทรงรับสั่งถามต่อไป “พวกแกที่ยึดอำนาจนี้ ต้องการอะไร มีความประสงค์อะไร ต้องการปาลีเมนต์(รัฐสภา) มีคอนสติติวชั่น(รัฐธรรมนูญ) ใช่ไหม”

ข้าพเจ้ากราบทูลว่า “ใช่” ทรงนิ่งชั่วครู่ แล้วรับสั่งถามว่า “แล้วมันจะดีกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้หรือ ตาประยูร”

“อารยประเทศทั่วโลกก็มีปาลีเมนต์กันทั่วไป ยกเว้นอาบิสซีเนีย” ข้าพเจ้ากราบทูล

ทรงถามว่าข้าพเจ้าอายุเท่าไร เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลว่า 32 ก็รับสั่งว่า “เด็กเมื่อวานซืนนี้เอง นี่แกรู้จักคนไทยดีแล้วหรือ แกจะต้องเจอปัญหาเรื่องคน พระราชวงศ์จักรีครองเมืองมา 150 ปีแล้ว รู้ดีว่าคนไทยนี่ปกครองกันได้อย่างไร อ้ายคณะของแกจะเข็นครกขึ้นเขาไหวรึ”

ทรงถามถึงการศึกษา เมื่อกราบทูลว่าเรียนรัฐศาสตร์จากปารีส ทรงสำทับ “อ้อ มีความรู้มาก แกรู้จักโรเบสเปียมารา และกันตอง เพื่อนน้ำสบถฝรั่งเศสดีแน่ ในที่สุดมันผลัดกันเอากิโยตีน เฉือนคอกันทีละคน จำได้ไหม ฉันสงสาร ฉันเลี้ยงแกมา นี่แกเป็นกบถ รอดจากอาญาแผ่นดิน ไม่ถูกตัดหัว แต่จะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่าตาย แกจำไว้”

ข้าพเจ้ากราบทูลว่า “ตามประวัติศาสตร์ มันจะต้องเป็นเช่นนั้น”

ไม่น่าเชื่อว่า คำกล่าวของกรมพระนครสวรรค์วรพินิต จะเป็นไปตามนั้น เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เกิดการแย่งชิงตำแหน่งกันมาตลอด  เริ่มจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนแรกของประเทศไทยได้ไม่นาน ก็จำต้องยื่นใบลาออก แต่เป็นการลาออกไปโดยการนำกำลังรถยนต์หุ้มเกราะเข้าล้อมทำเนียบพระยามโนฯ ที่วังปารุสด้วย และแล้วพระยามโนฯ ได้ลงนามในหนังสือกราบถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยมืออันสั่นเทา ก่อนที่ท่านจะเดินทางไปสู่ปีนังอันเป็นดินแดนผืนสุดท้ายที่ได้ลี้ภัยไปอยู่ที่นั่นจนตลอดชนม์ชีพของท่านเมื่ออายุได้ 64 ปีเศษ…”

ต่อมาคือ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร์ และนายกรัฐมนตรีคนที่ 2  รัฐบาลของเจ้าคุณพหลฯ ก็ประสบวิกฤตการณ์ในระบอบประชาธิปไตยอีกสองหรือสามครั้ง จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง และมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่หลวงพิบูลสงครามรับช่วงต่อ ระหว่างนั้นท่านก็เจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เนือง และถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก

ส่วนพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) รองหัวหน้าคณะราษฎร์ ถูกคณะปฏิวัติผู้มีเสียงข้างมากในรัฐบาลเห็นว่า ควรจะต้องกำจัดให้ออกไปนอกทาง เพราะมีพฤติการณ์บ่งชัดว่าสนับสนุนรัฐบาลของพระยามโนฯ และเป็นนักปฏิวัติที่เอาใจออกห่างจากพวกปฏิวัติส่วนใหญ่ด้วยกัน พระยาทรงสุรเดชจึงถูกเนรเทศไปยังประเทศอินโดจีน และจบชีวิตที่นั่นในที่สุด

พ.ศ. 2492 ปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎร สายพลเรือน หมายจะยึดอำนาจคืนจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเหตุการณ์ “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 แต่กระทำไม่สำเร็จ (เรียกกันว่า “กบฏวังหลวง ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยและเดินทางไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และพำนักอยู่ที่นั่นตลอดมาจนเสียชีวิต

 

พ.ศ. 2500 เย็น วันที่ 16 กันยายน จอมพลป. พิบูลสงคราม เมื่อถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายทหารรุ่นน้องอีกคน กระทำการรัฐประหาร ซึ่งท่านได้หลบหนีไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวกับผู้ติดตามเพียง 2 คน ไปอย่างหวุดหวิด โดยผ่านไปทางประเทศกัมพูชา ก่อนจะลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งท่านก็ได้พำนักอยู่ที่นั่นจนตราบถึงแก่อสัญกรรม

.

อ้างอิง : เบื้องแรกประชาธิปไตย : พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี , ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ