วันเสาร์ 27 กรกฎาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

เมื่อพระยากัลยาณไมตรี พูดถึงประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้นในสยาม

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระองค์ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้ในประเทศตามแบบของประเทศศิวิไลซ์ที่ใช้กัน ซึ่งพระยากัลยาณไมตรี ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ (Dr. Francis Bowes Sayre) ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็มีส่วนช่วยในการร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยรัฐธรรมนูญที่พระยากัลยาณไมตรี ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ร่างนั้นมีเพียง ๑๒ มาตรา เรียกว่าเป็น “Outline of Preliminary Draft” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗

ก่อนหน้าที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้มี พระราชหัตถเลขาในหัวข้อ “Problem of Siam” ทรงถามความถึงพระยากัลยาณไมตรี ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ๙ ข้อ โดยทรงบันทึกเป็นภาษาอังกฤษใน ๙ ข้อนี้ คำถาม ๔ ข้อว่าด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตยอยู่หลายข้อโดยเฉพาะในข้อ ๓ ทรงตั้งคำถามว่า

“สักวันหนึ่งประเทศนี้จะต้องมีระบบการปกครองในระบบรัฐสภาหรือไม่ และระบอบการปกครองในระบบรัฐสภาแบบแองโกล – แซ็กสัน นั้นเหมาะสมกับชาวตะวันออกหรือ”

คำถามข้อ ๔ มีว่า
“ประเทศนี้พร้อมหรือยังที่จะมีการปกครองระบบผู้แทนราษฎรในรูปใดรูปหนึ่ง?”

คำถามข้อ ๖ มีว่า “เราควรมีนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ? ควรเริ่มใช้ระบบนี้ในตอนนี้เลยหรือไม่ ?”

คำถามข้อ ๗ มีว่า “เราควรมีสภานิติบัญญัติหรือไม่ ? องค์ประกอบสภาเช่นนี้ควรจะเป็นเช่นใด”

พระยากัลยาณไมตรี ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ (Dr. Francis Bowes Sayre) ก็ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมตอบกลับมาในหัวข้อ “Sayrt’s Memorandum’” ตอบเป็นภาษาอังกฤษโดยแยกกลุ่มการตอบเป็น ๓ กลุ่ม โดยการตอบกลุ่มที่ ๒ เป็นเรื่องการปกครอง โดยพระยากัลยาณไมตรี ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ (Dr. Francis Bowes Sayre) เริ่มอารัมภบทแสดงความไม่เห็นด้วยกับการมีสภาผู้แทนราษฎรว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วยว่าควรจะพิจารณาจัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรในสยามในขณะนี้ การจะมีรัฐสภาที่ใช้งานได้จะต้องอาศัยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าใจระบอบการปกครองแบบนี้ดี หากไม่มีประชาชนที่มีสติปัญญามากำกับควบคุม รัฐสภามีแต่จะเสื่อมถอยไปเป็นองค์การที่เลวร้ายและเผด็จการ ตราบใดที่ปวงประชาชาวสยามทั้งหลายยังไม่ได้รับการศึกษาสูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การพยายามตั้งองค์กรเชิงรัฐสภาที่ประชาชนเลือกตั้งมามีแต่จะนำอันตรายใหญ่หลวงมาให้

ดังนั้น จึงดูไม่มีทางเลือกนอกจากการคงไว้ซึ่งระบอบการปกครองที่อำนาจเด็ดขาดยังคงอยู่กับพระมหากษัตริย์ อย่างน้อยที่สุดในช่วงปัจจุบันนี้”

ความเห็นดังกล่าว ยังได้รับการยืนยันเมื่อพระยากัลยาณไมตรี ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ (Dr. Francis Bowes Sayre) เขียนบทความลงในหนังสือ “Atlantic Monthly” หลังจากที่ถวายความเห็น โดยวิจารณ์ความตั้งพระทัยของพระมหากษัตริย์สยาม ให้เป็นระบบรัฐสภาว่า

“รัฐสภาใดที่ไม่ถูกควบคุมโดยมวลผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีสติปัญญาและความใส่ใจ อาจเป็นกลไกของการกดขี่ที่เป็นอันตรายและมีความฉ้อฉลเสียยิ่งกว่ากษัตริย์ผู้ทรงสมบูรณาญาสิทธิ์”

ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ (Dr. Francis Bowes Sayre) ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖